posttoday

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่แปด): อัตราการอ่านออกเขียนได้

20 เมษายน 2564

โดย...ไชยันต์ ไชยพร 

****************

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่แปด): อัตราการอ่านออกเขียนได้

ที่ผมมาเขียนเรื่องนี้ ก็เพราะมักจะมีการกล่าวเปรียบเทียบไทยกับญี่ปุ่นว่า เริ่มการปฏิรูปสมัยใหม่ในเวลาใกล้เคียงกัน นั่นคือ ญี่ปุ่นปฏิรูปในสมัยเมจิซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ห้าของเรา และก็จะมีการตั้งคำถามว่า ทำไมไทยเราล้าหลังกว่าเขาเยอะ และมีการเปรียบเทียบในประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์ของสองประเทศ ผมเลยทำตัวเป็นมือใหม่สมัครเล่นลองค้นข้อมูลเกี่ยวกับญี่ปุ่น-ไทยมาเปรียบเทียบ เพื่อจะได้หาสาเหตุว่า ทำไมเราถึงล้าหลัง

อย่างที่กล่าวไปในตอนก่อนๆ ญี่ปุ่นและไทยเผชิญกับมหาอำนาจตะวันตกในเวลาไล่เลี่ยกัน และในลักษณะคล้ายๆกัน นั่นคือ ฝรั่งเอาเรือปืนเข้ามาในน่านน้ำ และเชิญแกมบังคับให้ทำสนธิสัญญาอะไรต่างๆ จากนั้น ทั้งสองประเทศก็เริ่มปรับตัวพัฒนาประเทศให้ทันสมัย และเมื่อค้นคว้าลงไป จะพบว่า ก่อนหน้าที่ญี่ปุ่นจะเปิดประเทศในสมัยเมจิ ญี่ปุ่นคบค้ากับฝรั่งฮอลันดามาตลอดหลังจากไม่คบชาติอื่น (ของไทยเราก็ไล่ฝรั่งออกไปในสมัยพระเพทราชา หลังญี่ปุ่นไล่ฝรั่ง) ที่คบกับฮอลันดา เพราะฮอลันดาไม่ยุ่งเรื่องศาสนาหรือการเมือง แต่เน้นๆไปที่การค้าขาย

ตลอดเวลาสองร้อยห้าสิบปีหลังญี่ปุ่นไล่ฝรั่งชาติอื่น ญี่ปุ่นยังติดต่อฮอลันดา และมีการส่งผ่านความรู้ตะวันตกเข้าสู่สังคมญี่ปุ่น โดยมีเมืองเดฌิมะเป็นฐาน ดังนั้น คนญี่ปุ่นจึงเรียนภาษาดัทช์และอ่านตำราต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการแพทย์ ดาราศาสตร์ ฟิสิกซ์ ฯลฯ อีกทั้งกลุ่มคนที่ศึกษาความรู้ตะวันตกคือ ซามูไร เพราะช่วงสองร้อยห้าสิบปี สังคมญี่ปุ่นไม่มีสงคราม ที่สำคัญคือ สังคมญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลการศึกษาแบบขงจื่อด้วย ที่เน้นการเรียนรู้อย่างจริงจัง

ดังนั้น ญี่ปุ่นจึงมีฐานความรู้และการอ่านออกเขียนได้มาก่อนการปฏิรูปเมจิ และหลังจากญี่ปุ่นประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกในปี พ.ศ.2432  อีกหนึ่งปีต่อมา ก็สามารถจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปได้ทันที ภายใต้เงื่อนไขที่มีประชาชนญี่ปุ่นที่อ่านออกเขียนจำนวนถึงร้อยละ 40 มากกว่าบางประเทศในยุโรปในช่วงเวลาเดียวกันด้วย

ส่วนของไทยเรานั้น ดูจะไม่มีฐานอะไรแบบนี้ ? หรือถ้ามี ผู้ศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยที่เป็นมืออาชีพน่าจะช่วยตอบได้ดีกว่าผม

