ในหลวง พระราชินี เสด็จฯ ทรงเปิด สะพานทศมราชัน ทางพิเศษสายพระราม 3
ในหลวง พระราชินี เสด็จฯ ทรงเปิด สะพานทศมราชัน ทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก
เมื่อเวลา 17.25 น. วันที่ 14 ธันวาคม 2567 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิด “สะพานทศมราชัน” ณ สะพานทศมราชัน ทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร
เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงบริเวณสะพานทศมราชัน นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ผู้บริหาร และข้าราชการ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ จากนั้น เสด็จเข้าพลับพลาพิธี ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย ทรงกราบ ทรงศีล ประธานสงฆ์ถวายศีล จบ เสร็จแล้ว พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสูจิบัตร แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี
ต่อจากนั้น พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม และนายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายบัตร Easy Pass ที่ระลึกแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสร็จแล้ว นายกรัฐมนตรีกราบบังคมทูลรายงานความเป็นมาของการก่อสร้าง “สะพานทศมราชัน” โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง- วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก
จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังแท่นพิธี ทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้ายชื่อ “สะพานทศมราชัน” พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานลั่นฆ้อง ประโคมสังข์ แตร ดุริยางค์ เสร็จแล้ว เสด็จเข้าพลับพลาพิธี ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์ ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ต่อจากนั้น พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายรัชนัย เปรมปราคิน ผู้อำนวยการสำนักผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย กราบบังคมทูลเบิกผู้มีอุปการคุณ เข้ารับพระราชทานของที่ระลึก
เสร็จแล้ว เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรนิทรรศการเกี่ยวกับความเป็นมาของการก่อสร้าง “สะพานทศมราชัน” รูปแบบและแนวคิดในการออกแบบงานสถาปัตยกรรมของสะพานทศมราชัน จากนั้นพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และนายชาตรี ตันศิริ รองผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (วิศวกรรมและบำรุงรักษา) เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายของที่ระลึก แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสร็จแล้ว เสด็จพระราชดำเนินไปยังห้องรับรอง ทรงลงพระปรมาภิไธย และพระนามาภิไธย ในสมุดที่ระลึก สมควรแก่เวลา จึงประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับ
“สะพานทศมราชัน” เป็นส่วนหนึ่งของโครงการทางพิเศษสายพระราม 3- ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก เป็นสะพานคู่ขนานแม่น้ำเจ้าพระยาคู่ (Cable Stayed Bridge) แบบไม่มีเสาอยู่ในลำน้ำเจ้าพระยา ขนาด 8 ช่องจราจร ความยาวสะพาน 781.2 เมตร ซึ่งกระทรวงคมนาคม โดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ได้มีแนวคิดในการออกแบบสถาปัตยกรรมสะพานแห่งนี้ เพื่อเฉลิมพระเกียรติและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยองค์ประกอบต่างๆ ของสะพานจะสื่อถึงพระองค์ท่าน ดังนี้ ส่วนยอดของเสาสะพาน หมายถึง ฝ่าพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แสดงถึงความโอบอุ้มปกป้อง ให้ความรักและความห่วงใยต่อพสกนิกร และพสกนิกรต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ เป็นล้นพ้น และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เหนือเกล้า สายเคเบิล เป็นสีเหลือง เพื่อสื่อถึงวันพระบรมราชสมภพ คือ วันจันทร์ รูปปั้นพญานาคสีเหลืองทอง อยู่บนโคนเสาสะพานทั้ง 4 ต้น ซึ่งเป็นราศีประจำปีมะโรง ปีพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อถวายอารักขาแด่พระองค์ รั้วสะพานกันกระโดด ออกแบบให้เป็นลายดอกรวงผึ้ง ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำพระองค์
สำหรับโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ระยะทาง 18.7 กิโลเมตร ก่อสร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางจากภาคใต้สู่กรุงเทพมหานคร และช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัดบนทางพิเศษช่วงบางโคล่-คาวคะนอง และถนนพระรามที่ 2 ช่วงดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร
ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่อสะพานนี้ว่า “สะพานทศมราชัน” หมายถึง พระมหากษัตริย์ลำดับที่ 10 และพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญตราสัญลักษณ์ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ไปประดิษฐานบนสะพานแห่งนี้ด้วย