ยุทธศาสตร์การต่างประเทศไทยต่อสหรัฐฯ กับ Truman Show
โดย...ศุภมิตร ปิติพัฒน์
*****************
วันศุกร์นี้ชั้นเรียนสัมมนาการต่างประเทศ : แนวคิดและปฏิบัติ ก็ได้เวลาปิดภาค สัปดาห์ก่อนเราเปิดอภิปรายโดยใช้ The Future of Thai-US Relations: Views of Thai and American Leaders on the Bilateral Relationship and Ways Forward ที่ Asia Foundation จัดทำขึ้นและตีพิมพ์ออกมาในปี 2018 เป็นตัวตั้ง เอกสารนี้เป็นผลจากการสำรวจความคิดเห็นและการประชุมแลกเปลี่ยนข้อคิดระหว่างผู้นำในวงการต่างๆ ของทั้ง 2 ประเทศ ในช่วงเวลาที่สหรัฐอเมริกาอยู่ในสมัยรัฐบาลทรัมป์ และเป็นช่วงก่อนที่ไทยจะมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
แม้ว่าเป็นรายงานเมื่อหลายปีก่อน และเหตุการณ์ภายหลังจากนั้นอาจทำให้บางเรื่องบางความเห็นในรายงานดังกล่าวล้าสมัยไปบ้าง แต่ความเห็นของคนหลายฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับนโยบายหรือความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ต่อสภาพความสัมพันธ์ในปัจจุบันและทิศทางความร่วมมือในอนาคต เมื่อนำมาใช้ตั้งเป็นโจทย์ให้นิสิตคิดต่อ ก็ช่วยให้ได้ประเด็นเกี่ยวกับแนวทางยุทธศาสตร์การต่างประเทศของไทยที่น่าสนใจหลายเรื่องด้วยกัน ผมขออนุญาตท่านผู้อ่านนำข้อคิดบางส่วนจากชั้นเรียนสัมมนาของเรามารายงานในบทความเดือนนี้
ประการแรกสุด การอภิปรายในชั้นเรียนเป็นไปในทางสนับสนุนความเห็นที่พบในรายงานข้างต้นโดยเฉพาะในข้อที่ว่า ไทยควรหาทางหลีกเลี่ยงสภาวะที่ถูกบีบให้ต้องเลือกข้าง ไม่ว่าจะเป็นข้างสหรัฐฯ หรือข้างจีน สมาชิกในชั้นเห็นว่าการที่ประเทศอำนาจน้อยและกำลังมีข้อจำกัดจากปัญหาเศรษฐกิจการเมืองภายใน ถ้าหากถูกบีบให้ต้องไปเข้าสังกัดอยู่กับมหาอำนาจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ในขณะที่มหาอำนาจ 2 ฝ่ายกำลังแข่งขันสกัดทัดทานอิทธิพลของกันและกันอย่างเข้มข้น จะทำให้ประเทศที่มีอำนาจจำกัดต้องเผชิญกับความเสี่ยงอย่างน้อย 2 ทางพร้อมกัน
ทางแรก การสังกัดฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นการสังกัดฝ่ายจีนไปสกัดสหรัฐฯ หรือการเข้าสังกัดกับฝ่ายสหรัฐฯ ไปสกัดจีน จะทำให้ประเทศอำนาจน้อยตกอยู่ในความสัมพันธ์แบบพึ่งพิง มีอำนาจต่อรองน้อยลง และจะถูกมหาอำนาจต้นสังกัดเข้ามาครอบงำกระทบต่ออิสระในการกำหนดและดำเนินนโยบายต่างๆ ได้ง่าย ความเสี่ยงอีกทางหนึ่งมาจากมหาอำนาจฝ่ายตรงข้ามอาจตอบโต้ประเทศอำนาจน้อยที่เลือกปรับแกนความสัมพันธ์เข้าข้างปรปักษ์ ด้วยเครื่องมือกดดันสารพัดวิธี ทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมือง และปฏิบัติการข่าวสาร ในทางที่จะสร้างปัญหาความปั่นป่วนต่อความมั่นคงภายในหรือซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจที่ประเทศอำนาจน้อยกำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้ได้ไม่ยาก
