posttoday

รายได้เกิน 1.8 ล้าน ธุรกิจ SME ต้องจด Vat หรือไม่

03 กรกฎาคม 2567

ธุรกิจ SME ที่เป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล หากมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี จะต้องเข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งหมด ซึ่งในปัจจุบันผู้ประกอบการต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7

          เป็นที่ทราบกันว่าการประกอบธุรกิจการค้า การบริการ ทั้งที่อยู่ในรูปแบบบุคคลธรรมดา นิติบุคคล หรือธุรกิจขนาดใหญ่ รวมถึงธุรกิจ SME หากมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี จะต้องเข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่มด้วยกันทั้งหมด ซึ่งในปัจจุบันผู้ประกอบการต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7

          ดังนั้นธุรกิจ SME ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ต้องศึกษารายละเอียดและวางแผนการเสียภาษีในธุรกิจที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี สามารถศึกษารายละเอียดได้ในบทความดังต่อไปนี้  

Vat (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) คืออะไร

          Vat (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) เป็นภาษีจากการขายสินค้าและบริการ ทั้งที่ผลิตภายในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีไม่ว่าจะประกอบธุรกิจ SME ในรูปแบบนิติบุคคล หรือบุคคลธรรมดาก็ตาม หากมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ธุรกิจดังกล่าวจำเป็นต้องจด Vat (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) ภายใน 30 วัน นับจากวันที่มีรายได้เกิน   

          โดยวิธีการตรวจสอบว่าธุรกิจเรามีรายได้เกิน 1.8 ล้านต่อปีแล้วหรือยัง สามารถดูจากตัวอย่างได้ดังนี้ สมมุติว่าผู้ประกอบธุรกิจ SME มีรายได้จากการขายของออนไลน์ 1,000,000 บาท และมีรายได้จากการเปิดร้านอาหารอีก 1,050,000 บาท  รวมทั้งปีมีรายได้รวม 2,050,000 บาท ดังนั้นตามเกณฑ์ Vat จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มนั่นเอง ส่วนอัตรา Vat (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) สำหรับผู้ประกอบการขายสินค้าและบริการรวมถึงนำเข้าจะต้องเสีย Vat ในอัตราร้อยละ 7      

ผู้ประกอบการ SME ต้องจด Vat ตอนไหน และเอกสารที่ต้องใช้มีอะไรบ้าง

          เชื่อว่าหลายคนคงมีความสับสนว่าเราจะต้องจด Vat เมื่อไหร่ หรืออาจสับสนว่ารายได้ถึงเกณฑ์ต้องจด Vat แล้วหรือยัง ให้ผู้ประกอบการ SME คำนวณง่ายๆ ตั้งแต่วันเริ่มกิจการขายสินค้าหรือให้บริการมีรายรับเข้ามาเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปีหรือไม่ หรือหากเข้าข่ายมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ผู้ประกอบการ SME มีสิทธิยื่นคำขอจด Vat (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) ภายใน 6 เดือนก่อนวันเริ่มประกอบธุรกิจได้ และให้จด Vat ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีรายรับเกินกว่า1.8 ล้านบาทต่อปี

          นอกจากนี้เอกสารที่ผู้ประกอบการ SME ต้องเตรียมเมื่อถึงเกณฑ์ที่จะต้องจด Vat มีดังนี้

