ร่างพระราชกฤษฎีกาที่ 1 ว่าด้วยราชประเพณีกรุงสยาม (1)
โดย...ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร
**************
ร่างพระราชกฤษฎีกาที่ 1 ว่าด้วยราชประเพณีกรุงสยาม เป็นเอกสารที่ท่านอาจารย์วิษณุ เครืองาม ได้กล่าวถึงในบทความวิชาการที่ตีพิมพ์ พ.ศ. 2521 ว่า ร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้เพิ่งเป็นที่เปิดแพร่หลายไม่นานมานี้ ซึ่งท่านไม่ได้กล่าวว่าเปิดเผยมาเมื่อปี พ.ศ. อะไร แน่ ดังนั้นเอกสารร่างพระราชกฤษฎีกาฯนี้น่าจะเปิดเผยก่อน พ.ศ. 2521 ไม่นาน ส่วนในวิกิพีเดียบอกด้วยว่า ผู้ค้นพบเอกสารฯฉบับนี้คือ คุณปรีชา ศรีชลาลัย แต่ก็ไม่ได้บอกว่าค้นพบปีอะไรอยู่ดี คงต้องไปตามอ่านในหนังสือหลายเล่มของคุณปรีชากันต่อไป
คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย พ.ศ. 2545 ได้ให้ความเห็นว่า ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าร่างนี้ทำขึ้นเมื่อใด แต่สันนิษฐานว่าหลัง ร.ศ. 113 หรือ พ.ศ. 2437 หรือในช่วงเวลาประมาณนั้น เป็นปีที่ 26 ในรักาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
มีการสันนิษฐานว่า ร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้น่าจะเป็นผลมาจากคำกราบบังคมทูลถวายความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงการปกครองราชการแผ่นดิน ร.ศ. 103(พ.ศ. 2427) ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งแรกของสยาม อาจารย์ วิษณุ เห็นว่า ร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้น่าจะมีสถานะของการเป็นร่างรัฐธรรมนูญด้วย หากไม่ยึดติดกับเงื่อนไขที่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญได้จะต้องเป็นประชาธิปไตยเท่านั้น
ในส่วนของผู้เขียน จากการศึกษาประวัติศาสตร์ของประเทศตะวันตกอย่างเดนมาร์กและสวีเดน พบว่า ทั้งสองประเทศอ้างว่าประเทศตนมีรัฐธรรมนูญ แม้จะยังไม่ได้เป็นประชาธิปไตย เช่น เอกสารกฎหมายของเดนมาร์กที่เรียกว่า Kongelov ที่ประกาศใช้ในปี ค.ศ. 1665 ถือเป็นรัฐธรรมนูญที่สถาปนาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (หรือเป็นเพียงราชาธิปไตยก็แล้วแต่มุมมอง) ของเดนมาร์ก และมีการบังคับใช้เรื่อยมาจนเกิดการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในปี ค.ศ. 1849 เดนมาร์กได้ตีพิมพ์รัฐธรรมนูญดังกล่าวรองรับพระราชสิทธิ์และพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ และการสืบราชสันตติวงศ์ตามสายโลหิตอย่างแท้จริงโดยไม่จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับความเห็นชอบของเหล่าอภิชนขุนนางอีกต่อไป และ Kongelov ถือเป็นรัฐธรรมนูญสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่เป็นทางการฉบับเดียวของยุโรปด้วย