อย่างไรก็ดี จากการอภิปราย นิสิตเห็นว่าสถานการณ์ที่เอื้อให้ประเทศอำนาจน้อยไม่ต้องเลือกข้างมหาอำนาจฝ่ายใดที่แข่งขันกันอยู่ในภูมิภาคจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อ การแข่งขันระหว่างมหาอำนาจทั้ง 2 จะไม่ยกระดับความขัดแย้งจากการแข่งอำนาจและอิทธิพลไปสู่การถือกันและกันว่าเป็นฝ่ายตรงข้าม และจากการถือกันเป็นฝ่ายตรงข้ามพัฒนาไปสู่การกดดันบีบบังคับทางเศรษฐกิจและการเผชิญหน้าทางการทหาร ซึ่งถ้าพลวัตความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจและการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างอำนาจโลกพัฒนาสถานการณ์ในภูมิภาคไปในทิศทางแบบนั้น จนถึงจุดที่สหรัฐฯและจีนกลายเป็นขั้วความขัดแย้งที่ประกาศตัวเป็นศัตรูต่อกันอย่างชัดแจ้ง การที่ประเทศอำนาจน้อยในภูมิภาคจะถูกมหาอำนาจกดดันให้ต้องเลือกข้างก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก
เมื่อเป็นอย่างนี้ แม้รู้ว่าอะไรคือสภาพแวดล้อมที่พึงปรารถนาสำหรับรักษาความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบาย แต่ประเทศอำนาจจำกัดอย่างไทย หรือกัมพูชา สิงคโปร์ และสมาชิกอื่นๆ ของอาเซียน ก็ไม่อาจเข้าไปกำหนดเหตุปัจจัยในสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศให้เป็นไปตามที่ต้องการได้เอง หรือถึงอยากเข้าไปช่วยลดทอนความตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจในระบบระหว่างประเทศจากมหาอำนาจขั้วเดียว ไปเป็นสองขั้วอำนาจ ประเทศอำนาจน้อยก็ทำได้ในขอบเขตจำกัด ดังจะเห็นว่านายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ก็ทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าการแสดงความกังวลต่อสภาวะความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับจีนที่เลวร้ายลงเรื่อยๆ นับตั้งแต่ที่ทรัมป์ทำสงครามการค้ากับจีน และส่งคำเตือนถึงมหาอำนาจทั้ง 2 ถึงหายนะที่จะเกิดขึ้นต่อทุกประเทศ ถ้าความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจไปถึงขั้นเลือกใช้สงครามมาเป็นเครื่องตัดสิน
ท่ามกลางสัญญาณบ่งชี้สถานะความสัมพันธ์ที่เลวร้ายลงระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ไม่ว่าจะเป็น
1) การขาดความไว้วางใจต่อกัน
2) การไม่ใช้กลไกติดต่อที่มีอยู่เพื่อสื่อสารความเข้าใจระหว่างกัน
3) การไม่พัฒนากลไกจัดการความขัดแย้งและป้องกันความขัดแย้งไม่ให้ขยายตัว
4) การไม่ปรับเปลี่ยนมิติความสัมพันธ์ออกจากเรื่องที่ขัดแย้งไปหาเรื่องที่มีผลประโยชน์ร่วมกันและร่วมมือกันได้
5) การไม่หาทางผ่อนคลายความรู้สึกในทางเป็นปฏิปักษ์ต่ออีกฝ่ายที่มีอยู่ในหมู่ประชาชนของแต่ละประเทศ
6) การตั้งต้นพลวัตที่จะยกระดับไปสู่การเผชิญหน้าทางการทหารได้ไม่ยาก
7) การตั้งวงความร่วมมือระหว่างประเทศที่ตีกั้นอีกฝ่ายหนึ่งไม่ให้เข้ามาร่วม
8) การดำเนินการทางการทูตและการแสวงหาพันธมิตรเพื่อสกัดยับยั้งอิทธิพลของอีกฝ่าย
9) การใช้เครื่องมือนโยบายในทางบีบบังคับและสร้างแรงกดดันต่อกัน
10) ความแตกต่างในระบอบการเมืองและหลักความชอบธรรมสำหรับการจัดและการใช้อำนาจการปกครองที่ถูกหยิบยกมาเป็นปัญหาระหว่างประเทศ ประเทศอำนาจจำกัดในภูมิภาค จึงตกเป็นฝ่ายรับผลและต้องปรับตัวเข้าหาสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศที่เป็นไปแบบนี้ แม้แต่อาเซียนเอง ถึงจะตั้งความปรารถนาในการเป็นแกนกลางกำหนดพลวัตของการเมืองระหว่างประเทศในภูมิภาคก็ตาม แต่สุดท้ายแล้วก็ต้องขึ้นกับสหรัฐฯ และจีน ว่าจะให้น้ำหนักความสำคัญแก่บทบาทอาเซียนเพียงใด
เมื่อยุทธศาสตร์ทวิภาคีไทยต่อสหรัฐฯ อยู่ในเงื่อนไขข้อจำกัดดังที่กล่าวมา ไทยมีทางเลือกแบบไหนได้บ้าง?
