ประกัน MRTA ควรทำหรือไม่
คอลัมน์ เงินทองของใกล้ตัว โดย...ศุทธวีร์ มงคลสินธุ์ AFPTศูนย์ข้อมูลการเงิน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)
สำหรับผู้กู้ขอสินเชื่อบ้านหรือสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยย่อมมีภาระในการผ่อนบ้านเป็นระยะเวลานาน เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นกับผู้กู้ระหว่างการผ่อนชำระ สถาบันการเงินจึงเสนอให้ผู้กู้ทำประกันชีวิตเพื่อคุ้มครองสินเชื่อที่อยู่อาศัย เนื่องจากเป็นการลดความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของผู้กู้ โดยสถาบันการเงินมักจะมีส่วนลดดอกเบี้ยให้กับผู้กู้ที่ทำประกัน MRTA โดยอาจมีการปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้ร้อยละ 0.2 - 0.5 ต่อปี เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ผู้กู้ตัดสินใจทำประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อ หลายคนอาจมองว่าเบี้ยประกันที่ต้องชำระนั้นเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่าย แต่จริง ๆ แล้วประกันคุ้มครองสินเชื่อหรือประกัน MRTA ช่วยทำให้ผู้กู้มั่นใจว่าหากต้องจากไปก่อนวัยอันควร ภาระหนี้สินที่ได้ก่อไว้จะไม่ทำให้คนในครอบครัวต้องเดือดร้อน
MRTA คืออะไร?
MRTA ย่อมาจาก Mortgage Reducing Term Assurance คือ รูปแบบประกันชีวิตเพื่อคุ้มครองสินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งจะทำหน้าที่จ่ายชำระหนี้สินให้กับสถาบันการเงินแทนผู้กู้เมื่อผู้กู้เสียชีวิตหรือทุพพลภาพ โดยคำว่า Reducing ซึ่งหมายถึง วงเงินความคุ้มครองของประกันรูปแบบนี้ จะทยอยลดลงสอดคล้องกับยอดคงค้างเงินกู้ที่ลดลงเรื่อย ๆ จากการชำระหนี้ในแต่ละงวด และเมื่อประกัน MRTA ครบอายุสัญญามูลค่าความคุ้มครองก็จะหมดไป
MRTA มีประโยชน์อย่างไร?
ประกันชีวิตลักษณะนี้ออกแบบมาเพื่อช่วยลดผลกระทบทางการเงินที่มาพร้อมกับหนี้สิน หากผู้กู้ที่ได้ทำประกัน MRTA ไว้แล้วได้เสียชีวิตลง บริษัทประกันจะชำระหนี้สินให้กับกับสถาบันการเงินเจ้าหนี้ในวงเงินตามมูลค่าความคุ้มครองที่มีอยู่ ณ เวลานั้น ในกรณีที่ความคุ้มครองของประกันมีสูงกว่ายอดหนี้คงค้าง เงินส่วนที่เหลือจากการชำระหนี้นั้น จะตกเป็นของทายาทหรือผู้รับผลประโยชน์ที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์ แต่ถ้าผู้กู้ผ่อนสินเชื่อที่อยู่อาศัยหมดก่อนที่ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ MRTA จะสิ้นสุดลง ผู้กู้สามารถเลือกรับเงินสดตามมูลค่าเวนคืนจากบริษัทประกันได้
ในกรณีที่ผู้กู้ขอเปลี่ยนสถาบันการเงินใหม่ระหว่างการผ่อนชำระเงินกู้ (Refinance) ประกัน MRTA ที่เคยทำไว้ ไม่จำเป็นต้องเวนคืนกรมธรรม์ เพียงแค่แจ้งเปลี่ยนชื่อผู้รับประโยชน์เป็นสถาบันการเงินเจ้าหนี้ใหม่ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดค่าเบี้ยประกัน MRTA ได้มากกว่าการต้องทำประกัน MRTA ฉบับใหม่ ทั้งต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บริษัทประกันกำหนดไว้
การทำประกัน MRTA นั้น ไม่จำเป็นต้องทำเต็มวงเงินหรือระยะเวลาการกู้เสมอไป สามารถเลือกวงเงินคุ้มครองและระยะเวลาคุ้มครองได้ ขึ้นอยู่กับการประเมินความเสี่ยงและความจำเป็นของผู้กู้ ในส่วนอัตราค่าเบี้ยประกันขึ้นอยู่กับเพศ อายุ ระยะเวลาความคุ้มครอง ยิ่งมีระยะเวลาคุ้มครองยาวค่าเบี้ยประกันก็จะสูงขึ้นตาม สำหรับการจ่ายชำระค่าเบี้ยประกัน MRTA จะเป็นการจ่ายค่าเบี้ยประกันเพียงครั้งเดียว ซึ่งสถาบันการเงินที่ให้กู้มักจะอนุมัติวงเงินกู้เพิ่มเติมให้กับผู้กู้นำไปจ่ายค่าเบี้ยประกัน โดยให้ผ่อนค่าเบี้ยประกันรวมไปกับค่างวดการผ่อนสินเชื่อบ้าน นอกจากนี้หากผู้กู้ทำประกัน MRTA ที่มีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป สามารถนำเบี้ยประกันชีวิตส่วนนี้มาลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย
ใครควรทำประกัน MRTA?
สำหรับผู้ที่ควรทำประกัน MRTA คือ ผู้ที่เป็นเสาหลักของครอบครัว เป็นผู้ที่หารายได้หลักซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการผ่อนชำระสินเชื่อบ้าน ซึ่งจะเป็นการป้องกันภาระหนี้สินที่จะตกเป็นของครอบครัว แต่ผู้ที่มีทุนประกันชีวิต ผู้ที่มีทรัพย์สินมากเพียงพอต่อการชำระหนี้ หรือคนโสดที่ไม่มีคนในครอบครัวที่ต้องรับภาระหนี้ต่อ ก็ไม่จำเป็นที่ต้องทำประกัน MRTA เนื่องจากการขอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยนั้น ทางสถาบันการเงินจะมีบ้านหรืออสังหาริมทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันอยู่แล้ว
ทั้งนี้การทำประกัน MRTA ไม่มีผลต่อการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงิน ซึ่งผู้กู้สามารถพิจารณาเลือกทำประกันโดยพิจารณาตามความเสี่ยงและความสามารถในการชำระเบี้ยประกันได้ตามความจำเป็นของตนเอง
สำหรับสมาชิก กบข. ที่ต้องการปรึกษาเรื่องประกันชีวิต หรือเงื่อนไขสินเชื่อประเภทต่าง ๆ สามารถนัดหมายศูนย์ข้อมูลการเงิน กบข. ได้ที่ My GPF Application เมนู “นัดหมายบริการข้อมูลการเงิน” หรืออีเมล [email protected]