posttoday

เทวดาผู้รักษาชาติ

03 สิงหาคม 2562

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

ความรักชาติรักสถาบันคืออะไร

วันหนึ่งในปี พ.ศ. 2525ในกรุงรัตนโกสินทร์มีอายุได้ 200 ปี ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยเปรยกับคนใกล้ชิดว่า “ราชวงศ์จักรีจะมั่นคงถ้าเข้าใจคนไทยและใกล้ชิดกับคนไทย”

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เคยพูดถึง “ความเป็นชาติ” ว่า เริ่มต้นต้อง “พูดภาษาเดียวกัน” หรือมีวัฒนธรรมประเพณีต่างๆ ร่วมกัน ตามมาด้วยต้องมีหัวหน้าหรือ “ผู้ปกครองคนเดียวกัน” และ “อยู่ในอาณาบริเวณเดียวกันที่ดูแลกันได้ทั่วถึง” สุดท้ายก็คือมี “สิ่งยึดเหนี่ยวอย่างเดียวกัน” เช่น ศาสนา หรืออุดมการณ์บางอย่างในการอยู่ร่วมกัน นั่นคือความหมายของชาติในขณะที่เป็นสังคมเล็กๆ

แต่เมื่อสังคมใหญ่ขึ้น เช่น มีการขยายอาณาเขตการปกครอง หรือมีคนต่างด้าวชาติอื่นๆ เข้ามาอยู่อาศัยร่วมด้วย ภาษาที่พูดอาจจะมีหลายภาษามากขึ้น วัฒนธรรมประเพณีก็มีความหลากหลาย แต่ก็ยังต้องอยู่ภายใต้การปกครองเดียวกัน ด้วยผู้ปกครองคนเดียวกัน และที่จะขาดเสียไม่ได้ก็คือ “สิ่งยึดเหนี่ยวอันเดียวกัน” ที่ในทางวิชาการเรียกว่า “อุดมการณ์แห่งชาติ” ซึ่งของไทยก็คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ นั่นเอง

ในความเห็นของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เห็นว่า “อุดมการณ์แห่งชาติของไทย” มีที่มาจากองค์พระมหากษัตริย์ ในอดีตนั้น “ชะตากรรม” ของราษฎรไทยทุกคนอยู่ภายใต้พระบุญญานุภาพของพระมหากษัตริย์ นับตั้งแต่ความมั่นคงหรือความอยู่รอด ไปจนถึงการทำมาหากินและชีวิตความเป็นอยู่ รวมถึงความรู้สึกนึกคิด อันหมายถึงความจงรักภักดี ที่คนไทยต้อง “ยึดมั่น” ในพระมหากษัตริย์นั้นร่วมกัน

แม้ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 สถานะของพระมหากษัตริย์ได้ถูกกระทบกระเทือนอย่างหนัก ในความพยายามของคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองที่จะลดบทบาทของพระมหากษัตริย์ในทางการเมืองให้หมดไป แต่เมื่อคนไทยได้ “เปรียบเทียบ” จนมองเห็นว่าผู้ปกครองที่มาใหม่ไม่ได้มีอะไรที่ดีกว่า หรือทำอะไรที่ดีกว่าพระมหากษัตริย์ คนไทยก็ “ย้อนรำลึก” ถึงเมื่อครั้งที่ยังมีพระมหากษัตริย์ปกครอง ทำให้ผู้ปกครองเริ่มมีการ “ปรับเปลี่ยน” ท่าทีต่อองค์พระมหากษัตริย์

ทั้งนี้โดยเฉพาะคณะทหารในสมัยจอมพลสฤษด์ ธนะรัชต์ หันมาเชิดชูพระมหากษัตริย์ให้สูงเด่น โดยเรียกการปกครองแบบนี้ว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพรมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข” ทั้งนี้ก็เพื่อให้พระมหากษัตริย์นั้นยังคงความสำคัญในชีวิตของคนไทย และที่สำคัญก็คือความคงอยู่ร่วมกันระหว่างสถาบันกองทัพกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังเช่นที่เคยเป็นมาในอดีต

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้ชื่อว่าเป็น “พวกกษัตริย์นิยม” แต่ถ้าจะอธิบายให้ชัดเจนก็คือ “นิยมในการทรงงานของพระมหากษัตริย์” นั้นมากกว่า เพราะถ้าเป็นพวกกษัตริย์นิยมแท้ๆ แล้ว จะเป็นพวกที่ยึดใน “ขนบ” ต่างๆ เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ คือลัทธิธรรมเนียมต่างๆ ที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ตามความเชื่อของลัทธิ “ฮินดูพราหมณ์” ที่เน้นในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ ความยิ่งใหญ่ และกฤษฎาภินิหารต่างๆ ของพระมหากษัตริย์นั้นมากกว่า แต่กษัตริย์นิยมแบบท่านอาจารย์คึกฤทธิ์นั้นเห็นว่า พระมหากษัตริย์ในสมัยประชาธิปไตยจะต้อง “ทำงานหนัก” โดยจะต้องเข้าใจถึงความรู้สึกนึกคิดของคนไทย และทำงานร่วมกับคนไทยอย่างใกล้ชิด

