posttoday

ปัญหาขยะ ต้องเริ่มแก้ไขที่ตัวเรา

07 กุมภาพันธ์ 2565

.

โดย...ดร.รพีรัฐ ธัญวัฒน์พรกุล

**************************

ยิ่งโลกของเราเจริญเติบโตเท่าไร ปัญหาเรื่องของปริมาณขยะก็ไม่เห็นจะมีทีท่าที่จะลดลงเลย นับวันจะยิ่งมากขึ้นทุกที โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงโควิดที่ผ่านมา นอกเหนือจากปริมาณขยะทั่วไปที่เกิดจากการบริโภคของเรา ยังมีขยะอันตราย ที่มาจากชุดตรวจโควิด อุปกรณ์ป้องกัน หรือทำความสะอาดที่เกี่ยวข้อง ขยะติดเชื้อจากสถานพยาบาลต่างๆ และอื่นๆ ซึ่งหาก มองถึง เรื่องการกำจัดขยะเหล่านี้ ณ ตอนนี้ ถือว่าเป็นเรื่องยากและท้าทายเป็นอย่างยิ่ง

วิธีที่คนส่วนใหญ่คิดว่าดีสำหรับการกำจัดขยะก็คือการเผา

การเผาขยะน่าจะช่วยขจัดปัญหาปริมาณขยะและพวกขยะติดเชื้อได้อย่างแน่นอน แต่หารู้ไม่การเผาขยะมันส่งผลกระทบต่อ สิ่งแวดล้อมรุนแรงมากเพราะการเผาขยะเป็นตัวการในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษจำนวนมาก และเป็นตัวการ ทำลายแหล่งอาหารในธรรมชาติของพวกเราอีกด้วย ในที่สุด สิ่งที่พวกเราทิ้ง หรือสิ่งที่เราเผา จะวนกลับมาส่งผลกระทบถึง ชีวิตและสุขภาพพวกเราในท้ายที่สุด ขยะมันเยอะ ก็เอามา Recycle ก็น่าจะช่วยลดขยะได้แล้ว... นี่คือวิธีการที่เรากำลังแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

ปัญหาขยะ ต้องเริ่มแก้ไขที่ตัวเรา

ตัวอย่างในบ้านเรา อ้างอิงข้อมูลจาก Thailand Environment Institute (TEI) อ้างอิงปี 2019 ประเทศไทยสร้างขยะประมาณ 28-29 ล้านตันต่อปี โดยเป็นขยะพลาสติกถึง 2 ล้านตันต่อปี ซึ่งโดยเฉลี่ยพบว่าคนไทยสร้างขยะประมาณ 1.1 กิโลกรัม ต่อวันต่อคน

เพราะปริมาณขยะครัวเรือนมันเพิ่มขึ้นทุกวันและไม่ใช่ขยะทุกชนิดจะสามารถนำมา recycle ได้ ยกตัวอย่างในบ้านเรา ขยะที่ถูกทิ้งสามารถเอาไป recycle ต่อไปได้แค่ 44% เท่านั้นเอง สาเหตุเพราะ หากขยะครัวเรือนที่เราทิ้ง ไม่ได้แยกอย่างถูกวิธี ไม่ได้ทำความสะอาดอย่างถูกต้อง ขยะเหล่านั้นก็ไร้ประโยชน์ ไม่สามารถนำไป recycle เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้ หรือ หากจะ recycle ก็มีต้นทุนที่สูงเกินไปในการคัดแยก ทำให้ปลายทางสุดท้ายของขยะเหล่านี้ก็ต้องไปกองรวมกัน เป็นกองขยะ ขนาดใหญ่ เพื่อรอการนำไปเผา หรือไปฝังกลบนั่นเอง ซึ่งนั่นก็ยังไม่ใช่ทางเลือกและวิธีการที่ดีที่สุดจริงๆ

ปัญหาขยะ ต้องเริ่มแก้ไขที่ตัวเรา

เราต้องเริ่มต้นที่ตัวเราเอง เริ่มต้นในระดับครอบครัวของเราเองเสียก่อน อ้างอิง Responsible Waste Management Hierarchy อ้างอิงข้อมูลจาก Thailand Environment Institute (TEI) วิธีดีที่สุด ต้องสร้างขยะให้มีปริมาณน้อยลงเสียก่อน ด้วยการคิดก่อนใช้ เลือกใช้ในสิ่งที่จำเป็นจริงๆ หรือ หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ต้องเลือกสิ่งที่จำเป็นต้องใช้ที่มีผลกระทบ ต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด และเราเองก็ต้องคัดแยกขยะ และหามาตรการรองรับขยะที่เราจะกำจัดให้เรียบร้อย ตั้งแต่แรก จะช่วยลดปริมาณขยะ และ ผลกระทบต่อชีวิตคน สัตว์ และ สิ่งแวดล้อมได้

เราเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ได้ โดยเริ่มต้นง่ายๆ จากขยะในมือของเราเอง

หวังพึ่งคนอื่น พึ่งองค์กรอื่น เพื่อมาแก้ปัญหาที่เราก่อขึ้นมาคงเป็นไปไม่ได้ วันนี้ก็เลยขอยกตัวอย่างหมู่บ้านแห่งนึง ที่วันนี้ได้กลายเป็นหมู่บ้านต้นแบบของการบริหารจัดการขยะระดับโลกไปเรียบร้อยแล้ว

