อินเดียวันนี้ (5)
น.พ.วิชัย โชควิวัฒน
นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน
***********************
ยานที่ลงจอดบนดวงจันทร์ของโครงการจันทรายาน-2 ชื่อยานวิกรม ตามชื่อของ ดร.วิกรม สารภัย ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งโครงการอวกาศของอินเดีย”
ดร.วิกรม สารภัย เกิดเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2462 ในครอบครัวของนักธุรกิจอุตสาหกรรมที่ร่วมในขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชของอินเดียมากับพรรคคองเกรส ซึ่งผู้นำคนสำคัญคือท่านมหาตมะ คานธี
ขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชของอินเดียมีข้อแตกต่างอย่างสำคัญกับขบวนการทางการเมืองในประเทศไทยที่ผู้นำของเราส่วนมากมุ่งต่อสู้ทางการเมือง มากกว่าเรื่องการสร้างชาติสร้างประเทศ ในอินเดียนั้นในขณะที่ภาพลักษณ์ที่ปรากฏสู่สายตาชาวโลกเป็นการต่อสู้เพื่อปลดแอกจากการครอบครองของอังกฤษ มีผู้นำส่วนหนึ่งมุ่งมองอินเดียหลังได้เอกราชว่าจะสร้างความมั่งคั่งให้แก่ประชาชาติอินเดียได้อย่างไร จะทำให้พลเมืองอินเดียทั้งประเทศพ้นจากความอดอยากยากจนได้อย่างไร ในขบวนการต่อสู้เพื่อเอกราชของอินเดียจึงมีนักอุตสาหกรรมอย่างจัมเสตจี ทาทา ซึ่งมุ่งพัฒนาด้านอุตสาหกรรม การพลังงาน ธุรกิจ และการศึกษาวิจัยจนเติบโตเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมทาทาที่มีชื่อเสียงสืบมาทุกวันนี้ รวมทั้งธุรกิจโรงแรมทัชมาฮาลที่มหานครมุมไบ และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์พื้นฐานทาทาที่เบงกาลูรู
ขณะเดียวกันก็มีครอบครัวตระกูลสารภัยที่สร้างทั้งอุตสาหกรรม และสถาบันวิจัยด้านอวกาศ
ดร.วิกรม สารภัย เกิดที่เมืองอาห์เมดาบัด ศึกษาที่วิทยาลัยคุชราต แล้วไปศึกษาต่อที่วิทยาลัยจอห์นในมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ กลับมาดำเนินธุรกิจของครอบครัวโดยมุ่งสร้างความเจริญทางวิทยาศาสตร์ของประเทศคู่ขนานไปกับธุรกิจของครอบครัว ดร.วิกรม มีความสนใจทั้งด้านวิทยาศาสตร์ การกีฬา และวิชาสถิติ ได้เริ่มก่อตั้งกลุ่มวิจัยปฏิบัติการ (Operations Research Group) ซึ่งเป็นหน่วยวิจัยของภาคธุรกิจแห่งแรก ของประเทศ ห้องปฏิบัติการวิจัยทางฟิสิกส์ (Physical Research Laboratory) ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.2490 ปีเดียวกับที่อินเดียได้รับเอกราช โดยเป็นห้องปฏิบัติการขนาดย่อม ทำวิจัยด้านรังสีคอสมิก โดยสร้างขึ้นในบริเวณบ้านของตนเอง ต่อมาจึงได้รับการสนับสนุนให้จัดตั้งเป็นสถาบันวิจัยอย่างเป็นทางการ ที่สถาบันวิทยาศาสตร์อาห์เมดาบัด เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2490 โดยการสนับสนุนของมูลนิธิการศึกษากรรมเกษตร (Karmkshetra Educational Foundation) และสมาคมการศึกษาอาห์เมดาบัด (Ahmedabad Education Society) มี ดร.กัลปาธี รามากฤษณะ รามานาทาน เป็นผู้อำนวยการสถาบันคนแรก งานในระยะแรก มุ่งศึกษาวิจัยรังสีคอสมิกและคุณสมบัติของบรรยากาศชั้นบนของโลก ต่อมาจึงขยายออกไปศึกษาวิจัยด้านฟิสิกส์ทฤษฎี (Theoretical Physics) และฟิสิกส์วิทยุ (Radio Physics)
ปัจจุบันวิชาฟิสิกส์แบ่งแขนงแยกย่อยออกไปมากมาย แต่ก่อนฟิสิกส์จะแบ่งกว้างๆ เป็น 2 แขนง คือ ฟิสิกส์ทฤษฎี (Theoretical Physics) และฟิสิกส์ทดลอง (Experimental Physics) อัลเบิต ไอน์สไตน์ที่โลกรู้จักดีอยู่ในฝ่ายฟิสิกส์ทฤษฎี ส่วนเซอร์อาร์เธอร์ เอดดิงตัน นักฟิสิกส์ที่มีชื่อเสียงของอังกฤษร่วมสมัยกับไอน์สไตน์ เป็นฝ่ายนักฟิสิกส์ทดลอง เป็นผู้ออกแบบการทดลองเพื่อพิสูจน์ทฤษฎีของไอน์สไตน์ที่เสนอว่าแสงจะเดินทางเป็นเส้นโค้ง เมื่อถูกเหนี่ยวนำจากการเดินทางผ่านมวลขนาดใหญ่ เซอร์อาร์เธอร์ เอดดิงตัน ออกแบบการพิสูจน์โดยถ่ายภาพดวงดาวอันไกลโพ้นที่อยู่หลังดวงอาทิตย์ โดยถ่ายภาพขณะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงที่แอฟริกาใต้ และพบว่าทฤษฎีของไอน์สไตน์ถูกต้อง และแม่นยำมาก โดยพบว่าแสงถูกเหนี่ยวนำเป็นเส้นโค้งวัดได้เป็นจำนวนพิลิปดาตรงกับที่ไอน์สไตน์คำนวณไว้ทุกประการ
สำหรับ ดร.วิกรม สารภัย ได้ใช้งานวิจัยเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาประเทศทั้งด้านอุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์ โดยเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการก่อตั้งสถาบันวิจัยหลายแห่ง ได้แก่ สถาบันการจัดการแห่งอินเดียที่อาห์เมดาบัด (Indian Institute of Management Ahmedabad : IIMA) สมาคมวิจัยอุตสาหกรรมสิ่งทออาห์เมดาบัดเพื่อการพัฒนา (Ahmedabad Textile Industry’s Research Association for Development) ในอาห์เมดาบัด นอกจากนี้ยังมีโครงการต่างๆ ได้แก่ โครงการทดสอบ Faster Bruder Test Reactor (FBTR) ใน กัลปักกัม โครงการพลังงานไซโคลตอน (Variable Energy Cyclotron Project) ในโกลโกตา บรรษัทอิเล็กทรอนิกส์อินเดีย (Electronics Corporation of India Limited : ECIL) ในไฮเดอราบัด บรรษัทยูเรเนียมแห่งอินเดีย (Uranium Corporation of India Limited : UCIL) ในยาร์คันด์
ไม่เพียงสถาบันวิจัยด้านอุตสาหกรรม และวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเท่านั้น โดยที่ ดร.วิกรม สารภัย สมรสกับ บรินาลินี ดารา นักเต้นรำคลาสสิก ดร.วิกรมและภริยา ได้ร่วมก่อตั้งสถาบันทารปนา ด้านศิลปะการแสดง (Darpana Academy of Performing Arts) ขึ้นด้วย
หลังได้เอกราช มีความคิดแตกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งต้องการให้อินเดียมุ่งทำแต่เรื่องการแก้ปัญหา ปากท้อง อีกฝ่ายหนึ่งต้องการให้อินเดียมุ่งพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย ฝ่ายหลังถูกโจมตีคัดค้านว่าอินเดียยากจนมาก ไม่อยู่ในวิสัยที่จะเอาเงินไปลงทุนแข่งขันกับประเทศที่เจริญก้าวหน้ากว่ามากมายทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถ้าฝืนทำก็เท่ากับเอาเงินที่มีอยู่น้อยนิดไปถมทิ้งเสียเปล่าๆ ไม่มีทางจะสำเร็จได้
ด้วยวิสัยทัศน์ของเยาวหรลาล เนห์รู นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย รัฐบาลตัดสินใจลงทุนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งรวมทั้งเทคโนโลยีด้านอวกาศ โดย ดร.วิกรม สารภัย ได้รับการเชิญชวนให้เข้ามาทำงานนี้ ซึ่งทั้ง เนห์รู และดร.วิกรม สารภัย ต่างมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนว่า แม้อินเดียจะต้องยากลำบากในการหาอาหารมาเลี้ยงประชากรก็ตาม แต่ “ถ้าหากว่าอินเดียจะมีบทบาทที่มีความหมายในหมู่สังคมนานาชาติแล้ว เราจะต้องไม่เป็นรองใครในการประยุกต์เทคโนโลยีที่ก้าวหน้ากับปัญหาชีวิตจริง”
นั่นคือ อินเดียจะต้องพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อประโยชน์ของคนอินเดียอย่างแท้จริงให้ได้ มิใช่เพื่อแสดงพลังอำนาจอวดชาวโลก
ในการสร้างรากฐานด้านอวกาศให้แก่อินเดีย ดร.วิกรม ให้โอกาสแก่นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่จำนวนมาก แนวคิดดังกล่าวสอดคล้องกับข้อเท็จจริงว่า มีนักวิทยาศาสตร์ชั้นเลิศของโลกจำนวนมาก ค้นพบสิ่งใหม่ๆ ที่เป็นความก้าวหน้าอย่างแท้จริงในวัยหนุ่ม เช่น ไอน์สไตน์ นำเสนอบทความที่เป็นทฤษฎีสัมพัทธภาพเฉพาะ และบทความสำคัญอื่นๆ รวม 5 ชิ้น ในวัย 26 ปีเท่านั้น โดยบทความทั้ง 5 ชิ้นนั้น ตีพิมพ์ในปี พ.ศ.2448 ปีดังกล่าวจึงได้ชื่อว่า “ปีมหัศจรรย์ของไอน์สไตน์” (Einstein’s Miraculous Year) และมีการเฉลิมฉลองครบรอบร้อยปี “ปีมหัศจรรย์ของไอน์สไตน์” ไปเมื่อ พ.ศ.2548
จอห์น แนช นักคณิตศาสตร์ผู้ได้รับรางวัลโนเบลในฐานะผู้เสนอ “ทฤษฎีเกม” ก็เสนอทฤษฎีดังกล่าวเมื่ออายุเพียง 20 กว่าปี
ในสำนักงานคณะกรรมการอินเดียเพื่อการวิจัยอวกาศ (Indian Committee for Space Research : INCOSPAR) มีนักวิทยาศาสตร์วัย 30 ปี ถึง ต้นๆ 40 ปี ได้รับการสนับสนุนจำนวนมากโดย ดร.วิกรม สารภัย ซึ่ง ดร.อับดุล กาลัม เขียนไว้ในอัตชีวประวัติของท่านว่า “คุณสมบัติสูงสุดของเราที่สำนักงานคณะกรรมการอินเดียเพื่อการวิจัยอวกาศ ไม่ใช่ปริญญาหรือการฝึกอบรมของเรา แต่เป็นความเชื่อมั่นของศาสตราจารย์สารภัยในความสามารถของเรา หลังจากความสำเร็จในการยิงจรวดไนกี้-อะปาเช่ ท่านตัดสินใจบอกให้เรารู้เกี่ยวกับความฝันของท่านที่จะมีจรวดยิงดาวเทียมของอินเดียเอง”
“ศาสตราจารย์สารภัยมักจะมอบงานหลายอย่าง ให้แก่คนคนเดียวหรือกลุ่มเดียว ถึงแม้งานบางอย่างจะดูเหมือนไม่มีความเกี่ยวพันกันในตอนต้น แต่ในตอนหลังๆ จะรวมเข้าหากันเป็นการเชื่อมโยงอย่างลึกซึ้ง เมื่อศาสตราจารย์สารภัยกำลังพูดกับเราเกี่ยวกับยานส่งดาวเทียม แทบจะพร้อมกัน ท่านได้ให้ผมเริ่มศึกษาระบบบินขึ้น โดยใช้จรวดช่วยสำหรับเครื่องบินทหาร สองสิ่งนี้ดูเผินๆ ไม่มีความสัมพันธ์กัน แต่ไม่ใช่ในใจของ ผู้มองการณ์ไกลที่ยิ่งใหญ่ผู้นี้”
ตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับ ดร.วิกรม สารภัย มีมากมาย น่าเสียดายที่เมืองไทยไม่มีบุคคลที่มีวิสัยทัศน์ ความรู้ความสามารถ และภาวะผู้นำเช่นนี้ในวงการวิทยาศาสตร์ จึงแม้เราจะยากจนน้อยกว่าอินเดีย แต่ไม่มีความสำเร็จเป็นชิ้นเป็นอันในวงการวิทยาศาสตร์ที่จะอวดชาวโลกได้ สังคมเต็มไปด้วยความเชื่อทางไสยศาสตร์ โหราศาสตร์ และ “มั้ง” ศาสตร์ โดยปัจจุบันคณะวิทยาศาสตร์ในทุกมหาวิทยาลัยมีคนสนใจเข้าเรียนในวิชาวิทยาศาสตร์น้อยมาก
*************************************