posttoday

ภาษีที่ผู้ประกอบการร้านขายของโบราณ SME ต้องจ่ายมีอะไรบ้าง

23 ตุลาคม 2567

ร้านขายของโบราณ SME กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากการทำตลาดออนไลน์ที่เข้าถึงลูกค้าได้ง่ายขึ้น เจ้าของร้านต้องเตรียมความรู้เรื่องภาษีที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับมือกับภาระทางภาษีอย่างถูกต้องสำหรับการดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ.

           ร้านขายของโบราณ SME เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและนับว่าเป็นธุรกิจที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน ซึ่งของโบราณหรือของสะสมมักมีคุณค่าและมีตลาดผู้ซื้อที่เฉพาะเจาะจง ทั้งนี้การทำตลาดร้านขายของโบราณ SME ปัจจุบันสามารถไปได้ไกลเพราะมีระบบร้านค้าแบบออนไลน์จึงทำให้เข้าถึงลูกค้าได้ง่ายขึ้นกว่าสมัยก่อน 

           ดังนั้นหนึ่งในความท้าทายที่ร้านขายของโบราณ SME ต้องเผชิญก็คือ ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของระบบภาษีที่ต้องจ่าย ซึ่งบทความนี้มุ่งเน้นให้ความรู้เกี่ยวกับภาษีที่ร้านขายของโบราณ SME จำเป็นต้องทราบ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความรับผิดชอบทางภาษีได้อย่างถูกต้อง

ภาษีที่ร้านขายของโบราณ SME อาจต้องจ่าย

           1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา, ภาษีเงินได้นิติบุคคล

           - ถ้าร้านขายของโบราณ SME เป็นบุคคลธรรมดา จะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามฐานรายได้ มาตรา 40(8) และต้องยื่นชำระภาษีปีละ 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 ให้นำรายได้ตั้งแต่เดือนมกราคม - มิถุนายน ของปีภาษีนั้น มายื่นภาษีช่วงเดือนกรกฎาคม - กันยายน ของปีที่มีเงินได้ หรือยื่นผ่านอินเตอร์เน็ตได้ภายในวันที่ 8 ตุลาคมของทุกปี ส่วนครั้งที่ 2 ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ให้นำรายได้ช่วงเดือนมกราคม - ธันวาคม ของปีภาษี ยื่นภาษีตั้งแต่เดือนมกราคม - มีนาคม ของปีถัดไป หรือยื่นผ่านอินเตอร์เน็ตภายในวันที่ 8 เมษายนของทุกปี

           - ถ้าร้านขายของโบราณ SME จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล (บริษัทหรือห้างหุ้นส่วน) และมีกำไรสุทธิไม่เกิน 3 แสนบาท จะได้รับการยกเว้นอัตราภาษี และได้รับอัตราภาษีร้อยละ 15 ของกำไรสุทธิ สำหรับกำไรสุทธิที่เกิน 300,001 บาท แต่ไม่เกิน 3,000,000 บาท ซึ่งต้องยื่นแบบแสดงรายได้ และเสียภาษีตามอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล SME 

           2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หากรายได้ของร้านขายของโบราณ SME เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและเรียกเก็บ VAT 7% จากการขายสินค้า ทั้งนี้หากรายได้ไม่ถึง 1.8 ล้านบาทต่อปี สามารถเลือกไม่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ แต่หากจดทะเบียนแล้วต้องจัดการเรื่อง VAT ให้ถูกต้อง

           3. ภาษีธุรกิจเฉพาะ (ถ้ามี) หากร้านค้าประกอบกิจการที่เข้าข่ายเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ เช่น การขายทรัพย์สินหรือของโบราณที่เป็นการให้เช่าซื้อ หรือการขายที่มีลักษณะพิเศษ อาจต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในอัตราที่กำหนด

           4. ภาษีหัก ณ ที่จ่าย (ถ้ามี) หากร้านขายของโบราณ SME ที่จดทะเบียนบริษัทเป็นนิติบุคคล มีการจ่ายค่าบริการ เช่น ค่าเช่าสถานที่ ค่าจ้างผู้รับจ้างอิสระ หรือค่าส่งเสริมการขาย จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งกรมสรรพากร

           5. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หากเป็นเจ้าของที่ดินหรืออาคารที่ใช้ประกอบธุรกิจ ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามที่กฎหมายกำหนด โดยอัตราภาษีขึ้นอยู่กับมูลค่าของที่ดินและอาคาร

           6. ภาษีป้าย เป็นภาษีที่เจ้าของกิจการต้องเจอและต้องเสียภาษี หากมีการติดตั้งป้ายใหม่หรือแสดงป้ายใหม่ ป้ายโฆษณานั้นจะต้องชำระภาษีป้ายต่อเจ้าพนักงานภายใน 15 วัน และจะต้องยื่นชำระภาษีป้ายทุกปีที่ยังติดตั้งป้าย โดยภาษีป้ายที่ต้องเสียจะคำนวณจากขนาดของป้าย และประเภทตัวอักษรไทยหรืออังกฤษที่กิจการร้านเสริมสวยใช้ 

           นอกจากนี้ในกรณีที่ร้านขายของโบราณมีการส่งออกสินค้าเพื่อการจำหน่ายไปยังต่างประเทศ ก็ต้องยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และยื่นใบขนของขาออกเพื่อผ่านพิธีการศุลกากรรวมถึงเสียอากรขาออกตามที่กฎหมายกำหนด

เปิดร้านขายของโบราณ SME ต้องปฏิบัติดังนี้

           การปฏิบัติตามข้อกำหนดสำหรับร้านขายของโบราณ SME (Small and Medium Enterprises) ในประเทศไทยมีหลายด้านที่ควรคำนึงถึง เพื่อให้ธุรกิจดำเนินไปได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายและประสบความสำเร็จ โดยหลักๆ มีข้อกำหนดดังนี้

           1. การจดทะเบียนธุรกิจ

           - ควรจดทะเบียนการค้า หรือจดทะเบียนนิติบุคคล เช่น บริษัทจำกัด หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด ขึ้นอยู่กับขนาดและรูปแบบธุรกิจ

            - ลงทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ถ้ามีรายได้เกิน 1.8 ล้าน ตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด

           2. การออกใบอนุญาตที่เกี่ยวข้อง

           - ใบอนุญาตขายของโบราณของเก่า (Antique Dealer License) ซึ่งต้องขอจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพาณิชย์ หรือสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าภายในพื้นที่นั้นๆ

           3. กฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค

           - ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลสินค้าอย่างชัดเจน เช่น แหล่งที่มา อายุ และสภาพของสินค้า

            - ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการโฆษณาและการรับประกันสินค้า

           4. การจัดการเรื่องภาษีให้ถูกต้อง และยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้ถูกต้องและตามกำหนดเวลา รวมถึงการจัดทำบัญชีและเก็บรักษาเอกสารทางการเงินให้ถูกต้องตามมาตรฐานบัญชี

           5. การปฏิบัติตามข้อกำหนดของหน่วยงานท้องถิ่น ตรวจสอบข้อกำหนดจากท้องถิ่น เช่น การออกแบบร้านให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม หรือข้อจำกัดในการแสดงสินค้าบางประเภท

           6. กฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา การขายสินค้าต้องไม่ละเมิดลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญา เช่น ขายสินค้าโบราณที่มีการปลอมแปลง

           กล่าวโดยสรุป การปฏิบัติตามข้อกำหนดทั้งหมดที่ได้กล่าวมาข้างต้นจะช่วยให้เจ้าของร้านขายของโบราณ SME สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นคงและปลอดภัยทางด้านภาษีในระยะยาว ทั้งนี้หากเจ้าของธุรกิจร้านขายของโบราณ SME ยังไม่ค่อยมั่นใจในเรื่องของการทำบัญชีและภาษีสามารถปรึกษาสำนักงานบัญชีที่มีคุณภาพได้ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนยิ่งขึ้น

อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่  Inflow Accounting