  1. ให้ ยื่นคำขอจด Vat (ภ.พ.01) 
  2. ทะเบียนบ้านหรือหลักฐานแสดงการอยู่อาศัยจริง พร้อมสำเนา
  3. บัตรประจำตัวประชาชนและบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากร พร้อมสำเนา
  4. ภาพถ่ายอาคารหรืออสังหาริมทรัพย์อันเป็นที่ตั้งสถานประกอบการ (กรณีเช่า) หรือภาพถ่ายหนังสือยินยอมให้ใช้เป็นที่ตั้งสถานประกอบการ และหลักฐานแสดง กรรมสิทธิ์ เช่น เป็นเจ้าบ้าน สัญญาซื้อขาย คำขอหมายเลขบ้าน ใบโอนกรรมสิทธิ์ สัญญาเช่า พร้อมสำเนาทะเบียนบ้านที่เป็นที่ตั้งสถานประกอบการ
  5. หนังสือจัดตั้งห้างหุ้นส่วน พร้อมสำเนา (กรณีเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคล)
  6. หนังสือรับรองของนายทะเบียนห้างหุ้นส่วน บริษัท พร้อมวัตถุประสงค์ หนังสือบริคณห์สนธิและข้อบังคับ และใบทะเบียนพาณิชย์ พร้อมสำเนา (กรณีเป็นนิติบุคคล)
  7. บัตรประจำตัวประชาชนของกรรมการ ผู้จัดการ หรือหุ้นส่วนผู้จัดการ และสำเนาทะเบียนบ้าน พร้อมสำเนา
  8. แผนที่ซึ่งแสดงที่ตั้งของสถานประกอบการโดยสังเขป พร้อมสำเนา
  9. กรณีมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปแทน ต้องมีหนังสือมอบอำนาจปิดอากรแสตมป์ 10 บาท บัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจ และผู้รับมอบอำนาจ พร้อมสำเนา โดยผู้รับมอบอำนาจต้องมีอายุ 20 ปีขึ้นไป

หลังจด Vat ผู้ประกอบการ SME ต้องทำอะไรบ้าง

          กรณีที่ผู้ประกอบการได้ทำการจด Vat (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) ตามกฎหมายแล้ว ก็จะมีหน้าที่ในการบวก Vat 7% จากการขายสินค้าและบริการ โดยมีรายละเอียดดังนี้  

    1. ให้ผู้ประกอบการ SME ที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว จัดทำใบกำกับภาษีและสำเนาใบกำกับภาษี สำหรับการขายสินค้าหรือให้บริการทุกครั้ง แล้วทำการส่งมอบต้นฉบับใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือบริการ และเก็บสำเนาใบกำกับภาษีเพื่อใช้ยื่นภาษี ทั้งนี้สำเนาใบกำกับภาษีสามารถเก็บไว้ได้ไม่น้อยกว่า 5 ปี

    2. ให้ผู้ประกอบการ SME จัดทำภาษีซื้อ ภาษีขาย รายงานสินค้าและวัตถุดิบ ทุกรายการให้จัดทำภายใน 3 วันทำการ นับตั้งแต่วันที่ระบุไว้ในใบกำกับภาษี ส่วนรายงานสินค้าและวัตถุดิบ ให้นับแต่วันที่รับมาหรือจ่ายไป

    3. ให้ผู้ประกอบการ SME ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) พร้อมกับชำระภาษี (ถ้ามี) ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ส่วนกรณียื่นผ่าน Internet จะได้รับสิทธิขยายเวลาการยื่นแบบไปอีก 8 วัน

          กล่าวโดยสรุป ในการดำเนินธุรกิจ SME ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล หากมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) หากผู้ประกอบการ SME ละเลยจะโดนโทษปรับเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน และต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

          ทั้งนี้อยากแนะนำผู้ประกอบการ SME ในรูปแบบบุคคลธรรมดาหากได้ดำเนินธุรกิจมาระยะ หนึ่งแล้ว และธุรกิจเติบโตอย่างต่อเนื่องก็คงจะต้องเริ่มพิจารณาว่าควรจดทะเบียนบริษัทหรือยัง ซึ่งการจดทะเบียนบริษัทมีประโยชน์กับธุรกิจ SME มาก ทั้งในแง่ภาษีที่ได้รับยกเว้นภาษีถึง 300,000 บาท จากกำไรสุทธิ ซึ่งบุคคลธรรมดาจะได้รับยกเว้นภาษีแค่ 150,000 บาทจากเงินได้สุทธิ และมีโอกาสทางด้านการขอสินเชื่อ และเงินลงทุนมากกว่าธุรกิจ SME ในรูปแบบบุคคลธรรมดาอีกด้วย

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่  Inflow Accounting