posttoday

ไม่ง่าย! หุ้นไทยเดือน มกราคม เผชิญปัจจัยในประเทศ-ต่างประเทศป่วนหนัก

11 มกราคม 2568

หุ้นไทยเดือน มกราคม 2568 เผชิญแรงกดดันจากอัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อแตะระดับสูงฉุดภาพเศรษฐกิจโลก ด้านอสังหาริมทรัพย์จีนซบเซา สงครามการค้ากดดันส่งออกไทย บวกหนี้ครัวเรือนในประเทศพุ่ง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่ำกว่าคาด ฉุดกำไรวูบตลาดหุ้นอัพไซด์จำกัด

KEY

POINTS

  • หุ้นไทยเดือน มกราคม 2568 เผชิญแรงกดดันจากอัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงฉุดเศรษฐกิจโลก
  • อสังหาริมทรัพย์จีนซบเซา สงครามการค้ากดดันส่งออกไทย
  • หนี้ครัวเรือนในประเทศพุ่ง มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่ำกว่าคาด ฉุดกำไรวูบตลาดหุ้นอัพไซด์จำกัด

ในปี 2567 ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลง 1.1%  โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 ทีม Wealth Research ของหลักทรัพย์บัวหลวง ประเมินว่า ตลาดอาจต้องเผชิญปัจจัยกดดันหลายประการ 

ประการแรก อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในระดับสูงเกินกว่าเป้าหมาย 2% ของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งสร้างความกังวลว่า Fed อาจคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงต่อไป ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นและยีลด์พันธบัตรสหรัฐยืนในระดับสูง 

ประการที่สอง ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและฮามาส ส่งผลกระทบต่อสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก และยิ่งลดความเชื่อมั่นของนักลงทุน 

ประการที่สาม ความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการคลังของประเทศไทย รัฐบาลไทยได้ปรับแผนการคลังระยะกลาง (ปีงบประมาณ 2025–2028) เป็นครั้งที่สอง เพื่อรองรับการเพิ่มงบประมาณกลางปี 2567 จำนวน 122,000 ล้านบาท ซึ่งรวมถึงการกู้ยืมเพิ่มเติม 112,000 ล้านบาท ทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น โดยหนี้สาธารณะของไทยคาดว่าจะ เพิ่มขึ้นเป็น 65.7% ของ GDP ในปีงบประมาณ 2567 จากนั้นเป็น 67.9% ในปีงบประมาณ 2568 และสูงสุดที่ 68.9% ในปีงบประมาณ 2570 ก่อนจะลดลงเล็กน้อยเป็น 68.6% ในปีงบประมาณ 2571 โดยเหลือพื้นที่การคลังเพียงไม่ถึง 2% เทียบกับเพดานหนี้ 70% 

ประการสุดท้าย ความไม่แน่นอนทางการเมือง ความกังวลทางการเมืองในประเทศทวีความรุนแรงขึ้น หลังศาลรฐัธรรมนูญมีคำสั่งถอดถอน นายเศรษฐา ทวีสิน ออกจากตำแหน่งนายกรฐัมนตรี เมื่อวันที่ 14 ส.ค. เนื่องจากการแต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีทั้งที่ขาดคุณสมบัติ เนื่องจากมีประวัติอาชญากรรม ในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ตลาดหุ้นไทยมีสัญญาณการฟื้นตัว หนุนจากความชัดเจนทางการเมืองหลังจากที่ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 ส.ค.

รวมถึงมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ อย่าง โครงการแจกเงินสด 10,000 บาท เฟส 1 ในเดือน ก.ย. และกองทุนวายุภักษ์มูลค่า 150,000 ล้านบาท ที่เริ่มซื้อหุ้นไทยในเดือน ต.ค. นอกจากนี้ยังมีความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Google ประกาศลงทุนศูนย์ข้อมูลมูลค่า 36,000 ล้านบาท ในประเทศไทย ภายในปี 2572 และ Nvidia ประกาศแผนการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับศูนย์ข้อมูล) อีกทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT) ได้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 25bps เหลือ 2.25% ในเดือนต.ค. ซึ่งเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบสี่ปี

ที่มา: รายงานการจัดพอร์ตสินทรัพย์และแนวโน้มการลงทุน ประจำเดือนม.ค. 2568

อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงตั้งแต่ปลายเดือน ต.ค. จนถึงสิ้นปี 2567 โดยมีปัจจัยกดดันหลายประการ การปรับลดคาดการณ์การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายสำหรับปี 2568 ลงเหลือ 2 ครั้ง โดยประเมินว่า ดอกเบี้ยจะลดลงสู่ระดับ 3.9% (จากการประเมินก่อนหน้าที่ 3.4% และ 4.5% ณ สิ้นปี 2567) ข่าวดังกล่าวส่งผลให้ยีลด์พันธบัตรสหรัฐปรับตัวสูงขึ้น และเงินบาทอ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และเร่งการไหลออกของเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติความกังวลเรื่องสงครามการค้า หลังจากว่าที่ประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ขู่ว่าจะเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากเม็กซิโกและจีน (รวมถึงประเทศสมาชิก BRICS หากพยายามออกสกุลเงินใหม่เพื่อแข่งขันกับดอลลาร์) นอกจากนี้ทรัมป์ยังเตือนสหภาพยุโรปเรื่องการเก็บภาษีเว้นแต่ประเทศสมาชิกจะเพิ่มการซื้อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากสหรัฐฯ 

