อ่านเกมลงทุนหุ้นไทยเดือน พ.ย.67 เปิดมุมคิดสงครามการค้า
สรุปมุมมองการลงทุนเดือน พฤศจิกายน 2567 ปัจจัยบวก “แบงก์ชาติลดอัตราดอกเบี้ย-รัฐแจกเงินสด-ฤดูท่องเที่ยว”สะท้อนราคาหุ้นทั้งหมด บวกเม็ดเงินกองทุนวายุภักษ์ไหลเข้าสูงสุดก่อนลดลง การเมืองในประเทศกดดันหุ้นไทยแกว่งกรอบแคบ อัพไซด์จำกัด
ในเดือน ต.ค.2567 ที่ผ่านมา ดัชนี MSCI All-Country World Equity แกว่งตัวในกรอบ 844 - 857 จุด โดยฤดูการประกาศผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 67 ได้เริ่มขึ้นแล้ว ขณะที่มูลค่าตลาดที่แพงทำให้นักลงทุนเพิ่มความระมัดระวัง ซึ่งพอร์ตการลงทุนแบบอนุรักษ์นิยม(Conservative)แบบความเสี่ยงปานกลาง(Moderate)และแบบเชิงรุก(Aggressive)ของหลักทรัพย์บัวหลวง ให้ผลตอบแทนในเดือน ต.ค. (ในสกุลเงินบาท) อยู่ที่ 0.8% 1.1% และ 1.4% ตามลำดับ นับจากต้นปีผลตอบแทนพอร์ตการลงทุนแบบอนุรักษ์นิยม (Conservative) แบบความเสี่ยงปานกลาง (Moderate) และแบบเชิงรุก (Aggressive) อยู่ที่ระดับ 2.7% 8.3% และ9.0% ตามลำดับ
สำหรับมุมมองการลงทุนตลาดหุ้นไทย ทีมวิจัยหลักทรัพย์ คาดว่าดัชนี SET จะแกว่งตัวในกรอบแคบ โดยมีอัพไซด์จำกัด เนื่องจากปัจจัยบวกส่วนใหญ่ได้สะท้อนในราคาหุ้นไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการลดอัตราดอกเบี้ยของ ธปท. การแจกเงินสดของรัฐและฤดูกาลท่องเที่ยว ทั้งนี้การเข้าซื้อหุ้นจากกองทุนวายุภักษ์อาจถึงจุดสูงสุดในเดือน พ.ย. หลังจากนั้นจะชะลอลง อิงจากการซื้อสุทธิรายวันเฉลี่ย โดยนักลงทุนสถาบันในประเทศที่ประมาณ 3,100 ล้านบาท ในสองสัปดาห์แรกของเดือนต.ค. และการประมาณขนาดกองทุนวายุภักษ์ที่ 1.5 ล้านล้านบาท โดยมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นอยู่ในช่วง 50-80%
โดยคาดการณ์ว่า การซื้อจากกองทุนวายุภักษ์จะชะลอลงในเดือน พ.ย. จะลดแรงหนุนต่อตลาด นอกจากนี้คาดการณ์กำไรของ SET ยังคงถูกปรับลดลง โดยลดลง 1.2% ในเดือน ต.ค. (จาก Bloomberg Consensus) ฉุดจากการปรับลดประมาณการของกลุ่มเคมีภัณฑ์วัสดุก่อสร้างและยานยนต์
ปัจจัยสำคัญที่อาจส่งผลต่อตลาดหุ้นไทย คือ ผลการเลือกตั้งของสหรัฐฯ ซึ่ง โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ให้คำมั่นว่า หากชนะ Trump จะเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าจากจีนอย่างหนัก (และเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าจากประเทศอื่นๆเช่นกัน แต่ด้วยอัตราที่น้อยกว่าจีน) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการค้าทั่วโลก (ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีอำนาจในการประกาศเก็บภาษีโดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากรัฐสภา)
นอกจากนี้ ความตึงเครียดทางการเมืองอาจทวีความรุนแรงขึ้น หลังจากอิหร่านขู่ตอบโต้ หลังจากอิสราเอลโจมตีเป้าหมายในอิหร่าน
กลับมาที่ “ประเทศไทย” ความไม่แน่นอนทางการเมืองอาจเพิ่มขึ้น หากศาลรฐัธรรมนูญรับเรื่องพิจารณาคดีการยุบพรรคเพื่อไทย กรณีอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร มีพฤติกรรมครอบงำพรรค ซึ่งสถานการณ์นี้อาจเพิ่มความผันผวนต่อตลาดในเดือน พ.ย. อย่างไรก็ตามหากผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 67 สูงกว่าที่คาดการณ์ถือเป็นอัพไซด์ของดัชนี SET
ส่วนมุมมองตลาดหุ้นสหรัฐ ตามปกติแล้วในช่วงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ตลาดหุ้นมักจะเผชิญกับความผันผวนและการปรับตัวลง เนื่องจากความไม่แน่นอนทางการเมือง อย่างไรก็ตามในปีนี้กลับมีความผิดปกติเมื่อเปรียบเทียบกับครั้งอื่นๆ โดย S&P 500 ได้ปรับตัวขึ้น 3.6% ในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. ซึ่งแตกต่างจากค่าเฉลี่ย -4.2% ในช่วง 28 ปีที่ผ่านมา ปัจจัยทางการเมืองที่ควรสร้างความผันผวนให้กับตลาด เช่น เหตุการณ์ลอบสังหาร โดนัลด์ ทรัมป์ และการถอนตัวของประธานาธิบดี โจ ไบเดน กลับไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อตลาด โดยนักลงทุนยังคงตอบรับสถานการณ์เหล่านี้อย่างสงบ ให้น้ำหนักกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจมากกว่า โดยเฉพาะการชะลอตัวของเงินเฟ้อและท่าทีที่ผ่อนคลายลงของเฟด