การอภิปรายของนิสิตหลังจากพิจารณารายงานสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐของ Asia Foundation ข้างต้นแล้ว ได้ข้อเสนอส่วนหนึ่งว่า
หนึ่ง มิติความสัมพันธ์ที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ยังมีอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นในด้านเศรษฐกิจเช่น การเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี CPTPP การปรับย้ายห่วงโซ่อุปทานและฐานการผลิตของบริษัทสหรัฐฯ และพันธมิตร หรือความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ในด้านความมั่นคงและการทหาร เช่นการฝึกร่วมและใช้ประโยชน์จากฐานทัพ และในด้านการเข้ามาถ่วงดุลกับจีน ไทยก็มีประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันกับสหรัฐฯ จากการเป็นประเทศในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินมาตรการของจีนซึ่งเป็นประเทศต้นน้ำ ถ้าสหรัฐฯ เข้ามาถ่วงดุลการใช้อำนาจของจีนในเรื่องนี้เหมือนกับที่สหรัฐฯ ถ่วงดุลจีนในทะเลจีนใต้ก็จะช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในการเจรจากับประเทศต้นน้ำได้มากขึ้น
สอง แม้จะมีผลประโยชน์ร่วมกันหลายด้าน แต่ในระยะกว่าทศวรรษที่ผ่านมา ความสำคัญของไทยในยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ต่อภูมิภาคลดลงอย่างมาก ยิ่งเมื่อสหรัฐฯ ขยายพื้นที่ยุทธศาสตร์ออกมาเป็นอินโด-แปซิฟิก ก็เหมือนว่าไทยหายไปจากจอเรดาร์ นอกจากนั้น ยุทธศาสตร์สหรัฐฯ ต่อภูมิภาคแม้จะมีการปรับขยายในเชิงพื้นที่ ที่รวมเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้เข้าด้วยกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนและเป็นประเด็นสำคัญในยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ มาอย่างต่อเนื่อง คือการส่งเสริมประชาธิปไตย เสรีภาพ สิทธิมนุษยชน และการใช้อำนาจตามหลักนิติธรรม และเพราะประเด็นยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ในข้อนี้เอง ที่ทำให้ตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 เป็นต้นมาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ เกิดช่องว่างต้องห่างเหินกันไป
สาม นิสิตเห็นว่าเงื่อนไขสำคัญที่สุด ที่ไม่เพียงแต่จะช่วยฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ให้กลับมาเป็นปกติ แต่ยังจะช่วยสนับสนุนไทยให้มีบทบาทในการเมืองระหว่างประเทศในภูมิภาคได้มากขึ้นและดียิ่งขึ้น ได้แก่ การทำระบอบการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยที่ประชาชนยอมรับโดยเร็ว เท่ากับว่า ในการดำเนินยุทธศาสตร์ความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ ไทยจำเป็นต้องมี และต้องดำเนินยุทธศาสตร์การเมืองภายใน เพื่อจัดการปัญหาเสถียรภาพและความชอบธรรมของระบอบการเมืองการปกครองที่ยืดเยื้อมานาน