หรือในกรณีของสวีเดน ก็มีการนับว่ากฎหมายแห่งแผ่นดิน (Land Law/ landslag) ที่ตราขึ้นในปี ค.ศ. 1350 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของสวีเดน หรือไม่ก็นับว่า กฎหมายรูปแบบการปกครองหรือระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ที่บังคับใช้ในปี ค.ศ. 1634 ที่เรียกว่า “the Form of Government” หรือ “the Instrument of Government” (Regeringsform) เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรก แม้ว่าสวีเดนขณะนั้นจะยังไม่ได้เป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือเป็นประชาธิปไตย
และหากจะเปรียบเทียบร่างพระราชกฤษฎีกาที่ 1 นี้ในฐานะรัฐธรรมนูญ ก็ควรเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรของเดนมาร์กหรือสวีเดนที่กล่าวไปมากกว่าจะไปเปรียบเทียบกับของอังกฤษ เพราะอังกฤษใช้รัฐธรรมนูญจารีตประเพณี
อย่างไรก็ตาม ร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ก็อยู่ในสถานะของการเป็นร่าง เพราะไม่ได้ประกาศใช้ แต่มีการประกาศใช้ พระราชกฤษฎีกาฉบับต่อๆมา นั่นคือ ฉบับที่สอง ว่าด้วยวิธีแลกระบวนการชุมนุมปฤกษาของรัฐมนตรีสภา องคมนตรีสภา เสนาบดีสภา (พ.ศ. 2435) ฉบับที่สาม ว่าด้วยรัฐมนตรีสภาฤาลูกขุน ณ ศาลหลวง พระราชกฤษฎีกาเรื่ององคมนตรีสภาฤาที่ปฤกษาราชการในพระองค์ และพระราชกฤษฎีกาฉบับที่ห้า ว่าด้วยเสนาบดีสภา ฤาลูกขุน ณ ศาลา จะเห็นได้ว่า แม้ว่าจะไม่มีการประกาศใช้ฉบับที่หนึ่ง แต่ฉบับที่ประกาศใช้ก็เป็นเป็นกฎหมายลูกหรือกฎหมายที่ต่อยอดจากร่างฉบับที่หนึ่งนั่นเอง
เท่าที่สืบค้น ยังไม่พบคำอธิบายสาเหตุที่ไม่มีประกาศใช้ร่างฉบับที่หนึ่งนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ก็น่าสนใจศึกษาวิเคราะห์และพยายามตอบคำถามที่ยังคั่งค้างอยู่ อีกทั้งอย่างน้อย ร่างดังกล่าวนี้ก็สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดของรูปแบบการปกครองที่มีผู้ปรารถนาตั้งใจจะสถาปนาให้เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ห้า นอกเหนือไปจากการปฏิรูประบบราชการแผ่นดินที่ให้มีกระทรวงทบวงกรม และยกเลิกระบบเวียง วัง คลัง นาที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา
เริ่มจากมาตราที่หนึ่ง: “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเปนพระเจ้าแผ่นดิน ฤาพระเจ้ากรุงสยาม เปนบรมราชาธิราชแห่งมลาวประเทศ มลายูประเทศ กเหรี่ยง ฯลฯ ผู้ทรงพระคุณธรรมอันมหาประเสริฐ”
สังเกตได้ว่า มาตราหนึ่งนี้กำหนดความชัดเจนของขอบเขตดินแดนและประชาชนที่อยู่ภายใต้การปกครองของพระเจ้าแผ่นดิน ดังนั้น มาตรานี้ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของสิ่งที่เรียกว่ารัฐ โดยเฉพาะอย่างรัฐสมัยใหม่ที่ครูบาอาจารย์มักจะสอนว่ารัฐประกอบไปด้วย ดินแดน ประชาชน อำนาจอธิปไตยและรัฐบาล