และในตอนล่าสุด ผมได้พูดเปรียบเทียบการทำพจนานุกรมภาษาอังกฤษฉบับแรกของญี่ปุ่นกับของไทย ก็พบว่า ญี่ปุ่นมีพจนานุกรมอังกฤษ-ญี่ปุ่นฉบับแรกในปี พ.ศ. 2403 โดยซามูไรปัญญาชนที่ชื่อ ฟุกุสะวะ ส่วนของไทยเรามีพจนานุกรมอังกฤษ-ไทยฉบับแรกในปี พ.ศ. 2493 โดยบัณฑิตธรณีวิทยาจากลอนดอต ที่ชื่อ สอ เสถบุตร และจะว่าไปแล้ว ไทยเรามีพจนานุกรมช้ากว่าญี่ปุ่นเกือบหนึ่งร้อยปี

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่แปด): อัตราการอ่านออกเขียนได้

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่แปด): อัตราการอ่านออกเขียนได้

แต่จะมีพจนานุกรมช้าเร็วไม่สำคัญเท่าคนไทยรู้จักใช้พจนานุกรมไหม ? และแน่นอนว่า เงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้เราสามารถใช้พจนานุกรมอังกฤษ-ไทยได้ คือ อย่างน้อยต้องอ่านภาษาไทยออก

ผมไม่มีตัวเลขอัตราการอ่านออกเขียนของคนไทยในปี พ.ศ. 2403 ที่จะเทียบกับของญี่ปุ่น แต่มีตัวเลขในช่วงทศวรรษ พ.ศ.2493 (หรือทศวรรษ 1950) จาก “การศึกษาในประเทศไทย: ประวัติศาสตร์ การอ่านออกเขียนได้ สตรี ปัญหามหาวิทยาลัย การปรับปรุง”  (http://factsanddetails.com/southeast-asia/Thailand/sub5_8g/entry-3297.html#chapter-1) พบว่า อัตราการออกเขียนได้ของคนไทยที่โตแล้วในช่วงทศวรรษ พ.ศ.2493 คือ ร้อยละ 50 ดังนั้น เมื่อเทียบกับญี่ปุ่นปี พ.ศ.2403 ที่มีพจนานุกรมและมีคนญี่ปุ่นอ่านออกเขียนได้ร้อยละ 40 ส่วนของไทยมีพจนานุกรมปี พ.ศ.2493 และมีคนไทยอ่านออกเขียนได้ ร้อยละ 50 ถือว่าของไทยสูงกว่าด้วย น่าจะเป็นพื้นฐานที่ดีในการต้อนรับพจนานุกรม

คำถามต่อจากอัตราการอ่านออกเขียนได้คือ คนไทย คนญี่ปุ่น ชอบอ่านหนังสือกันแค่ไหน ? และของใครมากกว่ากัน ? และชอบอ่านอะไร ? ซึ่งผมคงจะต้องไปค้นหาข้อมูลมาตอบ หรือไม่คนที่รู้ก็น่าจะมาช่วยแชร์ข้อมูลกัน

แต่ผมมีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการอ่านออกเขียนได้และการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในการสร้างจิตสำนึกทางการเมืองในช่วงปลายรัชกาลที่ห้าและรัชกาลที่หก  ข้อมูลนี้มาจากการศึกษาวิเคราะห์ของอาจารย์ชัชพันธุ์ ยิ้มอ่อน อาจารย์สาขารัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏวลัยอลงกรณ์ ที่ขณะนี้กำลังทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกที่รัฐศาสตร์ จุฬาฯ

จากการศึกษาของอาจารย์ชัชพันธุ์พบว่า ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เริ่มมีการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับ “ประเทศสยาม” “ชาติไทย” และ “ความเป็นไทย” สู่ประชาชนในสังคมโดยผ่านตัวหนังสือ โดยตัวหนังสือเป็นตัวทำหน้าที่ทั้งสื่อความหมายและสร้างมโนภาพให้กับพลเมืองได้รับรู้ว่าตนเองอาศัยอยู่ในประเทศสยามและรับรู้เรื่องอาณาเขตรวมไปถึงประเทศเพื่อนบ้าน

อาจารย์ชัชพันธุ์ได้ค้นข้อมูลการสำรวจสำมะโนประชากรสยาม ซึ่งมีการสำรวจอย่างเป็นทางการครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 ปี พ.ศ.2453 โดยกระทรวงมหาดไทย ปรากฏว่าจำนวนพลเมืองสยามใน 17 มณฑล พบว่ามีประชากรในสยามทั้งสิ้น 8,131,247 คน ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 มีการระบุจำนวนประชากรของสยามในปี พ.ศ. 2468 มีทั้งสิ้นประมาณ 9 ล้านคน