จากข้อเสนอของนิสิตข้างต้น คนนำการอภิปรายมองเห็นหลายประเด็นที่ชวนนิสิตคิดต่อออกไปได้อีก ประการแรก นิสิตสำรวจยุทธศาสตร์ Free and Open Indo-Pacific ของสหรัฐฯ สมัยทรัมป์แล้วไม่พบไทยอยู่ในนั้น ในแง่หนึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ ที่ไทยไม่ได้รับความสำคัญในยุทธศาสตร์ดังกล่าว แต่ข้าพเจ้าคิดว่าองค์ประกอบของไทยมีความน่าสนใจต่อทุกๆ ฝ่ายที่ต้องใช้และต้องการพัฒนาเครื่องมือยุทธศาสตร์ด้านข้อมูลสารสนเทศ และการใช้ปฏิบัติการข่าวสารในการดำเนินยุทธศาสตร์ ที่ยิ่งนับวัน ก็ยิ่งมีผลต่อการแข่งขันอิทธิพลระหว่างมหาอำนาจ และต่อขีดความสามารถของรัฐในการจัดอำนาจการปกครอง ที่ในปัจจุบันไม่มีฐานความชอบธรรมอื่นใดให้อิงอีกแล้วนอกจากที่มาจาก consent ของประชาชน เลยทำให้กระบวนการ “manufacturing of consent” ตามคำของ Noam Chomsky กลายเป็นเงื่อนไขบังคับที่ไม่อาจขาดได้สำหรับคนครองหรือคนคิดจะต้านอำนาจรัฐ
นิสิตเห็นข้อมูลการขยายตัวของการใช้สื่อออนไลน์ในประเทศไทยว่ามีอัตราการเติบโตสูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลกไม่ว่าจะนับจากทางไหน และสรุปไปหาข้อเสนอว่า ไทยกับสหรัฐฯน่าจะร่วมมือกันได้ในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ข้าพเจ้าขอเสนอให้นิสิตพิจารณาไปอีกแบบโดยมองในทางสังคมดิจิทัล ว่าพฤติกรรมการใช้สื่อออนไลน์ของคนไทยต่างกลุ่มต่างวัยต่างอาชีพต่างฐานอุดมการณ์ต่างความคิดความเชื่อต่อศีลธรรม เมื่อได้เข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน ติดตามกัน โต้ตอบกัน ร่วมด้วยช่วยกัน ก่นด่าโจมตีกัน ปล่อยข่าวลือครึ่งจริง แก้ข่าวปล่อยครึ่งเท็จ ส่งคำอวยพรอนุโมทนา ส่งกำลังใจให้กัน หรือบางทีก็เห็นออกมาสาปแช่งกันอยู่ในโลกโซเชียลมีเดียที่ในบริบทของไทย ทางหนึ่งก็เปิดกว้างมากไม่มี Great Firewall มากั้น แต่ในอีกทางหนึ่ง ก็มีกฎหมายและอำนาจรัฐเข้ามาปิดกั้น มีบทลงโทษเข้มงวดสำหรับการแสดงออกที่ละเมิดกฎหมายต่อสถาบันอันพึงเป็นที่เคารพสักการะ
ทั้งหมดนี้ ได้ผลิตข้อมูล ไม่ว่าจะขนาดใหญ่หรือย่อยแบบรายบุคคลจากชีวิตในโลกโซเชียลมีเดียประจำวัน ที่เหมาะจะใช้สังคมดิจิทัลไทยเป็นจุดสังเกตการณ์เฝ้าติดตามอย่างต่อเนื่อง เหมือนกับว่าอำนาจรัฐไทยฝ่ายหนึ่งและชาวเน็ตไทยอีกฝ่ายหนึ่งกำลังรับบทบาทอยู่ในหนัง “Truman Show” ให้สหรัฐฯ และประเทศมหาอำนาจอื่น รวมทั้งประเทศที่ไม่ใช่มหาอำนาจ แต่สนใจติดตามการทำงานของเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารและแอปพลิเคชันในโซเชียลมีเดียที่มีต่อความคิดจิตใจการแสดงออกของคนจำนวนมาก ว่ามีอิทธิพลแบบไหน และส่งผลอย่างไร ในทางใดบ้างต่อสภาวะทางสังคมและการเมือง ต่อแรงกระเพื่อมมืดสว่างขึ้นลงในจิตใจคน
พวกทฤษฎีสมคบคิดมักเชื่อว่ามีองค์การเหนือประชาชาติคอยเฝ้าติดตามและจัดการกับความเป็นไปในโลกเพื่อกำหนดผลลัพธ์ให้ออกมาในทิศทางที่พวกเขาเห็นเหมาะสม ข้าพเจ้าคิดว่า ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีองค์การแบบนั้นก็ตาม แต่ทั้งสหรัฐฯ และจีน ซึ่งต่างก็สนใจบุกเบิกการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมอย่างไม่หยุดยั้ง ย่อมอยากรู้และอยากติดตามผลและผลกระทบทางสังคมที่เทคโนโลยีใหม่ๆ จะผลิตบวกลบคูณหารของมันออกมาในทางไหนได้บ้าง รวมทั้งการตอบสนองที่เป็นไปได้ในทางต่างๆ ผ่านการใช้เทคโนโลยีของคนจำนวนมาก จะผลิตพลวัตและความปั่นป่วน หรือจะเอื้อให้อำนาจรัฐเข้าไปจัดการได้มากน้อยเพียงใด ย่อมเป็นสิ่งที่จีนและสหรัฐฯ สนใจ แต่เมื่อการสร้างห้องทดลองขนาดใหญ่มาคุมชีวิตผู้คนเพื่อติดตามพฤติกรรมเหมือนในหนัง Truman Show ทำไม่ได้ การมีโอกาสติดตามจากของจริงในสังคมที่ประกอบด้วยตัวแปรอิสระและตัวแปรควบคุมที่เหมาะสมและน่าสนใจ กลับยิ่งให้ความรู้ได้มากกว่า
ประเด็นที่สองที่ตามมา คือข้าพเจ้าคิดว่า ทั้งสหรัฐฯ และจีน ใช้เทคโนโลยีตามแนวคิดแบบวิศวกรสังคมทั้งคู่ คือเชื่อในความสามารถของเทคโนโลยีว่าเป็นเครื่องมือจัดการสังคมให้บรรลุถึงเป้าหมายคุณค่าอันพึงปรารถนาได้ ถ้าเป้าหมายคุณค่าที่พึงปรารถนาของสหรัฐฯ คือเสรีภาพ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความคิดแบบวิศวกรสังคมของสหรัฐฯ ก็ทำให้สหรัฐฯ เชื่อว่าภาคส่วนเครือข่ายที่สหรัฐฯ เข้ามาให้การสนับสนุน (ผ่านกลไกจัดสรรทุนต่างๆ ซึ่งนับแต่สมัยคาร์เตอร์เป็นต้นมา ได้ย้ายออกจากซีไอเอและ USAID มาเป็นองค์กรนอกภาครัฐ) จะใช้เทคโนโลยี ใช้แอปพลิเคชันการสื่อสารใหม่ๆ เป็นตัวจัดการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทิศทางที่เคลื่อนเข้าใกล้อุดมคติตามคุณค่าของสหรัฐฯ ได้มากขึ้น
ส่วนจีน คุณค่าที่พึงปรารถนาคือระเบียบความสงบเรียบร้อยและการทำมาหากิน ความคิดแบบวิศวกรสังคมก็ทำให้จีนเชื่อว่าจะสามารถใช้เทคโนโลยีมาเป็นตัวคุมการสร้างระเบียบที่ต้องการได้
ประเด็นสุดท้าย ความน่าสนใจของไทยต่อการพัฒนาเครื่องมือยุทธศาสตร์ข้อมูลสารสนเทศของมหาอำนาจอย่างจีนและสหรัฐฯ อยู่ตรงที่ว่า ในขณะนี้ มหาอำนาจทั้ง 2 ต่างมีอิทธิพลสูงอยู่ในประเทศไทยทั้งคู่ แต่มีอิทธิพลต่อคนละฝ่ายแตกต่างกัน ทั้งฝ่ายจีนและฝ่ายสหรัฐฯ ที่เฝ้าจับตาดู Truman Show ในประเทศไทยอยู่ สามารถใช้การตอบสนองต่อยี่ห้อวัคซีนเป็นเครื่องมือจำแนกคนในสังคมไทย ว่าใครจะตอบสนองหรือมีภูมิคุ้มกันต่ออิทธิพลอันละมุนละม่อมกลมกล่อมของสหรัฐฯ ใครจะตอบสนองหรือมีภูมิต้านทานต่ออิทธิพลอันจัดจ้านเผ็ดร้อนของจีน ในแง่นี้ บางทีการเปลี่ยนไปสู่ระบอบการเมืองประชาธิปไตยที่ตั้งมั่นอาจไม่ตอบโจทย์มหาอำนาจทั้ง 2 เท่ากับการรักษาเงื่อนไขความขัดแย้งในการเมืองภายในอย่างที่เป็นมาให้ดำรงอยู่ต่อไป
ถ้าหากองค์การเหนือประชาชาติที่คอยจัดแจงให้ความเป็นไปในโลกลงในเส้นทางที่พวกเขาต้องการอย่างที่พวกทฤษฎีสมคบคิดเชื่อ มีอยู่จริง ท่านผู้อ่านจะลองทายไหมครับว่าสมาชิกจากประเทศไทยน่าจะเป็นใคร ใครเป็นนายโรงที่วางเงื่อนไขและติดตามผลจากพลวัตในสังคมไทยมานานแล้ว?
**************