“Rethink Together” เปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน
โดย ธันยพร กริชติทายาวุธ
***********************
ในยุคที่โลกกำลังดำเนินเข้าสู่วิถีใหม่ เส้นทางของเศรษฐกิจและพฤติกรรมของผู้คนในสังคมได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ในวันนี้ ความยั่งยืนจึงไม่ใช่แค่เทรนด์ แต่คือ “กลยุทธ์” ที่จะช่วยให้ธุรกิจ อยู่รอด เติบโต ท่ามกลางความผันผวนเปลี่ยนแปลง
CIRCO Hub Thailand โดยความร่วมมือของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม แห่งชาติ (สอวช.) และสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT: Global Compact Network Thailand) เป็นอีกโครงการหนึ่งที่ส่งเสริมศักยภาพธุรกิจไทยให้ “ก้าวนำด้วยการออกแบบหมุนเวียน” ด้วยพลังความคิดรอบด้านอย่างสร้างสรรค์ ด้วยนวัตกรรมทางความคิดแบบ Circular Design ซึ่งช่วยให้ธุรกิจมีสายตาแบบ ”นวัตกร” มองเห็นโอกาสใหม่จากวัสดุธรรมดาที่เหลือจากการใช้งาน เปลี่ยนทรัพยากรที่เคยสูญเสียไปให้กลายเป็นของที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ โดยใช้กระบวนการของหลักสูตร CIRCO จากประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งช่วยให้ธุรกิจมากกว่า 1,000 ราย ในทั่วโลก สามารถปรับเปลี่ยนโมเดลเป็น Circular Business ได้จริง
เมื่อเร็วๆนี้ CIRCO Hub Thailand ได้จัดสัมมนาออนไลน์ “Rethink Together: Co-creating Circular Economy with Circular Design” แลกเปลี่ยนประสบการณ์และการดำเนินงาน ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ระหว่างภาคธุรกิจ และภาครัฐ ภายใต้โครงการศึกษากระบวนการออกแบบหมุนเวียน (Circular Design) เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน นับเป็นครั้งแรกที่ตัวแทนจากภาคธุรกิจ ต่างขนาด หลากหลายอุตสาหกรรม ซึ่งผ่านการอบรมหลักสูตร CIRCO-Circular Design Thailand รุ่นที่ 1-4 ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ตรงบนเส้นทางการเรียนรู้ การปรับวิธีคิด และประสบการณ์ ในการเริ่มต้นประกอบธุรกิจหรือสร้างผลิตภัณฑ์และบริการในรูปแบบหมุนเวียนของตนเอง เพื่อสะท้อนเสียงจากคนทำงาน ตัวจริง ไปยังภาครัฐถึงโอกาสและความท้าทายในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนของภาคธุรกิจในประเทศไทย
มุมมองจากเอกชน Rethink – Reuse – Reduce- Renew & Recycle
Rethink - การออกแบบระบบใหม่ที่ทำให้เกิดการหมุนเวียนของวัสดุทดแทนผลิตภัณฑ์เดิมและได้ประโยชน์ใช้สอยเดิม โดยบริษัท เอสซีจี เคมิคอลล์ จำกัด ได้แบ่งปันการปรับเปลี่ยนแนวคิด เรื่องการปรับตัวของธุรกิจที่สนใจทำงานเรื่อง CE โดยเป็น Design Catalyst Team ให้กับลูกค้า และบริษัท สยามแมคโคร จำกัด (มหาชน) แชร์ประสบการณ์การปรับเปลี่ยนวิธีคิดร่วมกับ Supply Chain โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาและส่งเสริมการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน (Sustainable Packaging) โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการอาหาร โดยเริ่มจาก house brand ก่อน พร้อมทั้งชักชวนองค์กรอื่นให้ร่วมขับเคลื่อนไปด้วยกัน (Rethink Partnership)
Reuse - บริษัท แปลนครีเอชั่นส์ จำกัด บริษัท อุตสาหกรรมดีสวัสดิ์ จำกัด บริษัท เท็กซ์ไทล์ แกลเลอรี่ จำกัด ได้ให้มุมมองของ REUSE ในแง่การใช้ซ้ำให้ครบวงจรของอายุผลิตภัณฑ์ เช่น PLAN TOY พบว่าอายุใช้งานของของเล่นสั้น จึงริเริ่มโครงการการให้เช่าของเล่น เพื่อให้คนไทยมีโอกาสได้เข้าถึงของเล่นเด็กที่มีคุณภาพ หรือบริษัทเฟอร์นิเจอร์ไม้สัก ซึ่งมีการสูญเสียจากการแปรรูป จึงใช้การออกแบบเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด และการใช้หลักทำให้ทน ใช้วัสดุแปรรูป และการซ่อมแซม เพื่อให้เกิดการใช้ซ้ำให้มากที่สุด
Reduce - บริษัท ชิวกรีน จำกัด ปรับเปลี่ยนวัสดุและเปลี่ยนการออกแบบ Packaging ใหม่ ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ เพิ่มการสื่อสารให้กลุ่มลูกค้าใส่ใจสิ่งแวดล้อม บริษัท พริ้นติ้ง โซลูชั่น จำกัด ได้ให้มุมมองเพิ่มเติมเรื่องการออกแบบบรรจุภัณฑ์ โดยเน้น Mechanics Design และทำความเข้าใจในเรื่องการเลือกใช้วัสดุให้เหมาะกับผลิตภัณฑ์ โรงแรมศิวาเทล มุ่งเน้นการลดและการใช้ประโยชน์จากเศษอาหารเหลือทิ้งจากโรงแรม โดยเริ่มการคิดจาก Back to Basic โดยเริ่มตั้งแต่การออกแบบเมนูอาหาร ไปจนถึงการนำเศษอาหารไปเพิ่มมูลค่า เช่น การทำปุ๋ย