ช่องทางหนึ่งในการถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกระทำผ่านกิจการลูกเสือ ซึ่งสมาชิกแรกเริ่มมีจำนวน 141 คน ต่อมาในปี พ.ศ.2460 มีจำนวนเสือป่าทั้งสิ้น 8,566 คน นอกจากนี้พระองค์ยังได้ดำเนินการเผยแพร่อุดมการณ์ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” ผ่านตำราและวิชาเรียนในระบบการศึกษาภาคบังคับ ซึ่งได้เริ่มต้นในปี พ.ศ.2464 ในช่วงนั้นจำนวนตำบลที่มีการศึกษาภาคบังคับมี 2,311 ตำบลจากจำนวนตำบลทั้งสิ้น 5,050 ตำบล และในปี พ.ศ.2468 มีการศึกษาภาคบังคับในตำบล 3,792 ตำบลจากจำนวนตำบลทั้งสิ้น 4,968 ตำบล ส่วนจำนวนนักเรียนที่ได้รับการศึกษาภาคบังคับในปี พ.ศ.2468 มีทั้งสิ้น 572,083 คน

ดังนั้นด้วยจำนวนผู้รู้หนังสือ การเข้าเป็นสมาชิกกองเสือป่า น่าจะเป็นหลักฐานที่พอจะเป็นสมมติฐานยืนยันในเบื้องต้นได้ว่า การสร้างมโนภาพร่วมกันให้กับคนในชาติของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นแค่ช่วงเริ่มต้น จิตสำนึกความเป็นชาติยังคงมิได้เผยแพร่ไปสู่มวลชลอย่างกว้างขวางหากเทียบกับจำนวนประชากรของสยามทั้งประเทศกับจำนวนผู้รู้หนังสือและมีจิตสำนึกร่วมเป็นคนชาติเดียวกัน ซึ่งจำเป็นต้องสร้างและพัฒนาเป็นกระบวนการต่อเนื่องและยาวนาน

แต่ในบรรดาคนไทยจำนวนน้อยที่อ่านออกเขียนได้ เพราะ  “นักเรียนที่ได้รับการศึกษาภาคบังคับในปี พ.ศ. 2468 มีทั้งสิ้น 572,083 คน”  นับเป็นร้อยละ 6 ของประชากรทั้งหมด 9 ล้านคน มีคนๆหนึ่งที่ชื่อ “อ่ำ บุญไทย” (ครูอ่ำ) ที่ผมทึ่งกับความรู้ของครูอ่ำมาก ครูอ่ำมีงานเขียนชื่อ “กฤดาการบนที่ราบสูง” ตีพิมพ์ปี พ.ศ.2476 อันเป็นปีที่ไทยมีการเลือกตั้งครั้งแรกในวันที่ 15 พฤศจิกายน เป็นการเลือกตั้งทางอ้อม นั่นคือ ให้มีการเลือกผู้แทนตำบล แล้วผู้แทนตำบลค่อยไปเลือกผู้แทนราษฎรระดับจังหวัดอีกทีหนึ่ง

ครูอ่ำเกิดเมื่อ พ.ศ. 2443  แกคงไม่ได้อยู่ภายใต้การศึกษาภาคบังคับ เพราะระบบการศึกษาภาคบังคับ เริ่มต้นในปี พ.ศ.2464 ปรากฏว่า ความรู้ของแกที่ปรากฏใน “กฤดาการบนที่ราบสูง” นั้นน่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง ที่ว่าอัศจรรย์ เพราะความรู้ที่แกถ่ายทอดในหนังสือนี้เป็นความรู้ทางทฤษฎีการเมืองและเศรษฐศาสตร์ ที่ผมคิดว่า คนปัจจุบันส่วนใหญ่ก็รู้ไม่เท่า ! ไว้เล่าตอนต่อไปครับ

เปรียบเทียบการปฏิรูปการเมืองการปกครองญี่ปุ่น-ไทย (ตอนที่แปด): อัตราการอ่านออกเขียนได้