การเปลี่ยนผ่านเมืองยั่งยืนในบริบทสังคมไทย:Transformative Towards Sustainable City in Thai Context
โดย...ดร.หะริน สัจเดย์
***********************
กว่าสามทศวรรษที่ผ่านมา พัฒนาเมืองจะอยู่ภายใต้แนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) ในบริบทสากล ซึ่งเกิดขึ้นจากความตระหนักถึงผลกระทบจากแรงขับการพัฒนาภายใต้พลวัตและการเปลี่ยนแปลงระบบแวดล้อมทาง เศรษฐกิจ สังคม การเมือง เทคโนโลยี ค่านิยม อันก่อให้เกิดการความเสี่ยงกับความมั่นคงระบบนิเวศ ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่จำเป็นต่อการดำรงชีพที่ยั่งยืน
ในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมาการบริหารการเปลี่ยนผ่านของสังคมไทยเองได้มีแนวทางการพัฒนาเมืองภายใต้แผนปฏิบัติการ 21 (LA 21) ที่เห็นความสำคัญและเรียกร้องให้สังคมได้มีการบริหารจัดการเมืองอย่างองค์รวม เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย การพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ที่ครอบคลุมผ่าน 3 เสาหลัก คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจ (Economic growth) ความเท่าเทียมทางสังคม และการรักษาสิ่งแวดล้อม ด้วยมาตรการ และการกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ในลักษณะกระบวนการร่วมสร้าง “ระเบียบแบบแผนการเรียนรู้ร่วมระหว่างสังคม” ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา
การพัฒนาในศตวรรษที่ 21 ก่อให้เกิดการบริโภคพลังงาน การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง บทบาท หน้าที่ของเมือง (city functions) และรูปแบบการบริการของทุนนิเวศ (Ecological services) และทรัพยากรที่จำเป็นต่อการเติบโตด้านเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ที่ยั่งยืนของคนในสังคม สังคมไทยเองได้ตระหนักถึง การส่งเสริมการพัฒนาเมืองยั่งยืนภายใต้แนวคิด “วาระการพัฒนาเมืองใหม่ (New Urban Agenda: NUA)” กับการสอดประสานการพัฒนาที่ยั่งยืนในบริบทสากล โดยได้เน้นถึงการศึกษาวิจัย ถอดบทเรียน “การพัฒนาตัวแบบเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนผ่านเมืองยั่งยืน (City Sustainable Transformative Learning Module)” โดยเห็นว่า การพัฒนาเมืองเปรียบเสมือนห้องทดลอง เพื่อการพัฒนาชุดความคิด การส่งผ่านผลการเรียนรู้สู่การพัฒนาเชิงประจักษ์
ซึ่งในภาพรวมจะพบว่า มีองค์ประกอบสำคัญเพื่อการเปลี่ยนผ่าน (Turning point) เมืองที่ประกอบด้วย 1) การค้นหาโจทย์ เป้าหมาย ขอบเขต วาระการพัฒนาเมือง ในมิติต่างๆ อาทิ เมืองคาร์บอนต่ำ เมืองสีเขียว เมืองนิเวศ ชุมชนเมืองยุคใหม่ ลัทธิความเป็นเมืองชีวภาพ เมืองเพื่อสิ่งแวดล้อมเฉพาะด้าน หรือ เมืองอัจฉริยะ เป็นต้น 2) การพัฒนา “กระบวนการร่วมสร้างเรียนรู้ทางสังคม (Social Knowledge Co-creation) จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียการพัฒนาเมือง กับความสัมพันธ์เป้าหมายการพัฒนาระดับของประเทศ จังหวัด และท้องถิ่น เพื่อให้เป็นแนวทางการพัฒนามิติของเมืองที่คาดหวัง กับความสอดประสานมิติการพัฒนาเมือง และองค์ประกอบเชิงทุนของพื้นที่ อาทิ ทุนระบบนิเวศ ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ทุนทางสังคม ทุนมนุษย์ ทุนการเงิน ทุนทางเทคโนโลยี และทุนทางกายภาพ ที่เอื้อต่อการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานของเมือง บทบาท หน้าที่ และการบริการของเมือง
และ 3) การกำหนดภาพฉายอนาคต เพื่อนำไปกำหนดทางเลือกเชิงยุทธ์ รวมทั้งการพัฒนา เครื่องมือ และกลไก เพื่อให้เกิดความครอบคลุมประสิทธิผลและประสิทธิภาพของทางเลือกการพัฒนาเมืองตลอดจนเกณฑ์ชี้วัด และปัจจัยสำเร็จการบริหารเชิงประจักษ์ของเมือง ภายใต้พลวัต และการเปลี่ยนแปลงระบบแวดล้อมทาง เศรษฐกิจ สังคม การเมือง การบริหารจัดการ ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีทั้งนี้ การพัฒนาพัฒนาตัวแบบการเรียนรู้ ดังกล่าว ไม่ได้หมายถึงกระบวนการที่ต้องยึดติดกับขั้นตอนที่กล่าวมา โดยอาจเป็นการดำเนินการกิจกรรมการพัฒนาในลักษณะ “วงล้อแห่งการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ” ที่ควรตระหนักว่า การเปลี่ยนผ่านดังกล่าว ได้เติมเต็มประเด็นช่องว่างทางความคิด หรือทิศทางการพัฒนาในลักษณะใด และควรปรับฐานคิดการพัฒนา (Re-profiling) เพื่อนำไปสู่การถ่ายทอดแผนสู่การปฏิบัติ ที่สอดคล้องเป้าหมายเชิงคุณภาพ เชิงปริมาณการพัฒนา