Kamikatsu Zero Waste Town หมู่บ้านแห่งนี้ ต้องการที่จะเป็นหมู่บ้านที่ปราศจากขยะ แต่การจะบรรลุเป้าหมายนี้ได้ มันไม่ง่ายเลย เพราะเรื่องการบริหารจัดการขยะนั้น เพียงแค่คนกลุ่มเล็กไม่กี่คนคงไม่สามารถทำสำเร็จได้อย่างแน่นอน จำเป็นต้องอาศัยทุกคนในหมู่บ้านร่วมมือ ลงมือทำไปด้วยกัน

“ก้าวแรกของการลดปริมาณขยะ ก็คือ การทำปุ๋ยหมักจากขยะในครัวเรือน”

จากการศึกษาองค์ประกอบของขยะและปริมาณที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน พบว่าขยะมูลฝอยมีปริมาณเยอะที่สุดจากขยะทั้งหมด หากจะนำไปเผาแบบขยะอื่นๆ ก็ต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงเสริม เพราะขยะมูลฝอยจากครัวเรือนเป็นขยะที่มีความชื้นสูง ไม่สามารถเผาได้แบบขยะอื่นทั่วไปได้ ทางหมู่บ้านจึงเลือกใช้วิธีที่แตกต่างอย่าง การนำขยะในครัวเรือนอย่างเศษอาหาร มาทำเป็นปุ๋ยหมักแทนโดยใช้เครื่องแปรรูปขยะมูลฝอยแบบที่ใช้ในครัวเรือน ผลลัพธ์ที่ได้ ก็คือ ได้ปุ๋ยมาใช้ แถมยังช่วยลด ปริมาณขยะที่จะทิ้งไปได้อีกเยอะเลย 

ปัญหาขยะ ต้องเริ่มแก้ไขที่ตัวเรา

"โครงการขยะเหลือศูนย์ (Zero Waste) ด้วยการ ล้าง คัดแยก และนำขยะไปยังศูนย์กลางการคัดแยกขยะในเมือง”

หมู่บ้าน Kamikatsu มีสถานีขยะในเมือง ที่รองรับการคัดแยกขยะได้มากกว่า 45 ประเภท 13 หมวดหมู่ ที่ศูนย์แห่งนี้ จะมีเจ้าหน้าที่ในสถานีคอยให้ความช่วยเหลือและให้คำแนะนำเมื่อมีปัญหาในการคัดแยกขยะ นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์กลาง ของการปฏิสัมพันธ์ของคนในชุมชน ถึงขั้นที่บางคนมาเพราะพวกเขาตั้งตารอที่จะได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ด้วยซ้ำ พวกเขา แลกเปลี่ยนเรื่องราวและวิธีการคัดแยกขยะกันที่นี่ทำให้มีสิ่งดีๆเกิดขึ้นมากมายที่สถานีขยะแห่งนี้ 

ปัญหาขยะ ต้องเริ่มแก้ไขที่ตัวเรา

"สิ่งที่ผู้คนในหมู่บ้านได้ทำ กลายเป็นว่ามันเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนในชุมชนนี้ไปอย่างสิ้นเชิง”

ในปี 2016 กว่า 81% ของขยะในเมืองถูกนำมารีไซเคิล ใช้ใหม่ หรือนำมาทำเป็นปุ๋ย หมู่บ้าน Kamikatsu ตั้งเป้าหมายว่าพวกเขาจะต้องกำจัดขยะให้ได้โดยไม่ใช่เตาเผาหรือการฝังกลบอีกต่อไป นอกจากนี้ การขายขยะอย่างกระดาษ และเหล็ก สามารถทำเงินได้ถึง 2.5 ล้านเยน–3.0 ล้านเยนต่อปี ซึ่งช่วยชดเชยค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะของหมู่บ้าน Kamikatsu ได้อย่างดีเลย ยิ่งใช้ความระมัดระวังในการคัดแยกทรัพยากรมากเท่าใด ราคาขายของวัสดุดังกล่าวในตลาด ก็จะ ยิ่งสูงขึ้นไปด้วย

ผลที่ตามมาทำให้พวกเขาก็กลายเป็นหมู่บ้านแรกในญี่ปุ่นที่ดำเนินการนโยบายขยะเหลือศูนย์อย่างจริงจัง ในอนาคตอันใกล้นี้ หมู่บ้าน Kamikatsu หวังว่าจะประสบความสำเร็จในการทำให้ขยะเหลือศูนย์ได้ในที่สุด

บทสรุป

ขยะเป็นสิ่งที่ทุกคนสร้างขึ้นและยากที่จะปฏิเสธว่ามันไม่ใช่ของเรา เราอาจจะหลีกเลี่ยงการสร้างขยะไม่ได้ แต่เราสามารถ ลดปริมาณได้ และเราก็สามารถเลือกได้ว่าขยะของเรา เราจะโยนมันไปทางไหน เพื่อแค่เริ่มจากการตระหนักถึงผลกระทบ ที่เกิดขึ้นจากการสร้างขยะจำนวนมากและถูกจัดการอย่างไร้ความรับผิดชอบ เราเองก็สามารถเริ่มได้ เริ่มเรียนรู้การจัดการ อย่างถูกวิธี เริ่มลงมือทำ เริ่มให้ความรู้คนอื่น เริ่มบอกต่อ เพียงเท่านี้ เราก็สร้างความเปลี่ยนแปลงเหมือนที่หมู่บ้าน Kamikatsu ทำได้แล้ว

อ้างอิง

https://www.nippon.com/en/guide-to-japan/gu900038/ 

https://medium.com/tzu-chi-culture-communication-foundation/kamikatsu-japans-zero-waste-town-9d66abfabe89 

https://www.tei.or.th/en/blog_detail.php?blog_id=77