posttoday

อินเดียวันนี้ (4)

16 ตุลาคม 2562

น.พ.วิชัย โชควิวัฒน

โดย...วิชัย โชควิวัฒน

******************************

การไม่สามารถลงจอดได้อย่างปลอดภัยของยานวิกรมเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง เพราะงานสำรวจอวกาศเป็นงานยาก เป็นการแสวงหาความรู้ ณ อาณาบริเวณ “สุดขอบฟ้า” อันไกลโพ้น หนังสือพิมพ์ ไทม์สออฟอินเดียฉบับวันอาทิตย์ที่ 8 กันยายน 2562 ทำสารคดีสรุป “ความไม่สำเร็จ” ของประเทศต่างๆ ในงานสำรวจดวงจันทร์ในหน้าพิเศษที่เสนอเรื่องราวของจันทรายาน-2 และเรื่องราวที่เกี่ยวข้องเต็มหน้า สรุปว่าอินเดียมิใช่ประเทศแรกที่ทำงานนี้ยังไม่สำเร็จ

อัตราความสำเร็จในปฏิบัติการสำรวจดวงจันทร์ในช่วง 6 ทศวรรษที่ผ่านมา คือ 60% โดยการส่งยานไปดวงจันทร์รวม 109 ครั้งในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา ที่ประสบความสำเร็จ 61 ครั้ง ไม่สำเร็จ 48 ครั้ง

เริ่มจากยานไพโอเนียร์ 0 ของสหรัฐ ซึ่งเป็นการส่งยานไปดวงจันทร์ครั้งแรก เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2501 ปฏิบัติการล้มเหลวตั้งแต่ขั้นการปล่อยยานจากฐานยิง ต่อมาสหภาพโซเวียตส่งยาน ลูนา อี-1 หมายเลข 1 ไปดวงจันทร์ครั้งแรก เมื่อ 23 กันยายน 2501 ปฏิบัติการล้มเหลวในขั้นปล่อยยานจากฐานยิงเช่นกัน

ญี่ปุ่นส่งยานฮะโกโรโม เพื่อไปโคจรรอบดวงจันทร์ครั้งแรกเมื่อ 24 มกราคม 2533 พบว่าไม่สามารถติดต่อและไม่สามารถส่งข้อมูลกลับมาได้

จีนส่งยานหลงเจียง-1 ไปโคจรรอบดวงจันทร์ เมื่อ 21 พฤษภาคม 2561 ไม่สามารถเข้าสู่วงโคจรรอบดวงจันทร์ได้ และอิสราเอลส่งยานเบเรชีท ซึ่งเป็นปฏิบัติการสู่ดวงจันทร์ครั้งแรกของอิสราเอล เมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2562 ยานตกกระแทกดวงจันทร์อย่างแรงเช่นกัน เมื่อ วันที่ 11 เมษายน 2562

โครงการจันทรายาน-2 ของอินเดียครั้งนี้ จึงไปได้ไกลกว่ากรณีตัวอย่างที่ยกมาของทั้งสหรัฐ สหภาพ โซเวียต ญี่ปุ่นและจีน แต่คล้ายคลึงกับกรณีของอิสราเอลเมื่อเดือนเมษายนนี้ ดังนั้น เมื่อเทียบฐานะทางเศรษฐกิจ และความเจริญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งอินเดียนับว่าล้าหลังกว่า 5 ประเทศที่ยกมาเปรียบเทียบมาก กรณีของจันทรายาน-2 จึงนับว่าก้าวมาได้ไกลพอสมควร แม้จะไม่บรรลุความสำเร็จตามที่ตั้งไว้ทั้งหมด

จันทรายาน-2 ถูกยิงจากศูนย์อวกาศสาทิศธวันบนเกาะศรีหริโคตรตั้งแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2562 ได้โคจรรอบโลกเป็นเวลา 23 วัน จากนั้นจึงเบนเส้นทางสู่ดวงจันทร์เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม

จันทรายาน-2 มีองค์ประกอบ 3 ส่วน ส่วนที่ 1 คือยานที่จะโคจรรอบดวงจันทร์ระยะยาว กำหนดราว 7 ปี ส่วนที่ 2 คือ ยานวิกรม ซึ่งจะแยกตัวจากส่วนที่ 1 เพื่อค่อยๆ ร่อนลงสู่ดวงจันทร์ บนยานวิกรมมีส่วนที่ 3 คือรถที่จะเคลื่อนที่ไปสำรวจบนผิวพื้นดวงจันทร์ ส่วนนี้ชื่อว่าปรัคยาน (Pragyan)

ยานวิกรมและปรัคยานแยกตัวจากยานแม่ส่วนที่ 1 ได้สำเร็จด้วยดี เมื่อวันที่ 2 กันยายน ถ้ายานวิกรมลงสู่ดวงจันทร์ได้สำเร็จ ทั้งยานวิกรมและปรัคยาน มีกำหนดปฏิบัติการสำรวจและทดลองและบนพื้นผิวดวงจันทร์เป็นเวลา 1 วันของดวงจันทร์ซึ่งจะเท่ากับประมาณ 2 สัปดาห์หรือ 14 วัน บนพื้นโลก แต่อินเดียยังทำไม่สำเร็จในภารกิจส่วนนี้

ที่น่าสนใจยิ่ง คือ ยานทั้ง 3 ส่วนนี้ สร้างในอินเดียทั้งสิ้น โดยเดิมสหภาพโซเวียตได้ลงนามในสัญญาจะเป็นผู้สร้างยานที่จะลงจอดบนดวงจันทร์ ส่วนอินเดียจะสร้างส่วนที่ 1 คือ ยานที่จะโคจรรอบดวงจันทร์ และส่วนที่ 3 คือ รถสำรวจบนดวงจันทร์ แต่รัสเซียโดยองค์การอวกาศแห่งชาติรัสเซีย (Russian Federal Space Agency: Roscosmos) ประสบปัญหาในโครงการโฟบอส-กรันท์ ซึ่งเป็นโครงการสำรวจดาวอังคาร และขอถอนตัวจากโครงการนี้ อินเดียตัดสินใจสร้างยานดังกล่าวขึ้นเอง ยานทั้ง 3 ส่วนในโครงการจันทรายาน-2 จึงสร้างในอินเดียทั้งหมด

นอกจากตัวยานทั้ง 3 ส่วน อุปกรณ์สำรวจแทบทั้งหมดสร้างในอินเดีย โดยบนยานโคจรจะมีอุปกรณ์ 8 ชิ้น ยานวิกรมมีอุปกรณ์ 4 ชิ้น และบนปรัคยาน มีอุปกรณ์สำรวจ 2 ชิ้น

ตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 องค์การวิจัยอวกาศอินเดียได้ประกาศชัดเจน เนื่องจากต้องจำกัดน้ำหนักอุปกรณ์จึงจะไม่มีอุปกรณ์ของต่างประเทศในพันธกิจนี้ แม้องค์การนาซ่าของสหรัฐและอีซ่าของยุโรปจะขอมีส่วนร่วมในโครงการโดยขอส่งอุปกรณ์สำรวจขึ้นไปบนยานโคจรด้วย อย่างไรก็ดี ก่อนกำหนดปล่อยยานเพียง 1 เดือน องค์การวิจัยอวกาศของอินเดียยอมให้อุปกรณ์ขนาดเล็กของนาซ่า (Retroreflector) ขึ้นไปบนยานวิกรม เพื่อใช้วัดระยะห่างระหว่างยานโคจรกับผิวดวงจันทร์

อุปกรณ์ 8 ชิ้น บนยานโคจรประกอบด้วย (1) เครื่องสเปคโทรมีเตอร์ ตรวจส่วนประกอบบนผิวดวงจันทร์ (2) เครื่องโซลาร์เอกซเรย์โมนิเตอร์ เพื่อแมปปิ้งธาตุสำคัญๆ บนผิวดวงจันทร์ (3) เครื่องเรดาร์ซึ่งจะตรวจเข้าไปในผิวดวงจันทร์ระดับลึกได้ 5 เมตร เพื่อสำรวจองค์ประกอบต่างๆ รวมทั้งน้ำแข็ง (4) เครื่องสเปคโทรมิเตอร์ถ่ายภาพ เพื่อศึกษาแร่ธาตุ โมเลกุลน้ำ และสารประกอบไฮดรอกชิลที่ระดับ 5 ไมครอน (โครงการจันทรายาน-1 วัดได้ที่ระดับ 3 ไมครอน) (5) เครื่องสำรวจบรรยากาศรอบดวงจันทร์ (6) กล้องถ่ายรูปเพื่อสร้างภาพ 3 มิติ ใช้ศึกษาวิทยาแร่ธาตุและธรณีวิทยาดวงจันทร์ (7) เครื่องวิทยุเพื่อศึกษาความเข้มแข็งของอิเล็กตรอนในชั้นไอโอโนสเฟียร์ของดวงจันทร์ (8) กล้องความละเอียดสูง เพื่อสำรวจจุดอันตรายก่อนลงจอด

