posttoday

New Normal บนเส้นทางการศึกษา

20 พฤษภาคม 2563

คอลัมน์ Great Talk

ปัจจุบันมีกลุ่มนักเรียนยากจนพิเศษประมาณ 700,000 คนตามเกณฑ์คัดกรองของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) หากรัฐบาลมีนโยบายจัดสรรงบประมาณ เพื่อซื้อคอมพิวเตอร์ให้เพื่อส่งเสริมให้มีการเรียนออนไลน์ งบประมาณคนละ 10,000 บาท ต้องใช้งบประมาณกว่า 7,000 ล้านบาท

ยังไม่รวมค่าจิปาถะทั้ง ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าอาหารกลางวัน ต้นทุนค่าเสียเวลาและเสียโอกาสของพ่อแม่ที่ต้องใช้เวลาดูแลการเรียนการสอนของลูก สูญเสียรายได้มากมาย

นั้นคือ ข้อจำกัดของการเรียนออนไลน์และมีงานวิจัยที่สำรวจพฤติกรรมการเรียนออนไลน์ ว่าก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ต่ำกว่ามาตรฐานกว่าการเรียนในห้องเรียนปกติ

นี่คือตัวอย่างของต้นทุนเชิงปริมาณ ที่ควบคุมได้ยากและต้นทุนเชิงคุณภาพที่ไม่อาจทดแทนการเรียนการสอนแบบเดิมๆได้

ผมเองอยู่ในช่วงคาบเกี่ยวระหว่างการสอนในห้องเรียนปกติกับช่วงวิกฤติโควิด 19 ทำให้ตนเองต้องอยู่ในสภาวะโดนบังคับปรับตัว

จากการสอนในห้องเรียน กลายเป็นการสอนออนไลน์เต็มตัว 100%

จากงานกลุ่มในห้องกลุ่มละ 8 คน พรีเซนต์เป็นกลุ่มให้ นศ.ได้มีการแชร์ข้อมูลระหว่างกัน มีการสอบเก็บคะแนนกลุ่ม ปรับมาเป็น พรีเซนต์เดี่ยวเก็บคะแนนแยกเฉพาะรายบุคคล ป้องกันการนัดรวมตัวกันเพื่อทำงานกลุ่ม

การเรียนการสอนที่เคยเห็นหน้านักศึกษาเห็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันเห็นว่าเขากำลังสนใจการเรียนอยู่หรือไม่เพื่อปรับปรุงเนื้อหาการสอนในคาบต่อไป

ปรับมาเป็น ไม่สามารถเห็นหน้านักศึกษาได้ทุกคน ไม่ทราบว่าเขานั่งทำอะไรอยู่ขณะที่ เรากำลังสอน(เราไม่สามารถบังคับนักศึกษาทุกคนให้เปิดกล้องได้

โดยส่วนตัวผมมองว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคล เราจึงต้องปรับการสอนให้มีการสอบท้ายวิชาทุกครั้งเพื่อทดสอบความตั้งใจของนักศึกษาในคาบเรียน)

New Normal ที่ต้องเปลี่ยนแปลงไป เราอาจต้องปรับรูปแบบการศึกษาให้ทันการเปลี่ยนแปลง การสอนออนไลน์อาจทดแทนการเรียนแบบเดิมได้ แต่ข้อจำกัดคือ ต้นทุนมหาศาลที่เราต้องสูญเสีย

เราอาจต้องมีการปรับใช้การเรียนออนไลน์ในบางพื้นที่แยกตามส่วนงานที่ระบบต่างๆเข้าถึงเช่นในเมือง แต่ในบางพื้นที่ที่ระบบอินเตอร์เน็ตเข้าไม่ถึงอาจต้องมีการสอนแบบผสม

โดยใช้การสอนปกติแต่มีการคัดแยกกลุ่มเด็กบนแนวทางSocial Distancing และใช้การสอนแบบการบันทึกวีดีโอเข้าผสมผสาน

รูปแบบการสอนก็ต้องปรับเปลี่ยนโดยเน้นปฏิสัมพันธ์ที่มีคุณภาพระหว่างครูและนักเรียนมากกว่าจำนวนชั่วโมงเรียนที่ต้องเก็บให้ครบ

รูปแบบการวัดผลความสามารถของเด็ก(การเก็บคะแนนหรือการตัดเกรด)ให้เน้นความสนใจในเนื้อหามากกว่าการวัดผลแบบใครเก่งกว่าใคร

โควิด-19 อาจไม่ใช่ Pain Point ของการศึกษา แต่การศึกษาในรูปแบบเดิมๆอาจกลายเป็น Pain Point ของเด็กๆ ในอดีตที่ผ่านมา

โควิด อาจเป็นแค่ตัวเร่งให้ ปรับรูปแบบการศึกษาเพื่ออนาคตก็เป็นได้