นอกจากนั้น ผลประกอบการของบริษัทใน SET ในไตรมาส 3/2567 ลดลงถึง 29% YoY และ 26% QoQ โดยต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ถึง 9.5% กลุ่มที่มีผลประกอบการอ่อนแอที่สุด คือ กลุ่มเคมีภัณฑ์, วัสดุก่อสร้าง และยานยนต์ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 52,000 ล้านบาท ในไตรมาส 4 ปี 2567 ทำให้การขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติทั้งปีอยู่ที่ 148,000 ล้านบาท แม้ว่าจะเผชิญความท้าทาย แต่หุ้นหลายกลุ่มก็ยังปรับตัวได้เด่นกว่าตลาดในไตรมาส 4 ปี 2567 

โดยกลุ่มผู้นำ ได้แก่ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ (DELTA รายงานผลประกอบการในไตรมาส 3 ปี 2568 ที่แข็งแกร่ง สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาด 8%) และกลุ่ม ICT (ARPU ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องช่วยหนุนกำไร) ขณะที่กลุ่มที่ปรับตัวได้แย่กว่าตลาด ได้แก่ กลุ่มบรรจุภัณฑ์ (ความต้องการที่อ่อนแอ) วัสดุก่อสร้าง (ผลประกอบการของ SCC ที่อ่อนแอทั้งในธุรกิจปิโตรเคมีและวัสดุก่อสร้าง) โรงพยาบาล (รายได้จากผู้ป่วยต่างชาติลดลง QoQ) และอสังหาริมทรัพย์ (ความต้องการที่อ่อนแอ) 

ทั้งนี้ตลาดปรับลดประมาณการกำไรของ SET ปี 2567 ลง 4.6% ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2567 (ทั้งปี 2567 ปรับลดลงรวม 11%) สู่ระดับ 87.5 เพื่อสะท้อนการคาดการณ์ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และกำไรในกลุ่มเคมีภัณฑ์ วัสดุก่อสร้าง และยานยนต์ที่ลดลง 

ทีม Wealth Research ประเมินแนวโน้มเดือน ม.ค. 2568 ว่า คาดดัชนีตลาด SET จะเผชิญปัจจัยกดดันทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ เช่น ความกังวลเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูงเป็นเวลานานอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก โดยเริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวของการบริโภค บริการ และการจ้างงานในสหรัฐฯ 

ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนยังคงซบเซา และระดับหนี้ภาคเอกชนและรัฐบาลท้องถิ่นในจีนอยู่ในระดับสูง ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน อาจกดดันการส่งออกของไทย ส่วนปัจจัยภายในประเทศหนี้ครัวเรือนที่สูงอาจจำกัดการบริโภค ขณะที่ประสิทธิผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลอาจต่ำกว่าคาด นอกจากนี้ระดับ NPLs ที่เพิ่มขึ้นในภาคอสังหาริมทรัพย์สินเชื่อรถยนต์และหนี้บัตรเครดิตยังเป็นปัจจัยเสี่ยง ทั้งนี้การปรับลดประมาณการกำไรของ SET  ในปี 2567 ลดลง 11% อาจจำกัดอัพไซด์ของตลาดหุ้นไทย 

อย่างไรก็ตามหุ้นไทยยังมีปัจจัยบวกที่หนุน โดย GDP ไตรมาส 4 ปี 2567 คาดว่าจะเติบโต 3.6% YoY และ 0.4% QoQ (ปรับปัจจัยตามฤดูกาล) หนุนจากการท่องเที่ยวและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น โครงการแจกเงินสด 10,000 บาท ระยะที่ 1 มูลค่ารวม 140,000 ล้านบาท ซึ่งอาจส่งผลต่อเนื่องต่อผลประกอบการของบริษัท 

โดยคาดว่ากำไรของ SET ในไตรมาส 4 ปี 2567 จะเติบโต 39% YoY และ 21% QoQ นอกจากนี้ยังมีมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมในปี 2568 เช่น โครงการ Easy e-Receipt (ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุด 50,000 บาท สำหรับการซื้อสินค้าระหว่างวันที่ 15 ม.ค.- 28 ก.พ. 2568) โครงการแจกเงินสด 10,000 บาท ระยะที่ 2 มูลค่ารวม 40,000 ล้านบาท สำหรับผู้สูงอายุในช่วงตรุษจีน (ต้นเดือนก.พ.) โครงการเราเที่ยวด้วยกัน (เบื้องต้นกำหนดไว้ช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย.) และโครงการแจกเงินสดระยะที่ 3 มูลค่ารวมประมาณ 147,000 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มแจกในเดือนเม.ย. พ.ค. และมิ.ย.) 

สำหรับนโยบายการเงิน คาดว่า Fed จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเหลือ 4% ในครึ่งแรกของปี 2568 (จาก 4.5% ณ สิ้นปี 2567) ขณะที่ BOT มีแนวโน้มจะลดอัตราดอกเบี้ย Repo Rate จาก 2.25% ในสิ้นปี 2567 ลงเหลือ 1.75% ในปี 2568 ปัจจัยเหล่านี้น่าจะช่วยหนุนความต้องการสินทรัพย์เสี่ยง นอกจากนี้การย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังไทยและการลงทุนใหม่ในศูนย์ข้อมูลจากบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกจะช่วยกระตุ้น FDI อย่างมีนัยสำคัญ เป้าหมาย SET ในปี 2568 อยู่ ที่ 1,485 จุด โดยคาดการณ์กำไรต่อหุ้นที่ 95 (เติบโต 9% จากประมาณการกำไรต่อหุ้นปี 2567 ที่ 87.5) 

 

เศรษฐกิจไทยปี 2568 มีโอกาสชะลอตัวลงมากกว่าตลาดคาด

อ่านเกมลงทุนหุ้นไทยปี 2025 ยามเศรษฐกิจโลก-ไทยไร้เรี่ยวแรง

ส่องเทรนด์ “ทองคำ” ปี 2568 ลุ้นทะลุ 3,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ?