ESG Factor Investing ทางเลือกใหม่สำหรับการลงทุนที่ยั่งยืน
คอลัมน์ Wealth Management
คอลัมน์ Wealth Management
เรื่อง ESG Factor Investing ทางเลือกใหม่สำหรับการลงทุนที่ยั่งยืน
โดย ดร.ธนาวุฒิ พรโรจนางกูร
หัวหน้าสายงานจัดการลงทุน บลจ.บางกอก แคปปิตอล
.................................................................................
แนวทางการดำเนินธุรกิจตามตำราเศรษฐศาสตร์เชื่อว่าบริษัทจะต้องสร้างกำไรสูงสุดและสามารถดำเนินธุรกิจได้ต่อเนื่องในระยะยาว ซึ่งหลักการดังกล่าวสอดคล้องกับแนวทางลงทุนแบบ ESG นักลงทุนกลุ่มดังกล่าวให้ความสำคัญกับบริษัทที่มีการดำเนินธุรกิจแบบยั่งยืนควบคู่กับผลประกอบการของบริษัท แนวทางการลงทุนแบบ ESG เชื่อว่าการลงทุนในบริษัทที่มีการดำเนินธุรกิจแบบยั่งยืนจะช่วยสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่า ในขณะที่ช่วยลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุน
นักลงทุนแบบยั่งยืนจะนำองค์ประกอบของ ESG (ESG Factor) เข้ามาในกระบวนการตัดสินใจและเลือกลงทุนในบริษัท กล่าวคือมีการพิจารณาองค์ประกอบด้านการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และ ธรรมาภิบาล (Governance) ที่ดีควบคู่กับการพิจารณาผลประกอบการของธุรกิจที่เติบโตต่อเนื่อง ซึ่งองค์ประกอบทั้ง 3 ด้านของ ESG คือ
1. Environment คือการใช้ที่บริษัทใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ การรักษาและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจ
2. Social คือการบริหารทรัพยากรบุคคลขององค์กรอย่างเท่าเทียม คำนึงถึงสภาพแวดล้อมในการทำงานและสุขภาพของพนักงาน อีกทั้งการให้ความสำคัญกับชุมชุนที่อยู่รอบด้าน
3. Governance คือการดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส ต่อต้านการทุจริต มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี และดูแลผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทอย่างเป็นธรรม
แต่ละประเทศอาจจะให้ความสำคัญในแต่องค์ประกอบแตกต่างกัน กล่าวคือ นักลงทุนในกลุ่มยุโรปให้ความสำคัญกับ Environment มากกว่าองค์ประกอบอื่น โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องลด Carbon Emission ลงตามปริมาณที่กำหนด หรืออย่างในประเทศกำลังพัฒนาจะให้ความสำคัญกับ Governance เป็นอันดับต้น เพราะหากผู้ประกอบการมีความจริงใจในการจัดการด้านธรรมาภิบาล ก็จะมีส่วนช่วยผลักดันการบริหารด้าน Environment และ Social ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้กิจกรรม ESG เพื่อช่วยการดำเนินกิจการที่ยั่งยืนตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า เป็นความรับผิดชอบของทุกคน ไม่ได้เป็นหน้าที่หรือความรับผิดชอบของบริษัทใดบริษัทหนึ่งหรือนักลงทุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
ESG สามารถช่วยสร้างผลกำไร และความยั่งยืนให้แก่กิจการได้จริงหรือ ?
ปัจจุบันผู้ประกอบการมีต้นทุนแฝงจากการการดำเนินกิจการมากมาย และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ความเชื่อของนักลงทุนกลุ่มที่ลงทุนตามหลักการ ESG เชื่อว่าการร่วมมือกันของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะสามารถลดต้นทุนแฝงและเพิ่มผลกำไรของธุรกิจได้
ตัวอย่างของการลดต้นทุนแฝง เช่นบริษัทเปลี่ยนมาใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานทางเลือกเช่นโซลาร์เซลผลิต หากมองเผิน ๆ อาจจะประเมินว่าบริษัทมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นทุนของพลังงานทางเลือกที่สูงกว่า แต่หากมองในมุมของต้นทุนแฝงจะเห็นว่าการใช้พลังงานรูปแบบเก่าอย่างถ่านหินจะมีต้นทุนในเรื่องของใช้ทรัพยากรธรรมชาติและมลพิษเกิดขึ้น หรือต้นทุนต่อสังคมในแง่ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของพนักงานหรือคนในชุมชน
ในขณะการ Disrupt หรือการเปลี่ยนแปลงผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทบางครั้งก็มีส่วนช่วยให้การดำเนินกิจการดำเนินต่อไปได้ เช่นการใช้รถยนต์สันดาบภายในมีแนวโน้มลดลงในอนาคตเนื่องจากก่อให้เกิดปัญหามลพิษและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติสิ้นเปลื้อง การพัฒนารถที่ใช้ไฟฟ้ามาเป็นระบบขับเคลื่อนนอกจากจะสามารถช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ก็ช่วยให้บริษัทมีผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ตอบความต้องการของผู้บริโภค และส่งผลต่อยอดขายและความสามารถในการดำเนินกิจการของบริษัทในอนาคต
ESG Integration : การนำ ESG Factor เข้าไปมีส่วนในกระบวนการตัดสินใจและเลือกลงทุน
นักลงทุนสามารถนำ ESG Factor เข้าไปรวมอยู่ในกระบวนการตัดสินใจและเลือกลงทุน โดยมีหลักสำคัญคือ เชื่อมโยงกิจกรรม ESG ของบริษัท ว่าจะสร้างอัตราการทำกำไรของบริษัทในระยะยาวอย่างไร ซึ่งหากประเมินได้ว่าในองค์ประกอบหนึ่งๆ มีผลกระทบต่อผลประกอบการของกิจการได้มาก นักวิเคราะห์ก็จะให้คะแนนในองค์ประกอบส่วนนั้นสูง ดังนั้นในแง่ของนักลงทุนก็สามารถเลือกลงทุนในหุ้นที่มีคะแนนรวมของ ESG สูงควบคู่กับการประเมินด้านมูลค่าพื้นฐานและเป้าหมายราคาของหุ้น
จากข้อมูลพบว่าการลงทุนในแบบ ESG สามารถลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุนและสามารถสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มได้ บริษัท S&P ซึ่งเป็นผู้สร้างดัชนีอ้างอิงหรือที่เราได้ยินคุ้นหูว่า S&P500 ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้ใช้หลักการประเมินคะแนน ESG Score ของตนเองคัดกรองบริษัทที่อยู่ในดัชนี S&P500 แล้วนำมาสร้างเป็นดัชนีใหม่เรียกว่า S&P ESG ปรากฏว่าผลตอบแทนของดัชนี S&P ESG ย้อนหลัง 1 ปี สามารถสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าดัชนี S&P500 ปกติถึง 0.75%
ESG แตกต่างอย่างไรกับ CSR
ในมุมของผู้ประกอบการกิจกรรม CSR และ ESG เหมือนกันในแง่ของการดำเนินการของบริษัทเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือเพื่อเป็นการตอบแทนหรือคืนอะไรกลับไปสู่ชุมชุนที่บริษัทดำเนินกิจการอยู่ ความแตกต่างจริง ๆ ระหว่าง CSR และ ESG อยู่ที่เป้าหมายการสื่อสาร กล่าวคือ CSR มีเป้าหมายในการสื่อสารแบบกว้าง ๆ ระหว่างบริษัทกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับองค์กร
ในขณะที่ ESG คือการสื่อสารระหว่างบริษัทกับนักลงทุน โดยเชื่อมข้อมูลในเชิงลึกระหว่างการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ กับผลประกอบการเพื่อประโยชน์ในการประเมินการเติบโตของผลกำไรของบริษัทในระยะยาว บริษัทที่ดำเนินกิจกรรม ESG ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อการทำกำไรของบริษัทในระยะยาว เพราะไม่เช่นนั้นกิจกรรมที่บริษัทดำเนินการก็เป็นเพียงค่าใช้จ่ายของบริษัท
ทั้งนี้การเตรียมความพร้อมในแง่ของรายงานที่เกี่ยวข้องกับ ESG ของบริษัทจะช่วยลดความเสี่ยงในการสื่อสารที่ผิดพลาดกับนักวิเคราะห์และนักลงทุน และการดำเนินกิจกรรมตามแนว ESG เป็นความรับผิดชอบของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคน ไม่ได้เป็นหน้าที่หรือความรับผิดชอบของบริษัทใดบริษัทหนึ่งหรือนักลงทุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง การร่วมมือและกำหนดนโยบายในทิศทางเดียวกันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับแนวทางการลงทุนแบบยั่งยืน