posttoday

Global Minimum Tax: เมื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษีจะไม่สำคัญอีกต่อไป

16 สิงหาคม 2566

เปิดบทบาทสิทธิประโยชน์ทางภาษีของ BOI เมื่อบริษัทข้ามชาติรายใหญ่และภาครัฐทั่วโลกต่างจับตาการจัดเก็บภาษีเงินได้ขั้นต่ำทั่วโลก หรือ Global Minimum Tax (GMT) ที่เริ่มมีผลบังคับใช้ในบางประเทศปีหน้า

Global Minimum Tax: เมื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษีจะไม่สำคัญอีกต่อไป

หนึ่งในประเด็นร้อนที่บริษัทข้ามชาติรายใหญ่จำนวนมากและภาครัฐของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกให้ความสนใจในช่วงนี้ คือ การจัดเก็บภาษีเงินได้ขั้นต่ำทั่วโลก หรือที่เรียกว่า Global Minimum Tax (GMT) ที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในบางประเทศในปีหน้า จนผู้อ่านหลายท่านอาจสงสัยว่าสิทธิประโยชน์ของ BOI จะเป็นอย่างไร บทความนี้จะชวนผู้อ่านทุกท่านมาทำความรู้จักกับ GMT กัน

BEPS: จุดเริ่มต้นของ GMT
ก่อนจะลงรายละเอียดเรื่อง GMT คงจะต้องเล่าถึงจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมดก่อน ในปี 2013 องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (The Organization for Economic Cooperation and Development: OECD) ได้ร่วมมือกับ G20 (กลุ่มประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 19 ประเทศ และสหภาพยุโรป) เพื่อกำหนดกรอบการดำเนินงานระหว่างประเทศในการจัดการกับการหลบเลี่ยงภาษีของบริษัทข้ามชาติ (Multinational Enterprises: MNEs) ซึ่งใช้การย้ายผลกำไรจากประเทศที่มีอัตราภาษีสูงไปยังประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ

โดยอาศัยช่องว่างและความไม่สอดคล้องกันของกฎหมายภาษีในแต่ละประเทศ หรือที่เรียกว่า BEPS (Base Erosion and Profit Shifting) การกำหนดกรอบการดำเนินงานดังกล่าวเกิดขึ้น เนื่องจากทุกประเทศมีความเห็นตรงกันว่าการแก้ไขปัญหา BEPS ไม่สามารถแก้ไขได้โดยประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่ต้องเป็นการทำงานร่วมกันของทุก ๆ ประเทศ โดย OECD ประเมินว่า BEPS ได้สร้างความสูญเสียในการจัดเก็บรายได้กว่า 100,000 - 240,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี หรือร้อยละ 4 - 10 ของการจัดเก็บภาษีเงินได้ทั่วโลก

ในปี 2015 OECD ได้นำเสนอ 15 มาตรการ (15 Action Points) ที่เกี่ยวข้องกับ BEPS ครอบคลุมหลากหลายมิติ อาทิ ภาษีในเศรษฐกิจดิจิทัล การหลีกเลี่ยงการเป็นสถานประกอบการถาวร (Permanent Establishment) การกำหนดราคาโอน (Transfer pricing) เพื่อประเทศสมาชิกนำไปปรับปรุงกระบวนการและแนวทางในการจัดเก็บภาษี โดยมี 4 มาตรการ ที่เป็นเงื่อนไขให้ประเทศสมาชิกต้องนำไปใช้

คือ มาตรการที่ 5 การตอบโต้การดำเนินการทางภาษีที่เป็นภัยอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยคำนึงถึงความโปร่งใสและรายละเอียด (Counter harmful tax practices more effectively, taking Into account transparency and substance) มาตรการที่ 6 การป้องกันการใช้อนุสัญญาภาษีซ้อนในทางที่ไม่ถูกต้อง (Prevent treaty abuse) มาตรการที่ 13 การจัดทำเอกสารราคาโอนและรายงานของแต่ละประเทศ (Transfer pricing documentation and Country-by-Country reporting) และมาตรการ 14 การปรับปรุงกลไกในการระงับข้อพิพาทให้มีประสิทธิภาพ (Making dispute resolution mechanisms more effective)

Global Minimum Tax: เมื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษีจะไม่สำคัญอีกต่อไป

Two-Pillar Solution: เมื่อ 15 มาตรการยังไม่เพียงพอ
ถึงแม้ว่า OECD ได้ประกาศ 15 มาตรการเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหา BEPS แล้ว แต่ยังคงพบว่า ในโลกปัจจุบันที่เศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ปัญหา BEPS ยังคงมีช่องว่างให้บริษัทข้ามชาติสามารถสร้างกำไรได้อย่างมหาศาลโดยไม่เสียภาษี นอกจากนั้น ด้วยโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่ที่ใช้ทรัพย์สินทางปัญญาในการสร้างรายได้ยิ่งทำให้การย้ายแหล่งรายได้ไปยังประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น

