posttoday

ทำไม? ตลาดหุ้น“ญี่ปุ่น-อินเดีย”สร้างผลตอบแทนกว่า 10% สวนทางหุ้นไทยติดลบ

25 มกราคม 2568

การลงทุนในตลาดหุ้นรุ่นเก๋า “ญี่ปุ่น” และ ตลาดหุ้นดาวรุ่ง “อินเดีย” กำลังเป็นที่น่าจับตาในสายตานักลงทุนทั่วโลก ด้วยผลตอบแทนที่แข็งแกร่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาสูงกว่า 10% เทียบตลาดหุ้นไทยติดลบ 0.7%

KEY

POINTS

  • ตลาดหุ้นรุ่นเก๋า “ญี่ปุ่น” และดาวรุ่ง “อินเดีย” กำลังเป็นที่น่าจับตาในสายตานักลงทุนทั่วโลก
  • ตลาดหุ้น "ญี่ปุ่น-อินเดีย" ให้ผลตอบแทนสูงกว่า 10% สวนทาง "ตลาดหุ้นไทย" ติดลบ -0.7%

ตลาดหุ้นญี่ปุ่น และ ตลาดหุ้นอินเดีย สร้างผลตอบแทนรวมเงินปันผลเฉลี่ยสูงถึง 14.9% และ 13.1% ต่อปีตามลำดับ แซงหน้าผลตอบแทนเฉลี่ยของตลาดหุ้นโลกที่ 11.2% ต่อปี และทิ้งห่างตลาดหุ้นไทยที่เฉลี่ยติดลบ 0.6% (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธ.ค. 67)

คำถามสำคัญที่มักตามมา คือ "ปัจจัยอะไรที่ผลักดันการเติบโตของตลาดหุ้นญี่ปุ่นและอินเดีย" และ "แนวโน้มในอนาคตของทั้งสองตลาดยังคงน่าลงทุนอยู่หรือไม่”

Source: Bloomberg ณ วันที่ 31 ธ.ค.67

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 3 ของโลก โดยมีมูลค่าราว 147 ล้านล้านบาท ในปี 66 แม้การเติบโตทางเศรษฐกิจจะไม่หวือหวาเหมือนบางประเทศ แต่สิ่งที่โดดเด่นและน่าจับตามอง คือ กำไรของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่ยังคงเติบโตอย่างมั่นคงต่อเนื่อง

จุดแข็งของบริษัทญี่ปุ่น คือ ความแข็งแกร่งของแบรนด์และการยอมรับในระดับสากล ซึ่งส่วนใหญ่สามารถสร้างรายได้จากต่างประเทศมากกว่าภายในประเทศถึง 3-4 เท่า ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น Toyota, Sony, Hitachi และ Nintendo ที่ล้วนมีบทบาทสำคัญในระดับโลก

นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทการค้าที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ของเศรษฐกิจญี่ปุ่น อย่าง Mitsubishi, Itochu, Mitsui & Co, Sumitomo และ Marubeni ยังคงเป็นที่น่าจับตามอง ด้วยรายได้รวมของบริษัทกลุ่มนี้คิดเป็นสัดส่วนถึง 70% ของ GDP ไทย อีกทั้งด้วยความแข็งแกร่งของกลุ่มบริษัทเหล่านี้ ทำให้นักลงทุนระดับโลกอย่าง Warren Buffett เริ่มต้นลงทุนในบริษัทการค้าญี่ปุ่นเป็นมูลค่ากว่า 200,000 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 63 และเพิ่มการลงทุนอย่างต่อเนื่องในปีถัดๆมา

นอกจากนี้ ตลาดทุนญี่ปุ่น ยังได้รับแรงหนุนจากนโยบายปรับโครงสร้างและฟื้นฟูตลาดทุนระยะยาว ของรัฐบาล ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยเสริมความน่าสนใจของตลาด ตัวอย่างที่โดดเด่นคือ นโยบายบัญชีลงทุนแบบพิเศษที่ปลอดภาษีสำหรับชาวญี่ปุ่น “NISA” ที่แม้ว่าจะเริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 57 แต่รัฐบาลได้อัปเกรดขึ้นเป็น “New NISA” ในปี 67 โดยเพิ่มวงเงินของบัญชีประเภทนี้ จากประมาณ 300,000 บาท เป็น ประมาณ 900,000 บาทต่อบัญชี ต่อปี ซึ่งคาดว่าจะช่วยกระตุ้นเม็ดเงินลงทุนภายในประเทศเข้าสู่ตลาดหุ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ

ด้านมูลค่าหุ้นญี่ปุ่น ยังคงมีความน่าสนใจ โดย Forward P/E ในอีก 12 เดือนข้างหน้าของดัชนี TOPIX 100 ที่ระดับ 15.1 เท่า ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี สะท้อนว่ามูลค่าในปัจจุบันยังไม่ได้แพงจนเกินไปเมื่อเทียบกับตัวเองในอดีต (ข้อมูล ณ วันที่ 16 ม.ค.68)

