posttoday

ปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์สวีเดนปัจจุบันมาจากสามัญชนชาวฝรั่งเศส (1)

04 กุมภาพันธ์ 2564

โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร

******************

สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟแห่งราชวงศ์เบอร์นาดอตต์ (The Bernadotte Dynasty) ทรงเป็นประมุของค์ปัจจุบันแห่งราชอาณาจักรสวีเดน และปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์เบอร์นาดอตต์คือ ฌอง แบบติส เบอร์นาดอตต์ (Jean Baptiste Bernadotte) นายทหารชาวฝรั่งเศส เกิดที่เมือง Ponte Corvo เป็นบุตรของนักกฎหมายชาวฝรั่งเศส ฌอง แบบติส เบอร์นาดอตต์เป็นนายทหารมือหนึ่งคนสนิทของนโปเลียน และได้รับแต่งตั้งจากนโปเลียนให้เป็นเจ้าครองนคร Ponte Corvo

ปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์สวีเดนปัจจุบันมาจากสามัญชนชาวฝรั่งเศส (1)

         สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟ              สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 14 โยฮัน (ฌอง แบบติส เบอร์นาดอตต์

จริงๆแล้ว การที่สวีเดนได้ผู้ที่ไม่ใช่ชาวสวีเดนเป็นพระมหากษัตริย์ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะที่ผ่านมา ก็มีพระมหากษัตริย์หรือเจ้าชายจากเดนมาร์กหรือนอร์เวย์มาครองบัลลังก์สวีเดน เพราะราชวงศ์ในสวีเดน เดนมาร์ก และนอร์เวย์ต่างมีความสัมพันธ์ผ่านการสมรสกันมายาวนาน แต่การได้นายทหารที่มาจากตระกูลสามัญชนฝรั่งเศสขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ถือว่าเป็นเรื่องไม่ปกติ อีกทั้งยังสืบราชสันตติวงศ์มาจนถึงปัจจุบันด้วย คำถามคือ เรื่องราวมันเป็นมาอย่างไร ?

ผู้เขียนขอเล่าแบบสรุปย่อๆดังนี้คือ สวีเดนเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบที่ขอเรียกแบบบ้านๆว่า “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” มาเป็นระบอบพระมหากษัตริย์พระราชอำนาจจำกัด (ครั้งที่สอง—ครั้งแรกเกิดขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1718-1772) ในวันที่ 13 มีนาคม ค.ศ. 1809 ต่อมาเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1810 Karl August มกุฎราชกุมารแห่งสวีเดนสิ้นพระชนม์ลงอย่างกะทันหัน และเกิดเหตุการณ์จลาจลร้ายแรงในพิธีเคลื่อนพระบรมศพในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1810

การสิ้นพระชนม์กะทันหันของมกุฎราชกุมารไม่เพียงแต่จะทำให้สวีเดนกลับมาสู่วิกฤตของความไม่แน่นอนทั้งในเรื่องของเสถียรภาพความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ยังรวมถึงความไม่แน่นอนเกี่ยวกับทิศทางของนโยบายต่างประเทศและสันติภาพรวมทั้งปัญหาเรื่องการรักษาดินแดนของสวีเดนด้วย ซึ่งไม่เพียงแต่สวีเดนเท่านั้นที่มีปัญหา แต่การสิ้นพระชนม์ของ Karl August ยังส่งผลต่อความไม่แน่นอนของอีกสองราชอาณาจักรในสแกนดิเนเวียด้วย นั่นคือ เดนมาร์ก-นอร์เวย์ ที่คาดหวังที่จะให้สถาปนาสหภาพสแกนดิเนเวียขึ้นอีกครั้ง

ปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์สวีเดนปัจจุบันมาจากสามัญชนชาวฝรั่งเศส (1)

  Karl August มกุฎราชกุมารสวีเดนที่สิ้นพระชนม์กะทันหัน ทรงเป็นพระอนุชาของ Frederick Christian