ในปี 2021 OECD จึงประกาศวิธีการแก้ไขปัญหาแบบ 2 เสาหลัก เพื่อรับมือกับความท้าทายด้านภาษีที่เกิดจากเศรษฐกิจดิจิทัล (Two-Pillar Solution to Address the Tax Challenges Arising from the Digitalisation of the Economy) โดยได้กำหนดกลไกในการรับมือกับความท้าทายด้านภาษี 2 เรื่อง เรียกว่า Two-Pillar Solution ประกอบไปด้วย 

Pillar 1 เป็นการให้ประเทศที่เป็นแหล่งเงินได้ของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่สามารถจัดเก็บภาษีจากบริษัทข้ามชาติดังกล่าวได้ โดยคำนวณจากสัดส่วนกำไรที่จะต้องปันให้ประเทศแหล่งรายได้ ซึ่งไม่คำนึงว่าบริษัทข้ามชาติดังกล่าวจะมีการจัดตั้งนิติบุคคลในประเทศแหล่งเงินได้หรือไม่

โดยความหมายของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ภายใต้ Pillar 1 คือ ต้องมีรายได้รวมมากกว่า 20,000 ล้านยูโรและมีอัตรากำไรมากกว่าร้อยละ 10  ของรายได้ สำหรับประเทศแหล่งรายได้ที่จะได้รับการปันส่วนกำไร เพื่อคำนวณภาษีจะต้องเป็นประเทศที่บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่มีรายได้จากประเทศดังกล่าวอย่างน้อย 1 ล้านยูโร การแบ่งสัดส่วนการจัดเก็บภาษีไปยังประเทศแหล่งรายได้จะร้อยละ 25 ของส่วนกำไรที่เกินร้อยละ 10 ของรายได้ของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่

ด้วย Pillar 1 นี้มีไว้เพื่อแก้ไขปัญหาที่บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่สามารถสร้างรายได้จากประเทศต่างๆ ผ่านโดยไม่จำเป็นต้องมีการจัดตั้งบริษัทในประเทศดังกล่าว อาทิ ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ซึ่งมีรายได้จากค่าสมัครสมาชิกหรือค่าโฆษณา

Pillar 2 เป็นกลไกในการกำหนดให้บริษัทข้ามชาติจะต้องเสียภาษีขั้นต่ำในอัตราที่กำหนด ภายใต้ Pillar 2 จะประกอบกฎ 2 ข้อ ได้แก่ 

1.    Global anti-Base Erosion (GloBE) Rules เป็นกฎที่จะกำหนดให้บริษัทข้ามชาติจะต้องเสียภาษีในอัตราขั้นต่ำร้อยละ 15 ไม่ว่าผลกำไรจะเกิดขึ้นในที่ใดในโลก ซึ่งก็คือ GMT ที่ได้กล่าวถึงในตอนต้น บริษัทข้ามชาติที่เข้าข่ายต้องปฏิบัติตาม GloBE คือ บริษัทข้ามชาติที่บริษัทในกลุ่มที่มีรายได้รวมกันตั้งแต่ 750 ล้านยูโรขึ้นไป โดยกระบวนการในการจัดเก็บภาษี สามารถอธิบายโดยสรุปได้ ดังนี้

-    หน่วยงานจัดเก็บภาษีของแต่ละประเทศสมาชิกจะพิจารณาจากอัตราภาษีที่แท้จริง (Effective Tax Rate: ETR) ของบริษัทภายใต้กลุ่มบริษัทข้ามชาติที่เข้าข่ายที่ตั้งอยู่ในประเทศนั้น หาก ETR ของบริษัทใดต่ำกว่าร้อยละ 15 หน่วยงานจัดเก็บภาษีสามารถออกกฎระเบียบเพื่อการจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่ม (Domestic Top-up Tax: DMTT) เพื่อให้อัตราภาษีไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 

-    หากหน่วยงานจัดเก็บภาษีในประเทศที่ตั้งของบริษัทดังกล่าวไม่จัดเก็บ Top-up Tax ประเทศที่เป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของกลุ่มบริษัทข้ามชาติสามารถจัดเก็บ Top-up Tax จากบริษัทในกลุ่มบริษัทข้ามชาติที่มี ETR ต่ำกว่าร้อยละ 15 แทนได้ กฎนี้เรียกว่า the Income Inclusion Rule (IIR)

