EXIM BANK รุกสร้างเศรษฐกิจสีน้ำเงิน เติมเต็มเศรษฐกิจสีเขียว-พัฒนายั่งยืน
EXIM BANK พัฒนานวัตกรรมทางการเงินสีเขียวและสีน้ำเงินในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการทุกขนาด
วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้นานาประเทศทั่วโลก รวมถึงไทยให้ความสำคัญและตระหนักถึงความจำเป็นในการเดินหน้าแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ มุ่งเน้นให้ทุกองค์กรดำเนินกิจการโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Environmental Social and Governance : ESG) สอดคล้องกับกระแสการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลก ตามเจตนารมย์ของรัฐบาลสู่เป้าหมาย ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2608 ท่ามกลางปัจจัยท้าทายในด้านต่าง ๆ
ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เร่งปรับตัวสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เพื่อลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน แต่การเดินหน้าสู่ Green Economy อย่างสมบูรณ์จะเกิดขึ้นไม่ได้หากละเลยความสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) เพราะการเชื่อมโยงของทรัพยากรบนบกและทรัพยากรทางทะเลที่แยกออกจากกันได้ยาก ทำให้ขนาดของปัญหาใหญ่เกินกว่าที่ธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งจะรับมือได้ ทั้งนี้ข้อมูลจากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) ระบุว่า ปัจจุบันทะเลเป็นแหล่งรายได้ของประชากรกว่า 3,000 ล้านคนทั่วโลก สร้างการจ้างงานมากถึง 820 ล้านคนในอุตสาหกรรมประมงและที่เกี่ยวเนื่อง ขณะที่ 80% ของปริมาณการค้าโลกเป็นการขนส่งทางทะเล โดยประเมินค่า Blue Economy ของโลกไว้ถึง 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า อุปสรรคที่ทำให้การเดินหน้าสู่ Green Economy ไม่ราบรื่นแบ่งเป็นปัญหา “2 สูง 2 ต่ำ” ในส่วนของ 2 สูง คือ ผลกระทบจาก Climate Change สูง อุณหภูมิโลกร้อนขึ้น เกิดสภาพอากาศสุดขั้ว ทั้งภัยแล้ง พายุฝน น้ำท่วม เกิดคลื่นความร้อน ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหายจำนวนมาก และมาตรการทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลกสูงขึ้น ล่าสุดมีราว 18,000มาตรการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 16% เช่น มาตรการ CBAM ของสหภาพยุโรป Clean Competition Act ของสหรัฐฯ
ในขณะที่ 2 ต่ำ คือ เม็ดเงิน Climate Financeของโลกต่ำ ปัจจุบันมีสนับสนุนเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 1.3ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ยังต่ำกว่าความต้องการทางการเงินเพื่อป้องกัน Climate Change เฉลี่ย 8.6ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี จึงมีช่องว่างด้านเงินทุนราว 6 เท่า หรือขาดอีกราวปีละ 7.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เงินจำนวนนี้มาจากการประเมินความต้องการเงินลงทุนด้านต่าง ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นเกิด 1.5 องศาเซลเซียส ดังนั้นจึงเห็นว่าเม็ดเงินเพื่อป้องกัน Climate Changeยังไม่เพียงพอที่จะหยุดปัญหาโลกร้อนได้ และปัญหา Green Export ยังต่ำ ปัจจุบันทั่วโลกยังส่งออกสินค้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมน้อย โดยในปี 2564 ไทยส่งออกสินค้า Green เพียง 7.6% ของมูลค่าการส่งออกรวม ในขณะที่ประเทศอื่นก็ยังไม่สูงมาก เช่น เยอรมันนี 15.4% ญี่ปุ่น 15% จีน 10.4% และเกาหลีใต้ 10.2%
“ความต้องการเงิน Climate Finance ที่มีอยู่สูง ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ทางการเงินสีเขียวที่หลากหลาย เช่น ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน หรือ Sustainability Bond พันธบัตรเพื่อพัฒนาสังคม หรือ Social Bond พันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือ Green Bond กองทุนรวมตราสารทุนสีเขียว หรือ Green Equity Funds และ พันธบัตรสีน้ำเงิน หรือ Blue Bond เพื่อตอบสนองความต้องการของนักลงทุน” กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าว
ดร.รักษ์ กล่าวว่า ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ภายใต้การกำกับของกระทรวงการคลัง ที่มุ่งสู่เป้าหมายการเป็น “Green Development Bank” ร่วมสร้าง Ecosystem สู่เศรษฐกิจสีเขียว โดยเป็น Playmaker จัดสรรเงินทุนและทรัพยากรเพื่อสนับสนุนให้ภาคธุรกิจดำเนินงานโดยคำนึงถึงหลัก ESG เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนและบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ EXIM BANK ได้ประกาศความสำเร็จในการออกพันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล (Blue Bond) สกุลบาท อายุ 3 ปี วงเงินรวม 3,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยคงที่ 2.78% ต่อปี ภายใต้ Sustainable Finance Framework ซึ่ง ADB เป็นที่ปรึกษาการจัดทำ และให้การรับรองการออก Blue Bond โดย DNV (Thailand) Co., Ltd. ซึ่งเป็นองค์กรรับรองมาตรฐานชั้นนำระดับโลก และได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ AAA จาก Fitch Ratings นับเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐแห่งแรกที่ออก Blue Bond และมียอดการของซื้อสูงถึง 2.5 เท่าของวงเงินเสนอขาย
การระดมทุนในครั้งนี้จะนำไปส่งเสริมและสนับสนุนแก่ภาคธุรกิจและผู้ประกอบการที่ให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน อาทิ ธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวทางทะเล การประมง รวมถึงการเพาะเลี้ยงพืชและสัตว์น้ำ การจัดการและบำบัดน้ำเสีย การรีไซเคิลขยะจากทะเล และพาณิชยนาวี เป็นต้น เป็นสัญญาณชัดเจนที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ EXIM BANK ในการเป็นผู้นำด้านการเงินเพื่อความยั่งยืน สะท้อนให้เห็นถึงความจริงจังในการสนับสนุนโครงการที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนให้ประเทศไทยก้าวไปสู่เป้าหมาย SDGs EXIM BANK ได้พัฒนานวัตกรรมทางการเงินสีเขียว (Greenovation) มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการระดมทุน (Funding) และการให้สินเชื่อ (Financing) โดยก่อนหน้านี้ ธนาคารได้ระดมทุนด้วยการออกพันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม(Green Bond) จำนวน 5,000 ล้านบาท ในปี 2565 และออก SME Green Bond อายุ 3 ปี จำนวน 3,500ล้านบาท ในปี 2566 และตั้งเป้าหมายจัดโครงสร้างการจัดการผลิตภัณฑ์สนับสนุนธุรกิจสีเขียวหรือธุรกิจที่ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนโดยให้มีสัดส่วน 50% ของพอร์ตสินเชื่อรวมภายในปี 2570
“EXIM BANK มุ่งมั่นที่จะเป็นมากกว่าธนาคารสนับสนุนให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว จึงได้พัฒนานวัตกรรมทางการเงินสีเขียวและสีน้ำเงินในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการทุกขนาดธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยังได้ร่วมมือกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกกระตุ้นให้ภาคธุรกิจขึ้นทะเบียนลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ ผลักดันให้เกิดการซื้อขายคาร์บอนเครดิตขึ้นในประเทศไทย สนับสนุนการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้เติบโตอย่างยั่งยืนบนเวทีการค้าโลก” ดร.รักษ์กล่าว
*ชมความสำเร็จในการออก Blue Bond ได้ คลิกที่นี่