posttoday

ESG เทรนด์ใหม่ที่นักลงทุนทั่วโลกจับตามอง

26 มกราคม 2565

ESG ย่อมาจาก Environment, Social และ Governance เป็นแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน

ในช่วงที่ผ่านมา ESG กลายเป็นคำคุ้นหูที่นักลงทุนได้ยินหรือเห็นผ่านตาในข่าวและบทความด้านการลงทุนมากมายที่มีการพูดถึงการลงทุนใน ESG ว่าจะกลายมาเป็นเทรนด์ใหม่ที่นักลงทุนทั่วโลกต่างจับตามอง ESG ย่อมาจาก Environment, Social และ Governance เป็นแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน ที่คำนึงถึงความรับผิดชอบทั้ง 3 ด้านหลักได้แก่ 1. การรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม 2. ความรับผิดชอบต่อสังคม ในการชี้วัดว่าบริษัทมีการจัดการความสัมพันธ์และมีการสื่อสารกับลูกจ้าง ลูกค้า หรือผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างไรบ้าง และ 3. การกำกับดูแลหรือธรรมาภิบาล ที่ใช้วัดว่าบริษัทมีการจัดการที่มีประสิทธิภาพโปร่งใส ตรวจสอบได้ และคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแค่ไหน

แนวคิด ESG นี้เป็นหลักการที่ช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ธุรกิจต่าง ๆ ด้วยการสะท้อนบทบาทความรับผิดชอบของธุรกิจที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสียและสังคม ดังนั้นเมื่อหลักการนี้ทำให้ธุรกิจมีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น แนวคิดนี้จึงดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในธุรกิจเหล่านี้ด้วย เห็นได้จากบทวิเคราะห์ของบริษัทบริหารจัดการสินทรัพย์หลายแห่งบ่งชี้ว่า การลงทุนในบริษัทที่เน้นหลักการ ESG หรือดำเนินธุรกิจโดยเน้นความยั่งยืน มักจะสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าบริษัทที่ไม่คำนึงถึงปัจจัยในระยะยาวเหล่านี้

เมื่อนักลงทุนให้ความสนใจในธุรกิจที่มีการดำเนินการตามหลัก ESG บริษัทต่าง ๆ ในภาคธุรกิจจึงให้ความสำคัญและปรับตัวมาดำเนินการตามหลัก ESG มากขึ้น จนกลายเป็นเทรนด์ที่ภาคธุรกิจและนักลงทุนทั่วโลกต่างจับตามองและให้ความสำคัญอย่างในปัจจุบัน โดยมีผลรายงานที่ศึกษาผลประกอบการของธุรกิจในระยะยาวพบว่ามีโอกาสถึง 76% ที่จะพบว่าบริษัทที่หันมาใส่ใจและลงทุนในประเด็นเกี่ยวกับ ESG จะมีผลประกอบการทางด้านการเงินที่สูงกว่าในระยะยาว ทำให้ผู้ที่ลงทุนมีโอกาสได้รับผลประโยชน์จากการลงทุนที่มากกว่า อีกทั้งยังมีความมั่นคงในระยะยาวอีกด้วย

บลจ.กสิกรไทยได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เช่นเดียวกัน โดยเป็นบลจ.แห่งแรกในประเทศไทยที่เข้าร่วมลงนาม Principles for Responsible Investment (PRI Signatory) ซึ่งเป็นหลักการลงทุนที่รับผิดชอบในระดับสากลที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติ (United Nations) ซึ่งตระหนักเป็นอย่างดีถึงหน้าที่และความรับผิดชอบในการดูแลบริหารจัดการเงินลงทุนของผู้ลงทุน โดยเชื่อมั่นว่าหลักการลงทุนที่มีความรับผิดชอบ คำนึงถึงประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของกิจการที่เข้าไปลงทุน นอกเหนือจากการคำนึงด้านผลตอบแทนและความเสี่ยงจากการลงทุนแล้วนั้น จะช่วยส่งเสริมให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ลงทุน และความยั่งยืนในระยะยาวต่อตลาดทุนโดยรวมหนึ่งในกองทุนของบลจ.กสิกรไทยที่ตอบโจทย์แนวคิด ESG ก็คือ K-CHANGE ที่เน้นลงทุนในหุ้นของบริษัทที่สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (Positive Impact) และ K-CLIMATE ที่เน้นลงทุนในหุ้นที่มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (Climate Change) นอกจากจะเป็น Mega Trend ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก การพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆอย่างรวดเร็วจะช่วยให้ปัญหาต่างๆได้รับการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาโลกร้อน ความเป็นอยู่และสุขภาพที่ดีขึ้น

ทำความรู้จัก ‘PRI’ หลักการลงทุนที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล

PRI เป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การสนับสนุนขององค์การสหประชาชาติ (United Nations) ซึ่งให้หลักปฏิบัติเรื่องหลักการลงทุนที่มีความรับผิดชอบ โดยมีการผนวกประเด็นเรื่อง สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) เข้าด้วยกัน และนำไปใช้ในกระบวนการตัดสินใจลงทุนตลอดจนการมีส่วนร่วมของผู้ถือหุ้น (Active Ownership) ความร่วมมือของทั้งสามฝ่ายจากทั้ง UN Global Compact UNEP Finance Initiatives และผู้เข้าร่วมโครงการที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน จะช่วยเสริมสร้างความมั่งคง ความยั่งยืนในระยะยาวให้กับตลาดทุน สังคมและเศรษฐกิจของโลก ปัจจุบันมีสถาบันที่เข้าร่วมลงนามกว่า 4,500 รายทั่วโลก ซึ่งมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารรวมกว่า 121 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐ ซึ่งผู้ที่ร่วมลงนามตกลงที่จะปฏิบัติตามหลักการลงทุนที่รับผิดชอบ ทั้ง 6 ประการ ดังต่อไปนี้

หลักปฏิบัติที่ 1: พึงนำประเด็นด้าน ESG มาประกอบการวิเคราะห์และการตัดสินใจลงทุน

หลักปฏิบัติที่ 2: พึงใช้สิทธิในฐานะผู้ถือหุ้นอย่างจริงจัง และนำประเด็นด้าน ESG เป็นส่วนหนึ่งของการ กำหนดนโยบาย และหลักปฏิบัติการใช้สิทธิในฐานะผู้ถือหุ้น

หลักปฏิบัติที่ 3: พึงสนับสนุนให้บริษัทต่างๆ ที่เข้าไปลงทุน เปิดเผยข้อมูลด้าน ESG

หลักปฏิบัติที่ 4: พึงส่งเสริมประเด็นด้าน ESG ให้เกิดการยอมรับและการปฏิบัติในอุตสาหกรรมการลงทุน

หลักปฏิบัติที่ 5: พึงให้ความร่วมมือในการนำหลักปฏิบัติการลงทุนที่รับผิดชอบมาใช้ปฏิบัติ

หลักปฏิบัติที่ 6: พึงรายงานข้อมูลข่าวสารความคืบหน้าในการดำเนินงานตามหลักปฏิบัติการลงทุนที่รับผิดชอบ