รัฐสภากับการปรับตัวสู่สังคมดิจิตอล (จบ)
โดย...ทวี สุรฤทธิกุล
*************
รัฐสภาโบราณอาจจะสูญพันธุ์ไปพร้อมกับสังคมแบบดิจิตอล
รัฐสภา (Parliament) มาจากคำว่า Parlor แปลว่าห้องคอยเข้าเฝ้าในพระราชวัง(หรือในบ้านขุนนางและคนใหญ่คนโตในยุคนั้นก็มีห้องให้แขกรอแบบนี้เช่นกัน) เพราะในสังคมฝรั่งโบราณปกครองด้วยกษัตริย์ เมื่อขุนนางจะเข้าเฝ้าก็จะต้องไปคอยกันอยู่ในห้องข้าง ๆ ที่เรียกว่า Parlor นั้น ระหว่างที่รอก็พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องการงานต่าง ๆ รวมถึงการตกลงนัดหมายว่าจะกราบทูลอะไรกับกษัตริย์ และจะมีมติหรือตกลงกันอย่างไร อันเป็นเรื่องของราชการแผ่นดินทั้งหลายนั่นเอง
ต่อมาเมื่อขุนนางเหล่านั้นได้มีสภาพเป็นตัวแทนของกลุ่มประชาชนจากชุมชนต่าง ๆ ซึ่งเริ่มจากประเทศอังกฤษ ที่ขุนนางสามารถบังคับกษัตริย์ให้มาอยู่ใต้กฎหมายได้ ใน ค.ศ. 1215 ที่บังคับให้พระเจ้าจอห์นลงพระนามใน Magna Carter และกษัตริย์จะต้องเสด็จมาร่วมประชุมกับขุนนางอย่างสม่ำเสมอ ทำให้ห้องประชุมของเหล่าขุนนางมีความสำคัญมากขึ้น ซึ่งในประเทศอังกฤษก็ได้เรียกระบบนี้ว่า Parliamentary System มาตั้งแต่บัดนั้น ที่ภาษาไทยแปลว่า “ระบบรัฐสภา” นั่นเอง
ประเทศไทยก็นำแบบอย่างระบบรัฐสภามาจากประเทศอังกฤษ ที่รวมถึงระบบพรรคการเมืองและรัฐบาลนั้นด้วย เพียงแต่ระบบเลือกตั้งมีผิดเพี้ยนไปบ้าง (โดยมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปหลากหลายรูปแบบตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้งในแต่ละยุคสมัย) แต่ที่ผิดเพี้ยนไปมาก ๆ ก็คือ “สปิริต” หรือจิตวิญญาณในระบบรัฐสภาแบบของอังกฤษ ที่ของนักการเมืองไทยดูจะแตกต่างไปอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องของ “น้ำใจนักกีฬา” และ “ความเป็นสุภาพบุรุษ” เพราะนักการเมืองยังไม่ค่อย “รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย” และยังเล่นการเมืองแบบ “น้ำเน่า” จ้องรับเอาแต่ประโยชน์ส่วนตน มักใหญ่ใฝ่สูง และ “กร่าง” อย่างที่เรียกว่า “น้ำเน่า”
ในยุคดิจิตอลอย่างที่ได้พรรณนามาแล้วว่า สัมพันธภาพและระบบการสื่อสารทางสังคมได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ตลอดจนวิธีคิดและทัศนคติทั้งของนักการเมืองและผู้เลือกตั้งก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากด้วยเช่นกัน ซึ่งจะขอยกตัวอย่างสัก 2-3 เรื่องที่พอมองเห็นในตอนนี้ คือ
เรื่องแรก โลกาภิวัฒน์และสังคมดิจิตอลได้ทำให้ระบบการเมืองที่ “เคร่งครัด” ต้องถูกท้าทาย โดยเฉพาะเผด็จการแบบรวมศูนย์และรวมถึง “ประชาธิปไตยจำแลง” ในหลาย ๆ ประเทศนั้นด้วย นั่นก็คืออำนาจรัฐที่เคยอยู่เหนือหรือครอบงำผู้ใต้ปกครองในประเทศเหล่านั้น ได้ถูกผู้ใต้ปกครองเรียกร้องให้รัฐลดทอนอำนาจลง พร้อมกับที่ต้องเข้าไปสนใจและเอาใจใส่ผู้ใต้ปกครองมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาประเทศเหล่านั้นมักจะแค่แสดงทีท่าว่าได้ให้โอกาสแก่ผู้ใต้ปกครองมีส่วนร่วมในทางการเมืองการปกครองมากขึ้น แต่ก็เป็นเพียงแค่ “ลมปาก”
ในที่สุดก็เกิดกระแสต่อต้านรัฐบาล ดังเช่นที่ได้พบเห็นในดินแดนตะวันออกกลางที่เรียกว่า “อาหรับสปริงส์” ตั้งแต่ปี 2553 แล้วต่อมาที่ฮ่องกง จนกระทั่งประเทศไทย ทั้งนี้ก็เป็นด้วยประชาชนไม่เชื่อใจในการทำหน้าที่ของรัฐบาล รวมถึงการที่รัฐบาลไม่แยแสต่อการแสดงออกของกลุ่มคนเหล่านี้ด้วย นี่ก็แสดงถึง “แรงกระตุ้น” ของผู้คนในยุคสมัยใหม่ที่ต้องการให้รัฐบาลสนใจและเอาใจใส่ดูแลพวกเขาให้มากขึ้น