หลายฝ่ายเชื่อว่าชัยชนะของทรัมป์จะส่งผลบวกต่อตลาดหุ้นผ่านนโยบายลดภาษี อย่างไรก็ตามประสบการณ์จากสมัยแรกของทรัมป์ชี้ให้เห็นว่า กระบวนการอนุมัตินโยบายภาษีต้องผ่านการพิจารณาจากสภาคองเกรสในช่วงของการอนุมัติงบประมาณ โดยในปี 2560 แม้ทรัมป์จะเข้ารับตำแหน่งตั้งแต่เดือนม.ค. แต่นโยบาย Tax Cuts ผ่านการพิจารณาในปลายปี ดังนั้นเมื่อทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง ผลกระทบต่อตลาดหุ้นอาจไม่เป็นบวกในทันที ในขณะที่ความเสี่ยงจากนโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าจะส่งผลลบทันที นอกจากนี้ภายหลังจากการเลือกตั้ง ตลาดมีแนวโน้มที่จะหันกลับมาให้น้ำหนักที่ปัจจัยทางเศรษฐกิจและผลประกอบการของบริษัทในระยะสั้นมากขึ้น ส่งผลให้จิตวิทยาเชิงบวกจากความคาดหวังเรื่องนโยบาย
นอกเหนือจากนโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าของทรัมป์ที่จะส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อแล้ว อีกปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้สถานการณ์แย่ลง คือ การขยายตัวของความขัดแย้งในระหว่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามในตะวันออกกลางและยุโรป ซึ่งกำลังทวีความรุนแรงขึ้น สถานการณ์นี้อาจส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานอย่างมาก ในอดีตสงครามในภูมิภาคเหล่านี้มักทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นอย่างรุนแรง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการทั่วโลกเพิ่มขึ้น และทำให้สหรัฐฯ เผชิญกับแรงกดดันเงินเฟ้อที่สูงขึ้น
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ สงครามอ่าวเปอร์เซีย ในปี 2533 ที่เกิดขึ้นหลังจากอิรักบุกคูเวต ส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นกว่า 170% ภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน ซึ่งในขณะนั้นสหรัฐเผชิญกับการขึ้นของราคาพลังงานอย่างรุนแรงทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อและส่งผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจ ดังนั้นนโยบายของทรัมป์ที่เน้นการเพิ่มภาษีนำเข้าจะสร้างความเสี่ยงเพิ่มเติมให้กับเงินเฟ้อ ซึ่งจะทำให้สหรัฐฯ ต้องเผชิญกับความท้าทายทางด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากการคุมเงินเฟ้อในช่วงสงครามเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและยากต่อการคาดการณ์ในที่สุด นโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์ที่เสนอไว้ในการเลือกตั้งครั้งนี้อาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเงินเฟ้อซ้ำซ้อนกับแรงกดดันจากความไม่แน่นอนทางการเมืองและสงครามในระดับโลก ซึ่งนักลงทุนควรตระหนักถึงความเสี่ยงนี้ ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกมีความเปราะบาง
จากการประเมินปัจจัยต่างๆ ทั้งความเสี่ยงจากนโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์การขยายตัวของสงครามในตะวันออกกลาง รวมถึงการตอบสนองของนักลงทุนต่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ เป็นที่ชัดเจนว่า ปี 2568 อาจไม่ใช่ปีที่ราบรื่นสำหรับตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในอดีตเหตุการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจในช่วงการเปลี่ยนผ่านของนโยบายรัฐบาลมักสร้างความผันผวนให้กับตลาด ตัวอย่างเช่น ในปี 2561 ยุค Trump 1.0 ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีความผันผวนมากจากปัญหาสงครามทางการค้ากับจีน แม้ว่าในช่วงดังกล่าวนโยบายลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจะมีผลบังคับใช้แล้วก็ตาม