ทั้งต้องสอดคล้องกับศักยภาพของผู้ร่วมพัฒนาที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนควรได้พิจารณาถึงความครอบคลุม ด้านความ ไม่แน่นอน หรือปัจจัยเสี่ยง ของเมืองว่าจะเผชิญกับอะไรบ้าง เช่น การเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป และเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันภายใต้เงื่อนไขใหม่ของสังคม (อาทิ การอุบัติของโรคเกิดใหม่ที่เป็นอยู่ปัจจุบัน) การตระหนักถึง ผู้มีบทบาทหลักการพัฒนาเมือง ในสองลักษณะ คือ องค์กรรัฐ ภาคประชาสังคมที่เอื้อให้เกิดการพัฒนา (Development Enablers) เชิงนโยบาย ข้อกฎหมาย ความร่วมมือระหว่างองค์กรรัฐ และภาคประชาสังคม และอีกตัวแสดงคือ ผู้ที่เอื้อให้เกิดการปฏิบัติ (Operational Enablers)
ขณะที่เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ลการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ ควรได้ตระหนักว่า การพัฒนาเมืองควรมีความ “สมดุล” กับองค์ประกอบคุณค่าเชิงพื้นที่ พื้นฐานของเมืองที่สำคัญ อาทิ เมืองเกษตร เมืองชายฝั่ง เมืองเมืองลักษณะที่มีความเชื่อมต่อ (corridor) กับหน่วยย่อยของเมืองอื่นๆ แรงจูงใจทางเศรษฐศาสตร์กับการชดเชย ตอบแทนคุณทางนิเวศ การเติมเต็มเรื่องนวัตกรรมการจัดการ และทิศทางการสร้างพลังความร่วมมือการขับเคลื่อนทางสังคม การเพิ่มคุณค่าด้านภูมิ-นิเวศ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่สามารถเชื่อมต่อการพัฒนาในมิติอื่นๆ ของสังคม ทั้งการศึกษาวิจัยเชิงลึก การนำเครืองมือเชิงประยุกต์เพื่อการเรียนรู้ ทางวิทยาศาสตร์ หรือ สังคม อาทิ การวิเคราะห์เชิงระบบ การวิเคราะห์ภาพฉายอนาคต การกำหนดกรอบแผนพัฒนาเมืองกับความสัมพันธ์ BCG Model แผนพัฒนายุทธ์ Canvas Model เป็นต้น
ขณะที่ ตัวแบบการเรียนรู้ ที่สำคัญ สุดท้ายคือ การพัฒนา และส่งผ่านเป็นนวัตกรรมเพื่อการเปลี่ยนผ่านการพัฒนาเมือง พร้อมทั้งการกำหนดแผน การประเมินผลสัมฤทธิ์ และความสำเร็จ เพื่อนำสู่เครือข่าย องค์กร ชุมชน ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาพื้นที่ที่ผ่านมา สังคมไทยเองประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง โดยอาจกล่าวได้ว่าเป็น “เมืองต้นแบบแห่งการเรียนรู้” เพื่อการเปลี่ยนผ่านเมืองยั่งยืนในมิติต่างๆ ของสังคมไทย อาทิ จังหวัดนนทบุรี ด้วยการเรียนรู้การพัฒนาภาพอนาคตวิถีชีวิตสู่เมืองคาร์บอนต่ำ บนพื้นฐานการบริโภคและการดำเนินชีวิต ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
เทศบาลเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ ภาพฉายอนาคตและตัวแบบกระบวนการร่วมสร้างการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาทางเลือกยุทธศาสตร์คาร์บอนต่ำ และแผนการบริการจัดการเมืองที่ยั่งยืน จังหวัดตราด การยกระดับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเพื่อเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ จังหวัดนนทุบรี (อำเภอบางใหญ่) ที่เน้นถึงการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมกลไกการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน และการกระจายรายได้กลับสู่ชุมชน จังหวัดพะเยา ที่เน้นถึงการพัฒนากลไกการพัฒนาพื้นที่ กับความสัมพันธ์ ความเข้มแข็งด้านวิสาหกิจชุมชนและสิ่งแวดล้อมยั่งยืน การพัฒนาเมืองน่าอยู่ของสังคมไทย
ที่น่าสนใจ ในขณะนี้ จะเห็นว่า กรุงเทพมหานครฯ ได้รับการจัดอันดับ 1 ด้านการเป็นเมืองน่าเที่ยวที่สุด ในเอเชียแปซิฟิก (Best City: DestinAsian; Reader's Choice Awards 2022) ที่สามารถกล่าวได้ว่า กรุงเทพฯ ได้เรียนรู้ พัฒนาด้วยการนำมนต์เสน่ห์วิถีแห่งเมือง ประกอบกับความโดดเด่นทุนทางสังคม และวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์ การยกระดับการท่องเที่ยว ทั้งยังเสริมเสร้างเศรษฐกิจของเมือง กับความสมดุลที่สามารถรักษาฐานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ได้อย่างลงตัว
เรียบเรียงโดย....งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี ม.มหิดล