posttoday

ความในใจของนายกฯประยุทธ์ (2)

05 กันยายน 2563

โดย...ทวี สุรฤทธิกุล

*******************

การสืบทอดอำนาจคือ “เสาหลัก” ของระบบราชการไทย

ระบบราชการถูกหล่อหลอมให้อยู่ในกระบวนการสืบทอดอำนาจมาโดยตลอด ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ที่ข้าราชการถูกเลี้ยงดูจากรุ่นสู่รุ่น เจ้านายต้อง “ปั้น” ลูกน้องขึ้นมาแทนที่ตัวเองจากคนที่ไว้วางใจได้ เพื่อที่จะให้อุปถัมภ์ตัวเอง(คือตัวเจ้านายนั้น)ด้วยส่วนหนึ่ง เพราะเจ้านายย่อมจะเคยกระทำผิดพลาด การตั้งลูกน้องที่เคย “ร่วมอยู่ร่วมกิน” กันมา ลูกน้องก็อาจจะช่วยปกป้องดูแลเจ้านายให้อยู่รอดตลอดไป (คือช่วยปกปิดข้อผิดพลาดนั้น)

ดังคำขวัญของทหาร(ที่อาจจะพูดเล่นๆ แต่ก็เกิดจากความเป็นจริงที่นำมาสู่การพูดจนติดปากดังกล่าว)ที่บอกว่า “ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน” คือทั้งรุ่นพี่รุ่นน้องนั้นต้องดูแลกันและกันไปเรื่อยๆ

จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมทหารจึงต้องสืบทอดอำนาจเมื่อมาอยู่ในกระบวนการทางการเมืองของประเทศนั้นด้วย ก็เป็นเพราะถูกหล่อหลอมมาภายใต้ระบบอุปถัมภ์และความอยู่รอดร่วมกันนั้นเอง (แนวคิดนี้อาจจะใช้อธิบาย “ความเหนียวแน่น” ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ทำไมจึงต้องอยู่ในรัฐบาลนี้ไปตลอด แบบว่าตราบใดที่ พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงเป็นนายกรัฐมนตรี ตราบนั้น พล.อ.ประวิตร ก็จะต้องอยู่ในคณะรัฐมนตรี ที่รวมถึง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา นั้นด้วย)

เรายังอยู่ในการฟังเรื่องราวที่ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เล่าถึงนายกรัฐมนตรีที่มาจากนายทหาร อันเป็นที่มาของข้อสรุปที่ผู้เขียนทิ้งท้ายไว้ในบทความนี้เมื่อสัปดาห์ก่อน ที่ว่า “ทหารยังคงจะต้องอยู่ปกครองบ้านเมืองนี้ไปอีกนาน” ซึ่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปก็คือ จอมพลถนอม กิตติขจร

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เล่าว่า รู้จักกับจอมพลถนอม ตั้งแต่ที่ จอมพลถนอม เป็นนายทหารจบมาใหม่ๆ มาคุมกองร้อยที่ทางภาคเหนือในช่วงสงครามอินโดจีน เพราะท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ก็ถูกเกณฑ์ไปรบในกองทัพที่ภาคเหนือนั้นเช่นกัน จากนั้นก็มารู้จักกันในช่วงการปกครองของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จนจอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรม จอมพลถนอม ก็ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีสืบต่อ

กระทั่งการร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นและมีการประกาศใช้ใน พ.ศ. 2511 (รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้เวลาร่างนานที่สุดในโลก เพราะร่างมาตั้งแต่ พ.ศ. 2502รวมเวลาเกือบ 9 ปี) จากนั้นก็มีการเลือกตั้ง แต่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ไม่ได้ลงเลือกตั้ง เพราะต้องเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมถึงเป็นคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐที่ท่านเป็นเจ้าของ ใช้ชื่อคอลัมน์ว่า “หน้า 5 สยามรัฐ” ซึ่งเป็นที่นิยมอ่านกันมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งหนังสือพิมพ์สยามรัฐเมื่อ พ.ศ. 2493 นั้นแล้ว

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ เคยล้อเลียนทหารว่า “เวลาทำรัฐประหารทำไมจึงทำได้ง่ายนัก แต่พอมาสร้างประชาธิปไตยก็พังทุกที” ท่านมองการสร้างประชาธิปไตยของทหารนี้มาตั้งแต่ สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม พอมาในช่วงจอมพลถนอมก็ยังใช้แนวทางเดียวกัน (เช่นเดียวกันกับการสร้างประชาธิปไตยในยุคของ พล.อ.ประยุทธ์นี้) คือ “สร้างให้แต่ไม่ปล่อยวาง” อาจจะเป็นเพราะทหารมีความห่วงใย และไม่เชื่อมั่นว่าคนไทยจะปกครองกันเองได้ตามลำพัง