ผู้คนไม่ว่าจะเป็นคนสวีเดนเองหรือคนภายนอกต่างมองอนาคตสวีเดนอย่างมืดมน และวิตกว่าความสับสนวุ่นวายที่เกิดขึ้นในสวีเดนอาจจะซ้ำรอยเหตุการณ์อันน่าสะพรึงกลัวที่เกิดขึ้นตามมาจากการปฏิวัติฝรั่งเศส อีกทั้งนโปเลียนเองก็ได้กล่าวต่อตัวแทนการทูตของสวีเดนในปารีสถึงแนวคิดแบบจาโคแบง (Jacobins: พวกล้มเจ้า) ที่ระบาดเข้าไปในสวีเดน นอกจากนี้ ชาวอังกฤษที่เดินทางไปสวีเดนได้กล่าวถึงสภาพการณ์ในสวีเดนขณะนั้นว่า “คนที่มองว่าสวีเดนจะสามารถฟื้นฟูกลับมาเข้มแข็งได้อีก จะต้องเป็นคนที่มองโลกในแง่ดีขนาดหนัก”

การสิ้นพระชนม์อย่างกะทันหันได้ทำให้ความขัดแย้งระหว่าง กลุ่ม Gustavians (คณะเจ้า) และ คณะบุคคล ค.ศ. 1809 (คณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง) ปะทุขึ้นอย่างรุนแรงทันที โดยกลุ่ม Gustavians ได้เสนอที่จะฟื้นฟูสิทธิ์ของเจ้าชาย Gustav พระราชโอรสของ Gustav IV ที่ถูกคณะบุคคลฯ ตัดสิทธิ์ในการสืบราชบัลลังก์ ส่วนคณะบุคคลฯไม่ต้องการกลับไปฟื้นฟูราชวงศ์เดิมอีก แต่การปลุกปั่นต่อต้านกลุ่ม Gustavians ได้มาถึงจุดสูงสุดในเหตุการณ์จลาจล (the Fersen riot) ในวันที่ 20 มิถุนายน โดยเป็นที่เข้าใจทั่วไปว่า เหตุการณ์ดังกล่าวได้ถูกปลุกปั่นโดยผู้นำบางคนในคณะบุคคลฯ ทำให้ความพยายามอย่างจริงจังของกลุ่ม Gustavians ที่จะสนับสนุน Gustav ไม่สามารถเกิดขึ้นได้อีก

เมื่อการสืบราชบัลลังก์สวีเดนได้กลับมาเป็นปัญหาสำคัญในการเมืองสวีเดนอีกเป็นครั้งในช่วงเวลาเพียงหนึ่งปีกับสองเดือนหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง การสรรหาบุคคลดังกล่าวย่อมจะต้องสัมพันธ์กับการหาทางออกหรือการกู้วิกฤตร้ายแรงที่สวีเดนกำลังประสบอยู่ในขณะนั้น และแน่นอนว่า ความเห็นต่อทิศทางในอนาคตย่อมแตกต่างและแตกแยกกันภายใต้ความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำเนินมาตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ยังคงความเข้มข้นอยู่

มีคนจำนวนไม่น้อยที่อยากเห็นการเกิดสหภาพสแกนดิเนเวียให้การสนับสนุน Frederick VI พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก-นอร์เวย์ให้เป็นมกุฎราชกุมารสวีเดนอีกครั้ง หลังจากล้มเหลวไปในคราวก่อน ทูตเดนมาร์กในสตอคโฮล์มและปารีสต่างเห็นเป็นโอกาสอีกครั้งที่จะสนับสนุนให้ Frederik VI ขึ้นครองราชย์บัลลังก์สวีเดนเพื่อที่จะสถาปนาสหภาพสแกนดิเนเวีย อันเป็นโครงการที่เคยมีการคิดกันไว้ก่อนหน้านี้ ส่วนแกนนำบางคนในคณะบุคคลฯที่ยืนยันปฏิเสธการเสนอชื่อเจ้าชาย Gustav ก็เดินหน้าสนับสนุน Frederick Christian Duke of Augustenburg พระเชษฐาของ Karl August ซึ่งได้รับความเห็นชอบจาก Karl XIII พระมหากษัตริย์สวีเดนขณะนั้นและรวมทั้งสภาบริหาร ด้วย

ปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์สวีเดนปัจจุบันมาจากสามัญชนชาวฝรั่งเศส (1)

             Frederick Christian Duke of Augustenburg พระเชษฐาของ Karl August

ดังนั้น ตัวเลือกที่ได้ในช่วงแรกนี้ก็คือ Frederick Christian ดังนั้น รัฐบาลสวีเดนจึงได้รีบส่งตัวแทนไปยังกรุงปารีสเพื่อขอความเห็นชอบและคำแนะนำจากนโปเลียนในฐานะที่ทรงอำนาจยิ่งในยุโรปขณะนั้น ความเห็นของนโปเลียนมีความสำคัญยิ่ง และรัฐบาลสวีเดนและเดนมาร์กต่างก็ต้องการหยั่งเสียงนโปเลียนระหว่าง Friedrich Christian และ Frederik VI แต่เนื่องจากนโปเลียนยังต้องให้ความสำคัญกับการปิดล้อมในภาคพื้นทวีปและปรับปรุงสถานะทางยุทธศาสตร์ต่อรัสเซีย จึงยังไม่ได้ให้ความเห็นที่ชัดเจนอย่างไรต่อการเสนอชื่อผู้สืบราชบัลลังก์สวีเดน

ปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์สวีเดนปัจจุบันมาจากสามัญชนชาวฝรั่งเศส (1)

                                             Frederik VI พระมหากษัตริย์แห่งเดนมาร์ก-นอร์เวย์

คนสวีเดนจำนวนไม่น้อยมีความวิตกกังวลต่อปัญหาการสรรหามกุฎราชกุมารสวีเดน เพราะหากไม่ลงตัว สวีเดนอาจจะเข้าสู่การปฏิวัติที่นำไปสู่ “ยุคแห่งความน่าสะพรึงกลัว” (the Reign of Terror) อย่างที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศส ซึ่งสภาพการณ์ดังกล่าวนั้นได้ยุติลงหลังจากที่ฝรั่งเศสได้ผู้นำที่เข้มแข็งอย่างนโปเลียน ที่นอกจากจะยุติวิกฤตภายในประเทศแล้ว ยังนำฝรั่งเศสไปสู่การมีอิทธิพลในยุโรปด้วย และด้วยเหตุนี้ คนสวีเดนจำนวนมากจึงต้องการบุคคลที่มีความเข็มแข็งเข้ามาบริหารแผ่นดิน

ตัวแทนที่รัฐบาลสวีเดนส่งไปยังกรุงปารีสเพื่อขอความเห็นจากนโปเลียนคือ นายพันโท บารอน Otto Moerner ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่เห็นว่าสวีเดนต้องการหาผู้นำที่เข้มแข็ง และ Moener ได้กลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการกำหนดตัวผู้ที่จะเสนอชื่อให้รัฐสภาพิจารณาลงมติเป็นมกุฎราชกุมารต่อจาก Karl August เพราะ Moener มีความคิดเห็นส่วนตัวที่สอดรับกับคนสวีเดนจำนวนไม่น้อยที่ต้องการจะได้บุคคลที่มีประสบการณ์ความสามารถและมีภาวะผู้นำในทางการทหารให้เป็นพระมหากษัตริย์สวีเดนในยามวิกฤต เพื่อที่จะฟื้นฟูสวีเดนให้กลับมายืนหยัดเข้มแข็งได้อีกครั้ง และบุคคลที่ Moener คาดหวังไว้คือ ฌอง แบบติส เบอร์นาดอตต์ นายทหารชาวฝรั่งเศส ซึ่งถือว่าเป็นความคิดที่แปลกประหลาดมากที่ต้องการให้นายพลที่เป็นสามัญชนชาวฝรั่งเศสมาเป็นมกุฎราชกุมารแห่งสวีเดน ซึ่งถือเป็นการข้าม Friedrich Christian และ Frederik VI ที่เป็นตัวเลือกภายในราชวงศ์ในสแกนดิเนเวียไปทั้งหมด

ปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์สวีเดนปัจจุบันมาจากสามัญชนชาวฝรั่งเศส (1)

               Otto Moerner ผู้มีบทบาทสำคัญในการทำให้สวีเดนได้พระมหากษัตริย์เป็นนายทหารชาวฝรั่งเศส

เบอร์นาดอตต์เป็นผู้มีประสบการณ์ทหารอย่างยิ่ง และเป็นคนมีเกียรติและมีความเป็นตัวของตัวเองสูง และเป็นที่รับรู้ว่า เขาปฏิบัติต่อทหารสวีเดนที่ตกเป็นเชลยศึกของเขาด้วยดี Moener ได้เข้าพบเบอร์นาดอตต์ในวันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 1810 โดยการประสานกับเบอร์นาดอตต์เป็นความคิดริเริ่มของ Moener เอง เพราะจริงๆแล้ว เขาได้รับมอบหมายจากรัฐบาลสวีเดนให้ขอความเห็นและคำแนะนำจากนโปเลียน ต่อการเสนอชื่อของ Frederick Christian แต่ตัวเขาเองก็มีอิทธิพลสายสัมพันธ์กับผู้คนในสวีเดนอยู่ไม่น้อย ขณะเดียวกัน เขาก็รอการตัดสินใจของเบอร์นาดอตต์ ซึ่งในที่สุด เบอร์นาดอตต์ก็ตอบรับ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ ความเห็นของนโปเลียน

ปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์สวีเดนปัจจุบันมาจากสามัญชนชาวฝรั่งเศส (1)

                                                              นโปเลียน โปนาปาร์ต

แม้ว่าเบอร์นาดอตต์จะเป็นแม่ทัพผู้สามารถของนโปเลียน แต่ทั้งสองเป็นคนที่มีบุคลิกภาพที่แตกต่างกันมาก เบอร์นาดอตต์เป็นคนที่เคร่งครัดในกฎเกณฑ์ แม้ว่าจะอารมณ์ร้อน ปากไว แต่ก็ระมัดระวังตัวและไตร่ตรองอย่างสุขุมรอบคอบก่อนลงมือกระทำการใดๆ ซึ่งเป็นบุคลิกภาพของคนฝรั่งเศสแถบชายแดนตะวันตกเฉียงใต้ ส่วนนโปเลียนเป็นคนฉลาดล้ำและไม่ติดอยู่กับกติกาหลักการใดๆนอกจากจะจำเป็นเท่านั้น และกล้าที่จะเสี่ยงสูงเพื่อผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ นโปเลียนไม่เห็นด้วยกับความระมัดระวังสุขุมของเบอร์นาดอตต์ รวมทั้งการชอบกล่าวอ้างใหญ่โตของเขา ซึ่งเป็นไปได้ว่า นโปเลียนระแวงว่า ต่อไปในภายภาคหน้า เบอร์นาดอตต์จะกลายมาเป็นคู่แข่งของเขา ! (โปรดติดตามตอนต่อไป)

(ส่วนหนึ่งจากโครงการวิจัย “การเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ: ศึกษากรณีสหราชอาณาจักร ราชอาณาจักรสวีเดนและราชอาณาจักรภูฏาน” ได้รับทุนสนับสนุนงานวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ปีงบประมาณ 2560)