น่าเสียดายที่ผู้เขียนไม่สามารถเปรียบเทียบมาตราหนึ่งของร่างพระราชกฤษฎีกาฯกับรัฐธรรมนูญสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ค.ศ. 1665 (พ.ศ. 2208) ได้ เพราะยังไม่สามารถค้นพบเอกสารฉบับสมบูรณ์ของรัฐธรรมนูญเดนมาร์กฉบับนี้ ส่วนที่พอค้นได้ก็อยู่ในภาษาเดนนิช ดังนั้น ผู้เขียนจึงขอเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญสวีเดน ค.ศ. 1720 (พ.ศ. 2263) ซึ่งกล่าวไว้เพียงว่า “...เป็นพระมหากษัตริย์แห่งสวีเดน แห่งชาวกอร์ธและชาวเวนด์ และอื่น ๆ” และหากเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญสวีเดน ค.ศ. 1772 (พ.ศ. 2315) ก็กล่าวไว้ใน มาตรา 2 เพียงว่า “พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจที่จะปกครองแผ่นดินของพระองค์ตามกฎหมายของบรรดารัฐในดินแดนสวีเดน” โดยมิได้กล่าวชัดเจนว่า บรรดารัฐในดินแดนสวีเดนที่ว่านี้ได้แก่ดินแดนส่วนไหนบ้าง เพราะถ้าศึกษาประวัติศาสตร์สวีเดนก่อนและหลัง ค.ศ. 1772 จะพบว่า ดินแดนดังกล่าวนั้นยังไม่มีความนิ่งแน่นอน อย่างเช่น ฟินแลนด์และพอมเมอราเนีย เป็นต้น
ต่อมาในรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1809 อันเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้ต่อเนื่องมาเป็นเวลาราวร้อยห้าสิบปี ในมาตรา 1 ได้บัญญัติไว้ว่า “ราชอาณาจักรสวีเดนจะอยู่ภายใต้การปกครองของพระมหากษัตริย์…..”
ขณะเดียวกัน ก็กล่าวถึงพระมหากษัตริย์ไว้ในส่วนอารัมภบทของรัฐธรรมนูญไว้ว่า “สมเด็จพระเจ้าคาร์ล พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรสวีเดน โกเธ่อรส์ เวนเดอร์ส เจ้าชายแห่งนอร์เวย์ ดยุคแห่งชเลสวิก ฮอลสไตน์ สโตมาร์น ดิทมาร์สเกน เคาท์แห่งโอลเดนเบิร์ก เดลเมนฮอสต์” และถ้าเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญเดนมาร์ก ค.ศ. 1849 (พ.ศ. 2392) ที่ถือเป็นรัฐธรรมนูญแห่งระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ในส่วนอารัมภบทได้กล่าวว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าเฟรเดอริกที่เจ็ด กษัตริย์แห่งราชอาณาจักรเดนมาร์ก เวนเดอร์ โกเธ่อรส์ ดยุคแห่งชเลสวิก ฮอลสไตน์ สโตมาร์น ดิทมาร์สเกน เลาเอนเบอร์ก โอลเดนบอร์ก”
จะเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญสวีเดน ค.ศ. 1809 และของเดนมาร์ก ค.ศ. 1849 มีความพยายามที่จะกำหนดความชัดเจนของขอบเขตดินแดนและประชาชนที่อยู่ภายใต้การปกครองของพระมหากษัตริย์และภายใต้รัฐธรรมนูญของตน แต่จะเห็นถึงความทับซ้อนของสถานะของการเป็นกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรทั้งสองอยู่
แต่ถ้าพิจารณารัฐธรรมนูญเดนมาร์กฉบับปัจจุบัน (ตั้งแต่ ค.ศ. 1953) ในมาตรา 1 ได้กำหนดไว้ชัดเจนแน่นอนถึงดินแดนภายใต้รัฐธรรมนูญ อันได้แก่ เดนมาร์ก หมู่เกาะแฟโรและกรีนแลนด์” และกล่าวถึงสมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 2 ว่าทรงเป็นสมเด็จพระราชินีนาถแห่งราชอาณาจักรเดนมาร์กเท่านั้น และในรัฐธรรมนูญสวีเดนฉบับปัจจุบัน (ตั้งแต่ ค.ศ. 1974) กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้กับสวีเดน และกล่าวถึง สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟว่าทรงเป็นสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งสวีเดน