ในฝั่งของ “อินเดีย” ซึ่งเป็นประเทศที่โดดเด่นด้วยเศรษฐกิจที่เติบโตได้อย่างรวดเร็ว โดยอินเดียก้าวจากเศรษฐกิจอันดับที่ 13 ของโลก สู่ อันดับที่ 5 ในเวลาเพียง 17 ปี โดยในปี 66 อินเดียมีขนาดเศรษฐกิจอยู่ที่ราว 119 ล้านล้านบาท

โดยมีปัจจัยหนุนการเติบโตมาจากประชากรที่มีจำนวนมากถึง 1.4 พันล้านคน สูงเป็นอันดับหนึ่งของโลก และโครงสร้างประชากรส่วนใหญ่ยังอยู่ในวัยทำงาน โดยคนอินเดียมีอายุเฉลี่ยเพียง 29 ปี น้อยกว่าไทยและจีนที่อยู่ราว 37-41 ปี นอกจากนี้ 60% ของ GDP อินเดียยังมาจากการบริโภคในประเทศจึงทำให้เศรษฐกิจอินเดียเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพมากกว่าประเทศอื่นๆ อีกทั้งเมื่อพิจารณาจากผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว (GDP Per Capita) ของคนอินเดียอยู่ที่เพียง $2,239 น้อยกว่าประเทศที่มีฐานประชากรใกล้เคียงกันอย่างจีนเกือบ 6 เท่า สะท้อนว่าเศรษฐกิจอินเดียยังมีพื้นที่ให้สามารถเติบโตได้อีกมาก

ขณะที่ ตลาดทุนอินเดีย มีศักยภาพในการเติบโตอย่างน่าจับตามองเช่นกัน สะท้อนจากการเพิ่มขึ้นของนักลงทุนภายในประเทศ ที่มีความสนใจลงทุนในหุ้นมากขึ้น โดยมูลค่าเงินลงทุนในตลาดหุ้นอินเดียเติบโตเฉลี่ยถึง 127% ต่อปี ในช่วงปี 65-66

ปัจจุบันสัดส่วนการถือหุ้นต่อสินทรัพย์ของครัวเรือนอินเดียยังอยู่เพียง 5.8% หมายความว่า ในทรัพย์สิน 100 รูปีของครัวเรือนอินเดีย มีเพียง 5.8 รูปีที่ลงทุนในหุ้น ซึ่งถือว่ายังต่ำมากเมื่อเทียบกับ สหรัฐฯ (22%) และ ญี่ปุ่น (18%)

ด้านมูลค่าของหุ้นอินเดียเริ่มกลับมาน่าสนใจมากขึ้น หลังมีการพักฐานลงมาตั้งแต่เดือน ต.ค.67 โดย Forward P/E ของดัชนี MSCI India ในช่วง 12 เดือนข้างหน้าได้ปรับลดลงจากระดับ 24.5 เท่า เมื่อเดือน ต.ค.67 มาอยู่ที่ 21.5 เท่า ซึ่งใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี (ข้อมูล ณ วันที่ 16 ม.ค.68) 

สำหรับนักลงทุนที่สนใจลงทุนในหุ้นญี่ปุ่น และอินเดีย ปัจจุบันสามารถลงทุนได้อย่างสะดวกด้วยเครื่องมือทางการเงิน Depository Receipt (DR) ที่สามารถใช้บัญชีหุ้นไทยซื้อขายได้แบบเรียลไทม์ในสกุลเงินบาท โดยในวันที่ 21 ม.ค.68 มี 2 DR ใหม่ ได้แก่ DR “JAPAN10001” และ “INDIA01” เป็น DR 2 ตัวแรกในประเทศไทยที่มีหลักทรัพย์อ้างอิง คือ ETF ที่ลงทุนอ้างอิงดัชนี TOPIX 100 และ ดัชนี MSCI India Net Total Return Index (USD) 

โดย TOPIX 100 เป็นดัชนีที่รวบรวมหุ้นญี่ปุ่นชั้นนำที่มีสภาพคล่องสูง จำนวน 100 บริษัท โดยดัชนีนี้มีน้ำหนักของหุ้นบริษัทค้าขายที่ Warren Buffet เข้าลงทุนรวมกันราว 8% 

ขณะที่ MSCI India Net Total Return Index (USD) เป็นดัชนีที่กระจายตัวไปยังหุ้นขนาดใหญ่และกลางของอินเดียที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง สะท้อนภาพรวมตลาดหุ้นอินเดียได้อย่างครอบคลุม ส่งผลให้ผลตอบแทนเฉลี่ยย้อนหลัง 1 และ 5 ปี สูงกว่าเมื่อเทียบกับดัชนีสำคัญของอินเดีย อย่าง BSE Sensex และ Nifty 50 ที่เน้นลงทุนเฉพาะในหุ้นขนาดใหญ่