ธุรกิจออกแบบตกแต่งภายใน SME กับภาษีที่ต้องชำระ
ธุรกิจออกแบบตกแต่งภายใน SME ควรรู้เกี่ยวกับภาษีต่าง ๆ เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีหัก ณ ที่จ่าย เพื่อจัดการรายรับ-รายจ่ายอย่างถูกต้อง ลดความเสี่ยงจากการตรวจสอบ
ต้องยอมรับว่าในสังคมปัจจุบันการแข่งขันทางด้านธุรกิจทวีความรุนแรงขึ้นมาก ซึ่งการสร้างความประทับใจแรกพบให้กับลูกค้าถือว่าเป็นหัวใจสำคัญสำหรับทุกธุรกิจ ดังนั้นการตกแต่งภายในให้สวยงามหรูหราเสมือนเป็นหน้าเป็นตา ช่วยสร้างบรรยากาศให้น่าประทับใจตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้พบเห็นนั่นเอง
และด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ธุรกิจออกแบบตกแต่งภายทั้งขนาดใหญ่และขนาด SME เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ซึ่งนักออกแบบตกแต่งภายใน (Interior designer) หรือมัณฑนากร ก็ถือเป็นหัวใจหลักสำคัญในธุรกิจออกแบบตกแต่งภายใน SME เมื่อถูกว่าจ้างงานก็จะมีรายได้เข้ามา และจำเป็นต้องมีการเสียภาษีหากรายได้ถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด แล้วภาษีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจออกแบบตกแต่งภายใน SME มีอะไรบ้างลองมาตรวจเซ็กได้ดังนี้
ธุรกิจออกแบบตกแต่งภายใน SME กับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ธุรกิจออกแบบตกแต่งภายในที่เป็น SME และเสียภาษีในรูปแบบของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax) จะต้องพิจารณาในหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการจัดการภาษีของธุรกิจ โดยหลักๆ จะประกอบด้วย
1. ประเภทของรายได้
- รายได้จากการออกแบบและตกแต่งภายใน เช่น ค่าจ้างบริการ ค่าที่ปรึกษา ค่าจัดหาอุปกรณ์ ฯลฯ ซึ่งรายได้เหล่านี้จะถูกนำมาคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในแต่ละปีภาษี
2. การหักค่าใช้จ่าย
- ธุรกิจออกแบบตกแต่งภายใน SME จัดอยู่มาตรา 40(6) วิชาชีพอิสระ หรือมาตรา 40(8) หากมีค่าใช้จ่ายสูง มีทีมงาน (ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของสรรพากร) สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ตามกฎระเบียบที่กรมสรรพากรได้กำหนดไว้ ซึ่งอาจจะเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจ เช่น ค่าวัสดุอุปกรณ์ ค่าจ้างพนักงาน ค่าการตลาด และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการ
- การหักค่าใช้จ่ายสามารถเลือกได้สองวิธี คือหักแบบเหมา 30% (ม.40(6)) หรือ 60% (ม.40(8)) ของเงินได้ทั้งปี และหักตามจริง โดยการหักตามจริงต้องมีหลักฐานที่ชัดเจนแบบละเอียด
3. การคำนวณภาษี
- ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีขั้นบันไดตามระดับรายได้สุทธิ โดยเริ่มจาก 0% ไปจนถึง 35% ขึ้นอยู่กับจำนวนรายได้สุทธิที่เกิดขึ้นหลังจากหักค่าใช้จ่าย ซึ่งมีวิธีการคำนวณ คือ รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน x อัตราภาษี
4. การยื่นภาษี
- การยื่นภาษีจะต้องทำทุกปี โดยการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แบบ ภ.ง.ด.90 (ภาษีสิ้นปี) และ ภ.ง.ด.94 (ภาษีกลางปี) สามารถทำได้ผ่านระบบออนไลน์ของกรมสรรพากร (e-Filing) หรือยื่นผ่านเป็นเอกสารก็ได้เช่นกัน
ธุรกิจออกแบบตกแต่งภายใน SME กับภาษีเงินได้นิติบุคคล
ธุรกิจออกแบบตกแต่งภายใน SME หากมีการจดบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดจะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมาย ซึ่งหลักการเบื้องต้นในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลมีดังนี้
1. อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล
- สำหรับ SME ที่มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท และรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี จะได้รับอัตราภาษีพิเศษดังนี้
- กำไรสุทธิไม่เกิน 300,000 บาท ได้รับการยกเว้นภาษี
- กำไรสุทธิ 300,001 - 3,000,000 บาท เสียภาษี 15%
- กำไรสุทธิเกิน 3,000,001 บาท เสียภาษี 20%
2. รายได้และค่าใช้จ่ายที่ต้องนำมาคำนวณภาษี
- รายได้จากการให้บริการออกแบบและตกแต่งภายในทั้งหมด
- ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจ เช่น ค่าวัสดุ ค่าจ้างแรงงาน ค่าเช่าสถานที่ ค่าสาธารณูปโภค เป็นต้น
3. การยื่นและชำระภาษี
- การยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด. 50) จะต้องยื่นภายใน 150 วันหลังจากสิ้นสุดรอบบัญชี
- การชำระภาษีหัก ณ ที่จ่าย (ภ.ง.ด. 53) สำหรับการจ่ายค่าบริการให้กับผู้รับเหมาอื่นๆ
- การยื่นแบบแสดงรายการภาษีกลางปี (ภ.ง.ด. 51) เพื่อประมาณการกำไรและชำระภาษี
4. สิทธิพิเศษทางภาษีสำหรับธุรกิจ SME
- ธุรกิจออกแบบตกแต่งภายใน SME อาจมีสิทธิได้รับการยกเว้นภาษีบางส่วนหรือได้รับการลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมตามมาตรการส่งเสริมจากรัฐบาลในแต่ละปี เช่น การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ การใช้เครื่องมือเครื่องใช้ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ธุรกิจออกแบบตกแต่งภายใน SME กับภาษีมูลค่าเพิ่ม
ธุรกิจออกแบบตกแต่งภายใน SME ที่มีความเกี่ยวข้องกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) สามารถอธิบายได้ต่อไปนี้
1. หากธุรกิจออกแบบตกแต่งภายใน SME ที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี จะต้องลงทะเบียนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎหมายกำหนด
2. เมื่อเป็นผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว จะต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากลูกค้าในอัตรา 7% ของมูลค่าสินค้าหรือบริการ และออกใบกำกับภาษีให้ลูกค้า
3. ภาษีมูลค่าเพิ่มที่เรียกเก็บจากลูกค้าต้องนำส่งให้กรมสรรพากรภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป โดยใช้แบบ ภ.พ.30
4. สามารถนำภาษีซื้อ (VAT) ที่จ่ายในการซื้อสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ มาหักออกจากภาษีขาย (VAT ที่เก็บจากลูกค้า) เพื่อคำนวณภาษีที่ต้องนำส่งสรรพากร
ธุรกิจออกแบบตกแต่งภายใน SME กับภาษีหัก ณ ที่จ่าย
ภาษีหัก ณ ที่จ่าย (Withholding Tax) เป็นภาษีที่ผู้จ่ายเงินที่เป็นนิติบุคคล (เช่น ลูกค้า) ต้องหักจากยอดที่จ่ายให้กับผู้รับเงิน (เช่น ธุรกิจออกแบบตกแต่งภายใน SME หรือ Interior designer) แล้วผู้หักนำส่งให้กับกรมสรรพากร โดยภาษีหัก ณ ที่จ่าย จะคำนวณเป็นเปอร์เซ็นต์จากยอดที่จ่าย ซึ่งเปอร์เซ็นต์นั้นขึ้นอยู่กับประเภทของบริการหรือสินค้าที่จัดจำหน่าย
ดังนั้น อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย สำหรับธุรกิจออกแบบตกแต่งภายใน SME อัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย จะอยู่ที่ประมาณ 3% ของค่าบริการ (ขึ้นอยู่กับประเภทของบริการและสัญญาระหว่างคู่สัญญา) ซึ่งลูกค้าหรือผู้ว่าจ้างจะต้องหักภาษีนี้และนำส่งให้กับกรมสรรพากรต่อไป
กล่าวโดยสรุป การเข้าใจและปฏิบัติตามข้อกำหนดทางภาษีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจออกแบบตกแต่งภายใน SME จะช่วยให้ธุรกิจดำเนินการได้อย่างราบรื่นช่วยลดความเสี่ยงในการถูกตรวจสอบจากกรมสรรพากร และยังช่วยให้ธุรกิจสามารถบริหารจัดการภาษีได้อย่างเป็นระบบอีกด้วย ถ้าหากเจ้าของธุรกิจออกแบบตกแต่งภายใน SME ยังไม่มั่นใจในเรื่องของบัญชีภาษีว่าจะปฏิบัติได้อย่างถูกต้องหรือไม่นั้น สามารถมองหาผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีหรือบริษัทบัญชีที่คอยให้คำปรึกษาและเป็นคู่คิดทางธุรกิจได้เป็นอย่างดี
อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ Inflow Accounting