กล่าวได้ว่า ร่างพระราชกฤษฎีกาที่ 1 และรัฐธรรมนูญสวีเดน ค.ศ. 1720 และรัฐธรรมนูญเดนมาร์ก ค.ศ. 1849 มีลักษณะของความพยายามที่จะให้เป็นรัฐธรรมนูญในแบบรัฐสมัยใหม่ที่พยายามกล่าวถึงความชัดเจนของดินแดนภายใต้การปกครอง
ขณะเดียวกันที่คณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ไทย พ.ศ. 2545 ได้ให้ความเห็นว่า ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าร่างพระราชกฤษฎีกานี้ทำขึ้นเมื่อใด แต่สันนิษฐานว่าหลัง ร.ศ. 113 หรือ พ.ศ. 2437 หรือในช่วงเวลาประมาณนั้น แต่ผู้เขียนสันนิษฐานว่า อาจจะทำขึ้นก่อนหรือในช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์สงครามฝรั่งเศส-สยาม ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) ที่สยามถูกบังคับให้
“ยอมสละข้ออ้างทั้งปวงว่า มีกรรมสิทธิอยู่เหนือดินแดนทั่วไปทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง และบรรดาเกาะทั้งหลายในแม่น้ำนั้น ห้ามมิให้มีเรือติดอาวุธไว้ใช้ หรือเดินไปมาในน่านน้ำของทะเลสาบ และของแม่น้ำโขง และลำน้ำที่แยกจากแม่น้ำโขง ไม่สร้างค่ายหรือที่ตั้งกองทหารไว้ในเมืองพระตะบอง และเมืองนครเสียมราฐ และบนฝั่งขวาแม่น้ำโขงในรัศมี 25 กิโลเมตร โดยให้บุคคลสัญชาติฝรั่งเศสก็ดี บุคคลในบังคับหรือในปกครองฝรั่งเศสก็ดี จะไปมาหรือค้าขายได้โดยเสรี”
และหลังจากที่ต้องยอมเสียดินแดนที่เป็นส่วนของ “มลาวประเทศ” หรือลาวไป ทำให้ต้องชะลอการประกาศใช้ร่างพระราชกฤษฎีกานี้ไป เพื่อจะให้มีการแก้ไขมาตราหนึ่งที่เคยร่างไว้ว่า ““สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเปนพระเจ้าแผ่นดิน ฤาพระเจ้ากรุงสยาม เปนบรมราชาธิราชแห่งมลาวประเทศ มลายูประเทศ กเหรี่ยง ฯลฯ....”
ซึ่งภายใต้สถานการณ์วิกฤตกับฝรั่งเศสและอังกฤษตลอดรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ดินแดนต่างๆที่เคยอยู่กับสยามอยู่ในสภาพที่ไม่นิ่ง เพราะหลังจากที่ต้องเสียดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงให้กับฝรั่งเศสไปในปี พ.ศ. 2436 ต่อมาในปี พ.ศ. 2446 ก็ต้องเสียดินแดนฝั่งขวาไปให้ฝรั่งเศส และเสียมลฑลบูรพา (พระตะบอง,เสียมราฐ,ศรีโสภณ) ให้กับฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2449 และเสียรัฐกลันตัน,ตรังกานู,ไทรบุรี, ปริส ให้กับอังกฤษในปี พ.ศ.2451