-    หากหน่วยงานจัดเก็บภาษีในประเทศที่เป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของกลุ่มบริษัทข้ามชาติไม่บังคับใช้ IIR หรือบังคับใช้แล้วแต่ยังมีส่วนที่มิได้ถูกจัดเก็บภายใต้ IIR  ส่งผลให้ ETR ของสำนักงานใหญ่ของกลุ่มบริษัทข้ามชาติยังต่ำกว่าร้อยละ 15 รายได้ส่วนที่เหลือจะถูกปันส่วนให้บริษัทในกลุ่มในประเทศที่นำกฎนี้ไปใช้ โดยจะพิจารณาการปันส่วนจากมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชีและการจ้างงานของบริษัท กฎนี้เรียกว่า Undertaxed Payments Rule (UTPR)

2.    Subject to Tax Rule (STTR) เป็นกฎที่อนุญาตให้ประเทศแหล่งรายได้สามารถจัดเก็บภาษีส่วนต่างจากค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นระหว่างบริษัทในกลุ่มบริษัทข้ามชาติได้ หากบริษัทเหล่านั้นจ่ายภาษีในอัตราที่ต่ำกว่าอัตราภาษีขั้นต่ำ ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 9 ของมูลค่าธุรกรรม มิใช่รายได้รวมของทั้งบริษัท

อย่างไรก็ตาม หากมีการเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย (Withholding Tax) ในอัตราที่เท่ากับหรือสูงกว่าร้อยละ 9 สำหรับรายได้ที่ครอบคลุมแล้ว ก็จะไม่มีการให้เก็บภาษีส่วนต่างเพิ่มเติมได้ กำหนด Pillar 2 นี้ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการหลบเลี่ยงภาษีของบริษัทข้ามชาติที่โยกย้ายกำไรและธุรกรรมไปยังประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ ทั้งในแง่รายได้จากการประกอบธุรกิจและรายได้จากค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างบริษัทในกลุ่ม

GMT กับสิทธิประโยชน์ BOI: กระทบแต่ไม่ทั้งหมด
จากทั้ง 2 กลไก จะเห็นได้ว่า Pillar 1 จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถจัดเก็บภาษีได้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่นั้น มีรายได้จากการให้บริการในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก แต่รายได้ดังกล่าวกลับถูกส่งไปยังบริษัทที่จัดตั้งอยู่ในต่างประเทศ การปันส่วนกำไรตาม Pillar 1 จึงเป็นผลดีกับประเทศไทย

ในทางกลับกัน Pillar 2 เป็นกลไกที่ประเทศไทยต้องมีการประเมินผลกระทบอย่างรอบคอบ รวมถึงต้องเตรียมมาตรการเพื่อรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของ GloBE Rule เนื่องจากประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศกำลังพัฒนาที่มีการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ การกำหนดให้มีการจัดเก็บภาษี
ขั้นต่ำย่อมส่งผลกระทบต่อการดึงดูดการลงทุนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเงื่อนไขของบริษัทข้ามชาติที่จะต้องมีรายได้รวมทั้งกลุ่มตั้งแต่ 750 ล้านยูโรขึ้นไป จึงจะเข้าข่ายถูกพิจารณาจัดเก็บภาษีขั้นต่ำร้อยละ 15 ดังนั้น เครื่องมือทางภาษีของ BOI จะได้รับผลกระทบในบางส่วนเท่านั้น ทั้งนี้ BOI ก็มิได้นิ่งนอนใจต่อเรื่องดังกล่าว

โดยภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่ที่พึ่งประกาศใช้เมื่อปลายปี 2565 BOI มุ่งจะปรับบทบาทเพิ่มเติมนอกเหนือจากการเป็นผู้ส่งเสริมการลงทุน (Promoter) ผ่านการให้สิทธิประโยชน์ โดยจะเพิ่มบทบาทในการเป็นผู้ประสาน (Integrator) ผู้เกี่ยวข้องในการลงทุน ผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) เพื่อให้เกิดการลงทุน (Facilitator) และ ผู้เชื่อมโยง (Connector) ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทาน ทั้งนี้ เพื่อจุดมุ่งหมายที่สำคัญ คือ การส่งเสริมให้เกิดการลงทุนที่จะเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจประเทศไปสู่เศรษฐกิจใหม่

บทความโดย : นายศิรพันธ์ ยงวัฒนานันท์ นักวิชาการส่งเสริมการลงทุน ระดับชำนาญการพิเศษ

หมายเหตุ : บทความดังกล่าวเป็นความคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับบีโอไอแต่อย่างใด