แรงสั่นสะเทือนทางเศรษฐกิจ: ผลกระทบของแผ่นดินไหวต่อเศรษฐกิจไทย
แผ่นดินไหวเมียนมา สะเทือนเศรษฐกิจไทย วิตกความปลอดภัยอาคารสูง กระทบภาคบริการ-ท่องเที่ยว-อสังหา เสี่ยงฉุด GDP ไตรมาส 2
ดนุวัศ สาคริก คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ อีเมล: danuvas.nida@gmail.com
แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2568 โดยมีศูนย์กลางอยู่ในประเทศเมียนมา ได้ส่งแรงสั่นสะเทือนมายังหลายจังหวัดของไทย โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีอาคารสูงจำนวนมาก ความสั่นไหวที่รู้สึกได้ในอาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียม และศูนย์การค้าหลายแห่งในเมืองหลวง สร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชน และสร้างคำถามถึงความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานในเมืองใหญ่ที่จะรองรับภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงและเกิดขึ้นได้ไม่คาดคิดในอนาคต แม้กรุงเทพฯ จะไม่ใช่เมืองที่อยู่บนรอยเลื่อนหลัก แต่ด้วยผลกระทบที่เกิดขึ้นจากแรงสั่นสะเทือน ทำให้เหตุการณ์ครั้งนี้ส่งผลกระทบเชิงเศรษฐกิจในวงกว้าง ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ผลกระทบทางเศรษฐกิจ: สั่นสะเทือนมากกว่าพื้นดิน?
หนึ่งในผลกระทบที่เห็นได้ชัดคือความเสียหายโดยตรงต่อทรัพย์สินและโครงสร้างพื้นฐาน อาคารหลายแห่งทั้งภาครัฐและเอกชนต้องหยุดทำการชั่วคราวเพื่อตรวจสอบความปลอดภัย ส่งผลให้เกิดต้นทุนค่าเสียโอกาสและค่าใช้จ่ายในการบูรณะซ่อมแซม โดยเฉพาะอาคารที่ก่อสร้างก่อนมีการบังคับใช้มาตรฐานรองรับแผ่นดินไหว ย่อมมีความเสี่ยงสูงและอาจต้องใช้ต้นทุนในการเสริมโครงสร้างเพิ่มเติม อีกทั้งยังส่งผลต่อการประเมินมูลค่าทรัพย์สินในอนาคตด้วย
กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักอย่างฉับพลันโดยเฉพาะในเขตธุรกิจกลางเมือง (CBD) ของกรุงเทพฯ ซึ่งเต็มไปด้วยบริษัทข้ามชาติ สำนักงานหลักของธนาคาร และองค์กรขนาดใหญ่ การอพยพฉุกเฉิน การหยุดให้บริการของรถไฟฟ้า และความวิตกกังวลของพนักงาน ส่งผลให้การผลิตและการดำเนินธุรกิจล่าช้า รวมถึงมีผลกระทบทางจิตวิทยาต่อแรงงานในระยะยาว หากเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ซ้ำอีก ในภาคการท่องเที่ยว เหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้มีแนวโน้มบั่นทอนความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากตลาดหลักที่ให้ความสำคัญกับมาตรฐานความปลอดภัย ซึ่งอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแผนหรือชะลอการเดินทางมายังประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อรายได้ภาคบริการและการจ้างงานในเมืองท่องเที่ยวสำคัญ
ในภาคการเงินและการประกันภัย บริษัทประกันจะต้องรับภาระค่าสินไหมจำนวนมาก ซึ่งอาจนำไปสู่การปรับเพิ่มเบี้ยประกันภัย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ถูกจัดให้มีความเสี่ยงสูง ส่งผลให้ต้นทุนการดำเนินธุรกิจและการอยู่อาศัยเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ หากความเสียหายรวมมีมูลค่าสูงเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ อาจกระทบเสถียรภาพของบริษัทประกันบางแห่ง และสร้างความผันผวนในตลาดทุน
ภาคอสังหาริมทรัพย์ เป็นอีกหนึ่งภาคเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ความวิตกกังวลของประชาชนต่อความปลอดภัยของอาคารสูงทำให้ความต้องการซื้อคอนโดมิเนียมโดยเฉพาะในเมืองลดลงทันทีในช่วงสั้น ขณะที่ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์อาจต้องชะลอการเปิดตัวโครงการใหม่ เพื่อทบทวนมาตรฐานการออกแบบและก่อสร้าง การประเมินมูลค่าที่ดินในเขตเศรษฐกิจกลางเมืองอาจมีความผันผวนสูงขึ้น และการอนุมัติก่อสร้างอาคารสูงในอนาคตอาจต้องผ่านมาตรการความปลอดภัยที่เข้มงวดยิ่งขึ้น ต้นทุนการพัฒนาโครงการจะสูงขึ้น ส่งผลต่อราคาขายและความสามารถในการเข้าถึงของผู้บริโภค
จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ GDP ไทยในไตรมาสที่ 2 อาจชะลอลงเล็กน้อยจากการหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและภาคบริการ โดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่ อย่างไรก็ตาม หากสามารถฟื้นฟูความเชื่อมั่นของประชาชนและนักลงทุนได้อย่างทันท่วงที ก็อาจจำกัดผลกระทบให้อยู่ในกรอบระยะสั้น ในขณะเดียวกัน รัฐบาลอาจจำเป็นต้องปรับประมาณการงบประมาณกลางปีเพื่อรองรับภาระด้านการฟื้นฟู โดยเฉพาะในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานที่เสียหาย ในภาคอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มว่าโครงการแนวราบในพื้นที่ชานเมืองจะได้รับความสนใจมากขึ้น แทนที่คอนโดมิเนียมในเมือง ขณะที่ผู้ซื้อและนักลงทุนจะให้ความสำคัญกับมาตรฐานความปลอดภัยของโครงการมากกว่าปัจจัยด้านราคาเพียงอย่างเดียว
The Ripple Effect: แรงสั่นที่ลามไปทั้งระบบ
“The Ripple Effect” เป็นแนวคิดที่อธิบายว่าเหตุการณ์หนึ่ง แม้จะเริ่มต้นจากจุดที่จำกัด แต่สามารถส่งผลกระทบต่อระบบอื่น ๆ ได้เป็นวงกว้าง คล้ายคลื่นน้ำที่กระจายออกเป็นวงเมื่อหยดน้ำตกลงกลางบ่อ ในกรณีนี้ แผ่นดินไหวที่ไม่ได้เกิดขึ้นภายในประเทศไทย กลับส่งผลกระทบทางจิตวิทยา พฤติกรรมผู้บริโภค การตัดสินใจลงทุน และการดำเนินนโยบายสาธารณะในระดับมหภาค
แรงสั่นไหวที่รู้สึกได้ในกรุงเทพฯ กลายเป็น “จุดศูนย์กลางของระลอกคลื่น” ที่ทำให้ผู้คนตั้งคำถามกับความปลอดภัยของอาคารที่พักอาศัย ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต้องทบทวนมาตรฐานโครงการ ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อ และภาคประกันภัยต้องประเมินความเสี่ยงใหม่ คลื่นลูกถัดไปคือการชะลอกิจกรรมเศรษฐกิจในภาคบริการ โดยเฉพาะสำนักงาน ค้าปลีก โรงแรม และธุรกิจท่องเที่ยว ที่ต้องรับมือกับความไม่แน่นอนและต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้น และผลกระทบไม่ได้จำกัดเฉพาะทางกายภาพ แต่ยังขยายไปสู่ความเชื่อมั่นของนักลงทุน ตลาดทุน และการตัดสินใจด้านนโยบายการคลังของรัฐในระยะต่อไป ซึ่งเป็นภาพสะท้อนของผลกระทบทางเศรษฐกิจที่กระจายออกเป็นระลอกคลื่นอย่างชัดเจน
แนวทางการฟื้นฟูและกำหนดนโยบายเศรษฐกิจ
เพื่อลดผลกระทบและฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยให้กลับมาเดินหน้าต่อได้อย่างมั่นคง รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินการในสองระดับควบคู่กัน คือ การฟื้นฟูเร่งด่วนระยะสั้น และการวางรากฐานเชิงนโยบายเศรษฐกิจระยะยาวที่เน้นความยืดหยุ่น (resilience) และการปรับตัวรับความเสี่ยงจากภัยพิบัติธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นซ้ำอีกในอนาคต ในระยะสั้น รัฐควรรวบรวมข้อมูลความเสียหายจากทุกภาคส่วน และบูรณาการงบประมาณของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ในพื้นที่ได้รับผลกระทบ ให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อซ่อมแซมหรือฟื้นฟูกิจการ พร้อมทั้งออกมาตรการพักชำระหนี้หรือผ่อนปรนเงื่อนไขสินเชื่อในระยะสั้น
ในด้านนโยบายเศรษฐกิจมหภาค รัฐควรทบทวนแผนพัฒนาเศรษฐกิจระดับชาติให้รวมมิติ “การปรับตัวต่อภัยพิบัติ” (Disaster-Responsive Development) ไว้อย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นด้านโลจิสติกส์ พลังงาน หรือระบบธนาคาร พร้อมส่งเสริมให้ภาคธุรกิจและองค์กรภาครัฐจัดทำ “แผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ” (Business Continuity Plan) และ “การบริหารความเสี่ยงภัยพิบัติในองค์กร” (Enterprise Disaster Risk Management) เป็นมาตรฐานกลางทั่วประเทศ
สุดท้าย ภาครัฐควรเร่งลงทุนในระบบฐานข้อมูลความเสี่ยงภัยพิบัติระดับพื้นที่ และเชื่อมโยงกับระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Early Warning System) ที่ทันสมัย เพื่อให้ทั้งรัฐ เอกชน และประชาชนสามารถตัดสินใจได้อย่างแม่นยำและทันท่วงทีหากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นอีก นี่คือแกนกลางของ “เศรษฐกิจปลอดภัย” (Safe Economy) ที่ไทยควรมุ่งหน้าไปสู่ในอนาคต