สำหรับมุมมองตลาดหุ้นจีนเคลื่อนไหวผันผวนในเดือนต.ค. หลังจากปรับตัวขึ้นแรงในช่วงเดือนก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสำคัญทางด้านเศรษฐกิจสองเรื่องหลัก ได้แก่ เรื่องแรก ธนาคารกลางจีน (PBoC) ได้ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ Loan Prime Rate (LPR) ทั้งระยะ 1 ปีและ 5 ปีลงอย่างละ 25 bps เหลือ 3.1% และ 3.6% ตามลำดับ
ซึ่งเป็นการปรับลดที่มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 20 bps นอกจากนี้ ผู้ว่า PBoC นาย Pan Gongsheng ยังได้ส่งสัญญาณเชิงบวกในการประชุมที่ปักกิ่ง โดยบ่งชี้ว่าอาจมีการปรับลดอัตราส่วนกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) เพิ่มเติมอีก 25-50 bps ก่อนสิ้นปี อย่างไรก็ตามแม้ PBoC จะดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินอย่างต่อเนื่อง
แต่ปัญหาหลักของจีนในขณะนี้ไม่ได้อยู่ที่ต้นทุนดอกเบี้ยเงินกู้ หากแต่เป็นความต้องการสินเชื่อที่ชะลอตัวลงอันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ดังจะเห็นได้จากยอดการปล่อยสินเชื่อใหม่เดือนก.ย. ที่ทำได้เพียง 1.59 ล้านล้านหยวน ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 1.9 ล้านล้านหยวน และยังเป็นตัวเลขต่ำสุดของเดือนก.ย. นับตั้งแต่ปี 2561
ด้วยเหตุนี้การใช้นโยบายการเงินเพียงอย่างเดียวจึงอาจไม่เพียงพอ และจำเป็นต้องมีมาตรการทางการคลังขนาดใหญ่เข้ามาเสริมเพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจจีนเติบโตได้ตามเป้าหมาย 5% ในปี 2567
สำหรับเรื่องที่สองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่อยู่อาศัยและการพัฒนาเมืองและชนบทของจีนได้ประกาศในเดือนต.ค.ว่า จะขยาย Whitelist หรือรายชื่อโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับการรับรองจากรฐับาลเพื่อให้โครงการเหล่านี้เข้าถึงแหล่งเงนิ ทุนได้ง่ายขึ้น พร้อมกันนี้ยังมีแผนเร่งการปล่อยสินเชื่อสำหรับโครงการที่ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ โดยตั้งเป้าเพิ่มวงเงินจาก 2.23 ล้านล้านหยวนในปัจจุบัน เป็น 4 ล้านล้านหยวน ภายในสิ้น ปี 2567 แม้มาตรการนี้จะสะท้อนความพยายามของรฐับาลจีนในการฟื้นฟูภาคอสังหาริมทรัพย์ และกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม แต่ด้วยจำนวนอสังหาริมทรัพย์ที่ยังสร้างไม่เสร็จถึง 48 ล้านหน่วย ทำให้เราคาดว่าการแก้ไขปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์อาจต้องใช้เวลาอีกหลายปี
ส่วนประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามในเดือนพ.ย. นี้ คือ การประชุมสภาประชาชนจีนระหว่างวันที่ 4-8 พ.ย. โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายละเอียดของมาตรการทางการคลัง ที่ต้องจับตาว่า ขนาดของเม็ดเงินจะมีมากพอที่จะกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศให้ฟื้นตัวจากภาวะเงินฝืดได้หรือไม่ โดยเราคาดหวังว่ารัฐบาลจีนจะขยายขนาดการขาดดุลงบประมาณให้สูงขึ้นคล้ายกับการประชุมในไตรมาส 4 ปีที่แล้วที่เพิ่มจาก 3% เป็น 3.8% ซึ่หากมีขนาดใหญ่มากพอที่ 5% ขึ้นไปก็น่าจะทำให้ตลาดหุ้นจีนแรลลี่ได้อีกครั้ง
น้ำหนักพอร์ตการลงทุน
ดอกเบี้ยกับตลาดหุ้นเกี่ยวข้องกันอย่างไร พร้อมกลยุทธ์คัดหุ้น
DW เครื่องมือสร้างกำไรช่วงตลาดขาขึ้นและลง
CEO ใหม่ Brian กับภารกิจ พลิก Starbucks สู่ความยิ่งใหญ่อีกครั้ง