posttoday

ความเหลื่อมล้ำในภาคการท่องเที่ยวของไทย: สิ่งที่ควรพัฒนาเพิ่มเติม

30 สิงหาคม 2566

ทีดีอาร์ไอ ฉายภาพท่องเที่ยว แนะรัฐบาลใหม่ เร่งลดความเหลื่อมล้ำ ผลักดันนักท่องเที่ยวไทย-ต่างประเทศเดินทางจากเมืองหลักสู่เมืองรอง เพื่อกระจายรายได้กับชุมชน ในทุกจังหวัดให้ทั่วถึงมากขึ้น แก้โจทย์ฟื้นท่องเที่ยวกลับมาเข้มแข็งดังเดิม

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่รองรับนักท่องเที่ยวเข้ามาเป็นจำนวนมาก สร้างรายได้ให้กับประเทศมากถึง 3 ล้านล้านบาทต่อปีในช่วงก่อนที่จะเกิดโควิด-19 โดยรายได้ดังกล่าวเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 2 ใน 3 และเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวไทยประมาณ 1 ใน 3

 

แม้ว่าภาคท่องเที่ยวในปัจจุบันยังคงไม่สามารถฟื้นตัวกลับไปเติบโตดีเหมือนเช่นเดิมในอดีต แต่อย่างน้อย รัฐบาลใหม่ก็ได้ตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยสามารถสร้างรายได้ให้กลับมาสูงมากเช่นเดิมอีกครั้ง

 

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาในแง่ของความเหลื่อมล้ำในภาคการท่องเที่ยวของไทย จะพบว่า ใน 77 จังหวัดของไทยนั้น จะมี 22 จังหวัดที่ถือได้ว่าเป็นจังหวัดหลักในด้านการท่องเที่ยว คือ เป็นจังหวัดที่เป็นเป้าหมายหลักในการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ ซึ่งได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น นครราชสีมา กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง กระบี่ พังงา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี สงขลา กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสระบุรี
    

 

เมื่อเปรียบเทียบข้อมูลทางสถิติระหว่างจังหวัดหลักและจังหวัดรอง โดยใช้สถิติปี 2019 จะพบว่า สัดส่วนนักท่องเที่ยวไทยที่แวะไปจังหวัดหลัก (มีการนับซ้ำหากไปทั้งจังหวัดหลักและรอง) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 63 และมีรายจ่ายในจังหวัดหลักคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 78 ในขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติแวะไปจังหวัดหลัก (มีการนับซ้ำหากไปทั้งจังหวัดหลักและรอง) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 92 และมีรายจ่ายในจังหวัดหลักคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 98

      

ในแง่ของรายจ่ายเฉลี่ยต่อหัวต่อทริป นักท่องเที่ยวไทยมีการใช้จ่ายประมาณ 5,850 บาทต่อคนต่อทริปในจังหวัดหลัก และ มีการใช้จ่ายเพียง 2,760 บาทต่อคนต่อทริปในจังหวัดรอง เช่นเดียวกัน นักท่องเที่ยวต่างชาติมีรายจ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อทริปที่ 22,682 บาท สำหรับจังหวัดหลัก และค่าใช้จ่ายเพียง 5,548 บาทต่อคนต่อทริปในจังหวัดรองเท่านั้น 

    

เมื่อนำข้อมูลของแต่ละจังหวัดมาพิจารณาในแง่ของความเหลื่อมล้ำ โดยเรียงจากจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวน้อยที่สุด ไปหาจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวมากที่สุด และจังหวัดที่ได้รับเงินจากภาคท่องเที่ยวน้อยที่สุดไปหาจังหวัดที่ได้รับเงินจากภาคท่องเที่ยวสูงที่สุด โดยพิจารณาในแง่ของสัดส่วนร้อยละของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด และรายได้จากภาคท่องเที่ยวทั้งหมด จะสะท้อนออกมาในรูปของกราฟความเหลื่อมล้ำที่เรียกว่า Lorenz Curve ซึ่งหากปัญหาความเหลื่อมล้ำมีน้อยกราฟจะอยู่ใกล้กับเส้นทะแยงมุม 45 องศา และยิ่งห่างจากเส้นทะแยงมุมมากเท่าไหร่ยิ่งมีความเหลื่อมล้ำมากเท่านั้น

 

ความเหลื่อมล้ำในภาคการท่องเที่ยวของไทย: สิ่งที่ควรพัฒนาเพิ่มเติม

 

ความเหลื่อมล้ำในภาคการท่องเที่ยวของไทย: สิ่งที่ควรพัฒนาเพิ่มเติม

 

ผลการศึกษาพบว่ าปัญหาความเหลื่อมล้ำในแง่ของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าไปท่องเที่ยวในแต่ละจังหวัดมีปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทั้งในกลุ่มนักท่องเที่ยวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ และยิ่งหากพิจารณาในแง่ของเม็ดเงินที่แต่ละจังหวัดได้รับจะพบว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำยิ่งหนักขึ้นมาก
    

จึงเป็นโจทย์ความท้าทายให้กับรัฐบาลใหม่ที่นอกจากจะเร่งให้ภาคท่องเที่ยวกลับฟื้นคืนมาเข้มแข็งดังเดิมแล้ว ยังต้องกระจายจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ให้กับทุกจังหวัดอย่างทั่วถึงมากขึ้นอีกด้วย

 

โดย : ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)