อุปกรณ์ 4 ชิ้นบนยานวิกรม ประกอบด้วย (1) เครื่องวัดแผ่นดินไหวบริเวณใกล้ที่ลงจอด (2) อุปกรณ์ทดสอบเทอร์โมฟิสิกส์ของผิวดวงจันทร์ (3) เครื่องวัดความเข้มและแปรปรวนของพลาสมาบนผิวดวงจันทร์ (4) เครื่องเลเชอร์เรโทรรีเฟลคเตอร์ เพื่อวัดระยะที่แม่นยำระหว่างเครื่องบนผิวดวงจันทร์กับเครื่องบนยานโคจร เครื่องนี้มีน้ำหนักราว 22 กรัม และไม่สามารถใช้โดยการสังเกตจากสถานีเลเซอร์บนผิวโลก (เป็นอุปกรณ์ชิ้นเดียวจากองค์การนาซ่าของสหรัฐที่ขึ้นไปในครั้งนี้)

อุปกรณ์ 2 ชิ้นบนปรัคยานโรเวอร์ เพื่อวัดปริมาณธาตุต่างๆ ใกล้บริเวณลงจอด ประกอบด้วย (1) สเปคโทรสโคปทำงานโดยเลเซอร์ และ (2) เครื่องเอกซเรย์สเปคโทรสโคป

เมื่อยานวิกรมตกกระแทกพื้นผิวดวงจันทร์อย่างแรง แต่ยานโคจรยังทำหน้าที่ต่อไป หนังสือพิมพ์ ไทม์สออฟอินเดียจึงพาดหัวข่าวว่า “ยานลงจอดตาย ยานโคจรอายุยืนยาว” (The Lander Is Dead, Long Live The Orbitor)

และ ดร.เค ศิวัน ผู้อำนวยการองค์การวิจัยอวกาศอินเดียจึงแถลงว่า “พันธกิจของจันทรายาน-2 บรรลุแล้ว 90-95% เราจึงไม่ควรกล่าวว่าพันธกิจของเราล้มเหลว ยานโคจรจะมีอายุกว่า 7 ปีครึ่ง ไม่ใช่แค่ปีเดียว เพราะยังมีเชื้อเพลิงเหลืออีกมาก และมีโอกาสจะพบยานวิกรม… เครื่องเรดาร์บนยานโคจรจะสำรวจลงไปได้ถึง 10 เมตร จากผิวดวงจันทร์ และจะช่วยให้เราพบน้ำแข็งบริเวณนั้น เครื่องสเปคโทรมิเตอร์ก็ทำงานได้ถึงระดับ 5 ไมครอน...”

ดร.ศิวัน บอกว่าการลงจอด “เป็นเพียงการสาธิตที่เรายังทำไม่สำเร็จ และไม่ทำให้งานล่าช้า...

นักวิทยาศาสตร์อาวุโสท่านหนึ่งให้ความเห็นว่ามีโอกาสที่จะพบยานวิกรมภายใน 3 วัน เพราะยานโคจรจะใช้เวลา 3 วันในการโคจรมาที่เดิม เรารู้ตำแหน่งลงจอด แต่ยานวิกรมเบนทิศทางไปในช่วงนาทีสุดท้าย รัศมีการค้นหาจึงกว้างราว 10X10 กม. ... แต่ถ้ายานวิกรมแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยก็ยากจะหาพบ ...”

ผู้เขียนประชุมอยู่ที่อินเดีย 4 วัน ในช่วงนั้น ไม่มีข่าวดีจากยานวิกรม

*****************************