เป็นไปได้อย่างยิ่งว่า การจัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาที่ 1 นี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทรงมีพระราชประสงค์จะให้ถือเป็นรัฐธรรมนูญรัฐสมัยใหม่ของสยามเพื่อไว้ใช้ในการยืนยันอาณาเขตดินแดนที่อยู่ภายใต้พระเจ้ากรุงสยามที่เป็นบรมราชาธิราชแห่งลาว มลายู กระเหรี่ยง ฯลฯ แต่คงไม่ทันการ ซึ่งปัญหาในเรื่องอาณาเขตดินแดนที่แน่นอนตามกฎหมายระหว่างประเทศอันเป็นกติกาหรือระเบียบโลกที่ชาวยุโรปจัดตั้งขึ้นมา โดยเริ่มจากระเบียบที่ใช้ในยุโรปเองและปรับปรุงขยายไปสู่ภูมิภาคอื่นๆนี้ เป็นปัญหาที่พม่าต้องเผชิญมาก่อนในรัชสมัยพระเจ้าปะดุง ที่พระองค์ทรงมั่นพระทัยใน “ความยิ่งใหญ่” ของพม่าในภูมิภาคดังกล่าว และเป็นฝ่ายละเมิดพรมแดนของอังกฤษ โดยราชสำนักพม่ายังไม่ตระหนักถึง “กฎหมายระหว่างประเทศ”
ในปี พ.ศ. 2408 ช่วงปลายรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้ทรงมีพระราชสาส์นไปถึงสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย และได้ทูลขอให้ทางอังกฤษส่งกงสุลคนใหม่มาแทนเซอร์ รอเบิตส และระบุคุณสมบัติว่าขอให้เป็นผู้ที่
“...ฉลาดในอินเตอรนาแชนนาลลอ (กฎหมายระหว่างประเทศ/ผู้เขียน) ว่าถึงการใหญ่ ๆ ในการบ้านเมือง ควรเป็นที่ปรึกษาหารือให้ ช่วยผู้ครองแผ่นดินฝ่ายสยาม ซึ่งเป็นผู้ครอบครองเมื่อมีอานุภาพน้อยนี้ ในที่จะคิดอ่านการใหญ่ๆ กันภัย ซึ่งจะมีเพราะความเข้าใจผิดแต่ผู้มีอํานาจต่าง ๆ ที่ไปมา...ถึงกระนั้นผู้ครองฝ่ายสยามรู้ตัวว่าเป็น ผู้อยู่ไกลแต่ยุโรป ยังไม่สู้เข้าใจชัดแท้แลคุ้นเคยในกฎหมายอย่างธรรมเนียมอันดีของบ้านเมืองในยุโรป ซึ่งเป็นเมืองเรียบร้อยมานาน แลเป็นเมืองสว่างด้วยการอันดีก็ย่อมยอมความทั้งปวงนั้น ให้กรุงบริตาเนียกับเสนาบดีในกรุงลอนดอนตัดสินใจไม่สงสัย ตั้งใจจะคอยฟังรับสั่งของกรุงบริตาเนีย แลบัญชา ของเสนาบดีเมื่อมีบังคับมาประการใดก็จะยอมทําตาม”
แต่หลังจาก พ.ศ. 2408 เมื่อถึง พ.ศ. 2436 ที่มีการจัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาที่หนึ่งเป็นรัฐธรรมนูญรัฐสมัยใหม่ก็ด้วยหวังจะใช้เป็นเครื่องมือในการเจรจายืนยันอำนาจอธิปไตยในดินแดนภายใต้พระเจ้ากรุงสยามก็ไม่ประสบความสำเร็จ
ปัญหารัฐธรรมนูญรัฐสมัยใหม่นี้ก็เป็นปัญหาที่สวีเดนเคยเผชิญในปี ค.ศ. 1809 ที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในขณะที่กำลังทำศึกสงครามรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นกับเดนมาร์ก-นอร์เวย์ รัสเซีย ฝรั่งเศสโดยมเดิมพันคือดินแดนที่เป็นของสวีเดนและดินแดนอื่นๆที่เป็นกรณีพิพาท ด้วยเหตุนี้ หลังจากยึดอำนาจจากพระเจ้ากุสตาฟที่สี่ คณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงร่างรัฐธรรมนูญออกมาเร่งรีบเพื่อใช้ในการเจรจาต่อรองทำสนธิสัญญาสันติภาพกับชาติคู่กรณี แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