Renew & recycle - บริษัท สุเอซ เซอร์วิสเซล (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท แดรี่โฮม วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ได้แบ่งปันมุมมองว่า ควรมองทั้งระบบห่วงโซ่คุณค่า (value chain) ให้สามารถปิดวงจรได้ ไม่เพียงแค่ในสายการผลิตปกติเท่านั้น เช่น แดรี่โฮม ต้องการยกระดับจาก go green ไปสู่ go circular ด้วยการสร้างคุณค่าจากทรัพยากรการผลิตที่ใช้ไม่คุ้ม เช่น การนำน้ำเสียในฟาร์มโคนมไปเลี้ยงสาหร่ายที่เป็นอาหารของไลเคน และนำไปเป็นอาหารในฟาร์มกุ้งก้ามกราม
ภาครัฐออกมาตรการส่งเสริม พร้อมหนุนเต็มที่
ในส่วนของภาครัฐ ได้ขับเคลื่อนเรื่องนี้มาระยะหนึ่งและมีความเข้มข้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่เฉพาะด้านนโยบาย แต่มีการผลักดันไปสู่การปฏิบัติจริงด้วย ประกอบกับเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา มีการจัดประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ที่ประเทศไทยเข้าไปอยู่ในภาคีทำงานร่วมกับนานาชาติ และได้ประกาศเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในปี 2065 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องร่วมกันทำงานอย่างแข็งขันเพื่อไปสู่เป้าหมายนี้ ผ่านกลไกหลายอย่างรวมถึงแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่ภาครัฐเองก็พยายามที่จะปรับปรุงรูปแบบการทำงานในหน่วยงานภาครัฐให้อยู่ในลักษณะ Close Loop เชื่อมต่อให้ทุกภาคส่วนทำงานไปในทิศทางเดียวกัน และมีหน่วยงานมากมายที่พร้อมสนับสนุนเรื่องนี้อย่างเต็มที่ โดยออกมาตรการส่งเสริมต่างๆ อาทิ
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายสำคัญในการดึงดูดความสนใจ เพื่อเปิดช่องทางให้ผู้ประกอบการไทยที่ทำธุรกิจเศรษฐกิจหมุนเวียนนำสินค้าออกสู่ตลาดต่างประเทศไทยได้
สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อมสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีนโยบายสำคัญ คือ การจัดเก็บบรรจุภัณฑ์ใช้แล้ว ในโครงการ Packback รวมถึงมีการผลักดันให้เกิดกฎหมาย EPR ในประเทศ
หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) มีกลไกที่สำคัญคือการให้ทุนสนับสนุนงานวิจัยที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน ให้สามารถนำงานวิจัยที่สำเร็จแล้วออกไปใช้ประโยชน์ได้
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มีมาตรการสนับสนุนการลงทุนในธุรกิจที่ดำเนินกิจการในแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน และการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการยกเว้นภาษีเงินได้ 3-8 ปี และธุรกิจที่มีการวิจัยและพัฒนา ในด้านนี้ ยังสามารถขอส่งเสริมการลงทุนได้อีกด้วย
ในสัมมนาครั้งนี้ ยังมีการแลกเปลี่ยนมุมมองถึงปัจจัยความสำเร็จในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งต้องอาศัย Key Projects/Focus Sectors และนำแบบอย่างความสำเร็จไปขยายผลในกลุ่มอื่นๆ รวมทั้งการพัฒนา CE Solution Platforms สร้างขีดความสามารถด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และเชื่อมโยงความรู้สู่เป้าหมาย มีการปรับแก้กฎ/ระเบียบที่เป็นอุปสรรค สร้างบุคลากร และสร้างสังคมเศรษฐกิจหมุนเวียน ด้วยการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของการผลิต การบริโภค และการใช้ชีวิต ด้วยการสร้างความรู้และความเข้าใจ สร้างตลาดเศรษฐกิจหมุนเวียน มีการพัฒนากลไกตลาดที่เหมาะสมมีแรงจูงใจเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง และที่สำคัญ คือ การทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน ร่วมกับพันธมิตร ทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ ขนาดเล็ก องค์กรหรือ ตัวบุคคล ทั้งในระดับโลก ระดับประเทศ และระดับท้องถิ่น
เป็นเรื่องน่ายินดีที่วันนี้ เรื่องของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy: CE) ในประเทศไทยได้พัฒนาก้าวหน้าไปมาก ทั้งองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนต่างให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะภาคธุรกิจ มีตัวแทนที่ลุกขึ้นมาเป็น “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” ปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจดั้งเดิมไปสู่ธุรกิจหมุนเวียน ตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงส่งเสริม การบูรณาการระหว่างองค์กร ให้เกิดความร่วมมือและโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่สอดคล้องตามนโยบาย BCG Economy ที่จะพัฒนาประเทศ ไปสู่ความยั่งยืนได้ตามเป้าหมาย