เรื่องต่อมา คือเรื่องของการแปรเปลี่ยนของแนวคิด “สัญญาประชาคม” อันเป็นการเมืองในระบอบประชาธิปไตยดั้งเดิมที่ยึดถือกันมาตั้งแต่ยุคคลาสสิค(คือหลังฮอปส์ ล็อค และรุสโซ) ที่ถือกันว่าสัญญาประชาคมเป็นเรื่องของคนหมู่มาก(ประชาธิปไตย)
การกระทำที่ยึดหลักเสียงข้างมากเพื่อประโยชน์ของคนหมู่มากคือการกระทำที่เรียกว่าเป็นประชาธิปไตย จนกระทั่งก้าวสู่ยุคแนวคิด “นีโอคลาสสิค” คือกระแสของ “เสรีนิยมใหม่” เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา มีการมองถึงเรื่องของกลุ่มอำนาจที่มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลังการเมืองการปกครองของประเทศ
อย่างที่นักวิชาการสมัยนี้เรียกว่า “Deep State” (มีนักวิชาการไทยมาแปลว่า “รัฐพันลึก” แต่หลายคนไม่ชอบเพราะฟังเป็นว่า “รัฐพิลึก” จึงน่าจะทับศัพท์ไปเลยจะดีกว่า) ทำให้ทราบว่าแท้จริงแล้วแม้แต่ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย (แนวคิด Deep State นี้เกิดในสหรัฐอเมริกา) ก็ไม่ได้ยึดหลักประโยชน์สุขของส่วนรวม
แต่เป็นไปเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของกลุ่มอำนาจที่มีอิทธิพลอยู่เบื้องหลังเหล่านั้น ประชาธิปไตยจึงเป็นแค่คำหลอกลวงของผู้ที่ต้องการเข้าไปมีอิทธิพลทางการเมืองเท่านั้น จึงนำมาซึ่งการตื่นตัวเพื่อเรียกร้อง “สิทธิอำนาจ” ของผู้คนจำนวนมากในสังคม ดังที่เห็นอยู่ในหลาย ๆ ประเทศดังกล่าว
อีกเรื่องหนึ่งที่กำลังเกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย ก็คือเรื่องของการเสื่อมถอยของแนวคิด “การเมืองศักดิ์สิทธิ์” โดยมองว่าโครงสร้างอำนาจในทางการเมืองของไทยในยุคนี้เป็น “ของปลอม” เพราะที่บอกว่าอำนาจเป็นของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยก็เป็นแค่คำกล่าวอ้าง ซึ่งความเป็นจริงการเมืองไทยยังอยู่ในยุคของ “อำนาจลึกลับ” ที่เป็นแบบ “Holy State” มากกว่า ดังที่เห็นการเกาะเกี่ยวกันของสถาบันที่ทรงอำนาจและร่วมกันรักษาอำนาจไว้อย่างแน่นเหนียวนั้น ซึ่งน่าจะส่งผลกระทบต่อการเมืองในยุคใหม่ โดยเฉพาะการต่อสู้กันระหว่างคนยุคเก่ากับคนยุคใหม่ เพื่อพิสูจน์ “สถานะอำนาจที่แท้จริง” ของประเทศไทยดังกล่าว
เรื่องที่ยกตัวอย่างมานี้อาจจะไม่สามารถอธิบายได้ชัดเจนแจ่มแจ้งนัก แต่ก็เป็นภาพปรากฏที่ก่อตัวขึ้นในแนวกว้างและแนวลึกผ่านสื่อสังคมสมัยใหม่ ที่รัฐบาลอาจจะประเมินผลกระทบได้อย่างยากลำบาก แต่ทั้งนี้ก็ไม่น่าจะพ้นหูพ้นตานักการเมืองที่ยังคงต้องมีสัมพันธ์กับประชาชนอย่างใกล้ชิด ทั้งทางสื่อสมัยเก่าคือการออกดพบปะให้ถึงตัวผู้คน และสื่อสมัยใหม่ที่พบปะกันได้ในโลกเสมือนจริง
ดังนั้นการอยู่รอดของระบบรัฐสภาในยุคดิจิตอลจึงไม่ได้เป็นเพียงแค่การเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ด้วยสื่อสมัยเหล่านี้เท่านั้น แต่ยังต้องรู้ซึ้งถึงหัวจิตหัวใจของผู้คนในสมัยใหม่นี้ ว่าไม่ได้มองอำนาจในแบบเดิม ๆ และไม่ได้ต้องการการเอาอกเอาใจในแบบเดิม ๆ ที่กำลังถูกมองว่าเป็นเรื่อง “เฟค” หรือการหลอกลวงของนักการเมืองทั้งสิ้น
รัฐสภาในยุคนี้ไม่ใช่แค่กำลังถูก “ไล่ล่า” แต่กำลังจะถูก “ล้มล้าง” อีกด้วย
****************