กล่าวได้ว่า มาตราหนึ่งของร่างพระราชกฤษฎีกาที่หนึ่งและการไม่ได้ประกาศใช้ร่างดังกล่าวนี้ ดูจะสอดคล้องกับสาระสำคัญของหนังสือ Siam Mapped, a history of the Geo-body of a Nation (กำเนิดสยามจากแผนที่ ประวัติศาสตร์ภูมิกายาของชาติ) ของศาสตราจารย์ ดร. ธงชัย วินิจจะกูล แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสันที่กล่าวว่า “ความเป็นไทย” นั้นเป็นสิ่งเลื่อนไหล...และเทคโนโลยีหนึ่งที่สำคัญ ในการสร้างชาติ ก็คือ การมีอยู่ของแผนที่ที่ผู้เขียนเห็นว่า มาตราหนึ่งคือลายลักษณ์อักษรที่จะรองรับแผนที่ที่จัดทำขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน
แผนที่เดนมาร์ก ค.ศ. 1849 แผนที่อาณาเขตสยาม ช่วงต้นรัตนโกสินทร์
ข้อสรุปที่ได้จากงานของธงชัยคือ แผนที่รูปขวานที่เราคุ้นชินนั้น ไม่เคยปรากฏขึ้นในมโนภาพของคนในภูมิภาคนี้มาก่อน จนกระทั่งช่วงสมัย รัชกาลที่ 5 จึงมีความสมบูรณ์มากขึ้น โดยถูกรับรู้โดยชนชั้นปกครองก่อน แล้วหลังจากนั้นมันจึงถูกถ่ายทอดลงมาสู่คนทั่วไปในช่วงร้อยปีมานี้นี่เอง......
”ความเป็นไทย” นั้น ไม่ใช่สิ่งที่เกิดจากวัฒนธรรมของคนในภูมิภาค แล้วถูกเน้นขึ้นมาภายหลัง แต่จริงๆแล้วมันเป็นกระบวนการแบบ top-down คือ มันเป็นประดิษฐกรรมทางวัฒนธรรมโดยชนชั้นสูง สร้างขึ้นเพื่อสร้าง "ชาติ" ที่มีตัวเองเป็นศูนย์กลาง และขจัดความหลากหลายให้กลายเป็นประเทศที่คนกลายเป็นรูปแบบเดียวกัน สร้างมาตรฐาน “ความเป็นไทย” ขึ้นมาเพื่อควบคุมประชาชน และส่งผลให้ประชาชนก็ควบคุมกันเองด้วย ประดิษฐกรรมนี้คือ การสร้างทั้งวัฒนธรรมใหม่ มโนภาพใหม่ เครื่องมือใหม่ วิธีการใหม่ รวมถึงประวัติศาสตร์ใหม่ ร่วมกันเพื่อสร้างให้วาทกรรมของชาตินี้ดูกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จนทำให้คนรู้สึกหลงคิดไปว่า นี่คือ “ความเป็นธรรมชาติของความเป็นไทย” แล้วมันจึงทำให้นิยามของ “ชาติไทย” เป็นรูปธรรมจับต้องได้ขึ้นมา
ซึ่งผู้เขียนขอเสริมว่า เงื่อนไขดังกล่าวนี้มิได้เกิดขึ้นเฉพาะกับไทยและชนชั้นปกครองไทยเท่านั้น แต่เกิดขึ้นกับชนชั้นปกครองของประเทศต่างๆในยุโรปเช่นเดียวกันโดยสาระสำคัญคือการเป็น “พระราชารักษาเมือง” ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของบริบทของความขัดแย้งและการดิ้นรนต่อสู้ในการเมืองระหว่างประเทศที่ต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าจะลงตัว และในปัจจุบัน ก็พบว่า ในหลายประเทศก็ยังไม่ลงตัว
คราวหน้าผู้เขียนจะได้เชื่อมโยงความพยายามของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในการจัดทำแผนที่สยามตามแบบของตะวันตกที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2418 กับร่างพระราชกฤษฎีกาที่หนึ่งว่าด้วยราชประเพณีกรุงสยาม ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของ “พระราชารักษาเมือง” ในการรับมือกับวิกฤตการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตกในสมัยรัชกาลที่ห้า พร้อมยกตัวอย่างที่คล้ายกันของประเทศอื่นๆ