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์มักจะกล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ว่า เป็น “พระมหากษัตริย์ผู้ทรงงานหนัก” เริ่มต้น พระองค์ท่านต้องต่อสู้กับแรงต้านจากคณะผู้ปกครองหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ที่พยายาม “ข่ม” สถาบันพระมหากษัตริย์ไว้ โดยเฉพาะบรรยากาศที่น่ากลัวภายหลังการสวรรคตของรัชกาลที่8แต่ด้วยการทรงงานที่ใกล้ชิดกับประชาชน โดยการสนับสนุนของกองทัพบก ภายใต้การนำของพลเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จไปในถิ่นทุรกันดารต่างๆ อย่างต่อเนื่อง พร้อมกับพระราชทานโครงการพระราชดำริและพระราโชบายต่างๆ ในการแก้ไขความทุกข์ยากของประชาชน สืบเนื่องมาตลอดรัชกาล

ผลจากการที่ “ทรงงานหนัก” ปรากฏผลแก่สังคมไทยในหลายๆ เรื่อง หนึ่งในจำนวนนั้นก็คือ คนไทยได้ “รู้ซึ้ง” ว่าพระมหากษัตริย์กับคนไทยนั้นคือ “คนชาติเดียวกัน” กระทั่งเกิดความใกล้ชิดถึงขั้นเทิดทูนพระองค์ท่านว่าเป็น “พระบิดา” หรือ “พ่อหลวง” คนไทยรู้สึกว่าพวกเขามีความสำคัญ มีตัวตน เพราะได้รับความเหลียวแลจากเจ้าเหนือหัวนั้นเป็นอย่างดี โดยไม่ได้คิดเอาแต่จะสั่งการควบคุมเหมือนระบบราชการหรือการทำงานของนักการเมือง แต่พระองค์ได้ทรงงาน “ร่วมกับ” ประชาชน ประหนึ่งว่าได้ “ร่วมทุกข์ร่วมสุข” หรือใช้ชิวิตร่วมกันกับคนไทยในผืนแผ่นดินนี้

เมื่อ พ.ศ. 2525นั้น กรุงเทพฯมีอายุได้ 200 ปี ในขณะที่การเมืองไทยเปลี่ยนผ่านมาสู่ระบอบรัฐสภาที่ปกครองโดยรัฐธรรมนูญมาได้ 50 ปี ขณะที่สถานีโทรทัศน์ต่างๆ ได้ถ่ายทอดพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 สลับด้วยพระราชกรณียกิจและพระเกียรติคุณของพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อนๆ ในพระราชวงศ์จักรี ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ที่ชมการถ่ายทอดรายการเหล่านั้นอยู่ ได้กล่าวออกมาในบางช่วงว่า ถ้าไม่มีพระมหากษัตริย์ทุกพระองค์เหล่านี้ ประเทศไทยคงไม่รอดมาถึงทุกวันนี้ ทั้งยังพูดเสริมว่า ๕๐ ปีที่เรามีระบอบรัฐสภามา ผู้ปกครองก็เอาแต่ทะเลาะกัน ยิ่งต้องทำให้พระองค์ท่านต้องทรงงทนหนักยิ่งขึ้นไปอีก แต่เราก็ยังอยู่รอดมาด้วย นี่ก็ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านโดยแท้

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เคยพูดบ่อยๆ ว่า ประเทศไทยนี้มี “เทวดาคุ้มครอง” ซึ่งเทวดานี้ก็คือพระมหากษัตริย์นี่เอง “ไม่ต้องเป็นห่วงหรอก เทวดาท่านมีฤทธิ์เดชที่จะเนรมิตแก้ไขอะไรได้เสมอ” นี่ก็คงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์พอจะคลายกังวลได้ เช่นเดียวกันถ้าคนไทยมีความคิดและรู้สึกเหมือนท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ก็คงจะสบายใจได้บ้าง เพราะอย่างน้อย “เทวดา” ท่านก็จะไม่ทอดทิ้งพวกเรา

เพียงแต่คนไทยต้องถวายความเคารพเทิดทูน “เทวดาของเรา” ให้มั่นคง