ดังนั้นในยุคของจอมพล ป. ที่พอมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2495 ที่ว่าจะเป็นการวางรากฐาน “อย่างแท้จริง” ให้แก่ประชาธิปไตยของประเทศไทย พอมีเลือกตั้งทหารก็ตั้งพรรคการเมืองมาร่วมแข่งขันด้วย และด้วยความห่วงใยจนเกินเหตุ(ที่เรียกในความหมายปัจจุบันนี้ก็คือ “สืบทอดอำนาจ” หรือ “หวงอำนาจ”)จึงมีการโกงการเลือกตั้ง กระทั่งได้เชื่อว่าเป็น “การเลือกตั้งครั้งที่สกปรกที่สุด” อันนำมาซึ่งการทำรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์เพื่อแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว

จอมพลถนอม ก็คล้ายๆ กัน ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2512 ก็ใช้ พรรคสหประชาไทย ที่เกิดจากการกวาดต้อนนักการเมืองกลุ่มต่างๆ เข้ามาร่วมกันจัดตั้ง ให้เป็น “สปริงบอร์ด” คือกระดานที่จะใช้กระโดดเข้าสู่อำนาจ ทั้งนี้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2511ยังกำหนดว่านายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. และยังไม่ให้ ส.ส.ดำรงตำแหน่งในรัฐบาล คือเป็นรัฐมนตรีไม่ได้อีกด้วย

ด้วยแนวคิดที่ว่าต้องการจะแยกฝ่ายบริหารออกจากฝ่ายการเมือง ซึ่งสิ่งนี้ได้นำความวุ่นวายมาสู่รัฐบาลของ จอมพลถนอม อย่างที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ได้เล่าถึงความวุ่นวายในตอนนั้นว่า พรรคสหประชาไทยจะมีการประชุมพรรคทุกวันอังคาร เพื่อเตรียมนัดหมายในญัตติต่างๆ ที่จะประชุมรัฐสภาในวันพุธ ในการประชุมพรรคนี้ ส.ส.ได้มีการรวมกลุ่มกันเรียกร้องเอาประโยชน์ต่างๆ จากผู้บริหารพรรค เช่น “ค่ายกมือ” ในการรับรองญัตติต่างๆ หรือเพื่อที่จะให้ผ่านกฎหมายสำคัญๆ

แม้กระทั่งการประชุมพรรคแต่ละครั้งก็ต้องมีการแจก “ค่าขนม” ครั้งหนึ่งๆ เป็นเงินราว 20,000บาท (ในสมัยที่ทองคำยังมีราคาแค่บาทละ 800 บาท) รวมถึงการขอจัดสรรงบประมาณ “เป็นพิเศษ” ไปลงในพื้นที่ อันเป็นที่มาของเงิน “พัฒนาพื้นที่” ที่จัดสรรไว้ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี

ตอนนั้นท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เขียนเรื่องสั้นเรื่องหนึ่ง ลงในคอลัมน์ของท่าน โดยให้ตัวเอกชื่อ “ลุงหนอม” ลุงหนอมนี้เลี้ยงอีแร้งกับตัวเงินตัวทองไว้ด้วยกัน จนอีแร้งฝักไข่ออกมามีตัวเป็นตัวเงินตัวทอง แต่มีปีกและขาเป็นอีแร้ง ส่งเสียงร้อง “ซวยๆๆๆ” อยู่ตลอดเวลา

ลุงหนอมตั้งชื่อว่า “สหัปมงคล” ด้วยความเชื่อว่าเมื่อเอาความอัปมงคลที่เป็นด้านลบมารวมกันก็จะเกิดเป็นด้านบวกตามแบบการบวกเลข ที่เอาตัวเลขที่มีค่าลบมารวมกันก็จะได้ผลเป็นบวก

แต่ท้ายที่สุดตัวสหัปมงคลนี้ก็นำความซวยต่างๆ มาสู่ลุงหนอมนี้โดยตลอด จนที่สุดลุงหนอมก็ต้องเผาบ้านทิ้ง ซึ่งในทางการเมืองจริงๆ ส.ส.ในพรรคสหัปมงคล เอ๊ย พรรคสหประชาไทย ก็ก่อความวุ่นวายมากขึ้นเรื่อยๆ ที่สุดลุงหนอม เอ๊ย จอมพลถนอมก็ต้องทำรัฐประหารล้มรัฐบาลของตนเอง ที่รวมถึงการทำให้ ส.ส.ทั้งสภาตกงาน ในปลายปี 2514 แล้วปกครองประเทศด้วยเผด็จการอีกครั้งหนึ่ง

จอมพล เอ๊ย พล.อ.ประยุทธ์ อาจจะไม่เหมือนลุงหนอมในชะตากรรมนั้น เพราะสามารถอยู่ทนมาได้ถึง 6 ปีกว่า (ทำท่าว่าจะอยู่ไปจนจบสมัยสภาใน พ.ศ. 2566) แต่ด้วยสภาพการณ์ที่ต้อง “บีบกันอยู่” ใน “หม้อการเมือง” ร้อนๆ นี้ ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าบ้านเมืองอาจจะมีอันเป็นไปที่พึงไม่พึงประสงค์นั้นได้

ความรู้สึกนี้จะอยู่ในใจของพล.อ.ประยุทธ์บ้างไหมหนอ?

***************************