จับสองผู้ต้องหาเปิดบริษัทลวงลงทุนอัตราแลกเปลี่ยน
ตำรวจกองปราบจับสองผู้ต้องหาเปิดบริษัทลวงคนลงทุนอัตราแลกเปลี่ยน ขณะที่เจ้าตัวให้การภาคเสธ ย้ำไม่มีเจตนาหลอก-ขอรับผิดชอบค่าเสียหาย
ตำรวจกองปราบจับสองผู้ต้องหาเปิดบริษัทลวงคนลงทุนอัตราแลกเปลี่ยน ขณะที่เจ้าตัวให้การภาคเสธ ย้ำไม่มีเจตนาหลอก-ขอรับผิดชอบค่าเสียหาย
เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ตำรวจกองปราบปรามจับกุม น.ส.รินทร์ลภัส บุญพรวิจิตรโชติ อายุ 38 ปี กรรมการผู้จัดการบริษัท เดอะวอลล์สตรีท แคปปิตอล กรุ๊ป จำกัด ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาลงวันที่ 8 มิ.ย. และ นายรัฐธนันท์ หิรัญอมรภาคย์ อายุ 42 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่ 1167/2558 ลงวันที่ 8 มิ.ย. 2558 โดยสามารถจับกุมตัวทั้งสองได้ที่ อาคารเอไอเอ เซ็นเตอร์ ถ.รัชดาภิเษก เขตดินแดง เนื่องจากเจ้าหน้าที่ได้รับร้องเรียนจากประชาชน ถูกผู้ต้องหาทั้งสองหลอกให้ร่วมลงทุนในธุรกิจ Forex (Foreign Exchange Market) หรือ FX หรือฟอเร็กซ์ ซึ่งเป็นตลาดในการซื้อขายแลกเปลี่ยนของสกุลเงินต่างๆ ภายใต้ใช้ชื่อบริษัท เดอะวอลล์สตรีท แตปปิตอล และบริษัท เดอะวอลล์มาร์ท(ประเทศไทย)จำกัด ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ ถ.วิภาวดีรังสิต เขตพญาไท
พ.ต.อ.อัคราเดช พิมลศรี รักษาราชการแทนผู้บังคับการกองปราบปราม (รรท.ผบก.ป.) กล่าวว่า ผู้ต้องหาออกกลอุบายอ้างว่าจะได้รับผลตอบแทนการลงทุนประมาณร้อยละ 10 ของเงินลงทุน อีกทั้งสร้างความน่าเชื่อถือด้วยการเปิดเว็บไซต์ประชาสัมพันธ์บริษัทและจัดการอบรมสาธิตโปรแกรมการเทรด Forex ให้กับลูกค้าเพื่อชักจูงว่าได้ผลประโยชน์อย่างไรทำให้มีผู้หลงเข้าร่วมลงทุนเป็นจำนวนกว่า50 ราย ต่อมาภายหลังเมื่อครบกำหนดนัดที่จะต้องจ่ายเงินปันผลให้กับลูกค้ากลับบ่ายเบี่ยงและไม่ยอมจ่ายผลตอบแทนให้กับผู้เสียหายตามที่ได้เคยโฆษณาไว้ เจ้าหน้าที่จึงได้ทำการสืบสวนจนทราบว่าผู้ต้องหาทั้งสองได้ย้ายที่ทำการมาเปิดสำนักงานใหม่ที่อาคารเอไอเอ เซ็นเตอร์ ถ.รัชดาภิเษก แขวงและเขตดินแดง จึงนำกำลังเข้าทำการจับกุมตัวได้ดังกล่าว
จากการสอบสวนผู้ต้องหาทั้งสองให้การภาคเสธ โดยยอมรับว่าได้เปิดเดอะวอลล์สตรีท แตปปิตอล กรุ๊ป จำกัด ให้ประชาชนมาร่วมเล่นซื้อขายหุ้น Forex จริง แต่ไม่ได้มีเจตนาที่จะหลอกลวงประชาชนและอยู่ระหว่างไกล่เกลี่ยกับลูกค้ากลุ่มที่เข้ามาแจ้งความโดยจะขอรับผิดชอบชดใช้ให้ทุกราย
อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบประวัติพบว่านายรัฐธนันท์ เคยเป็นอดีตข้าราชการตำรวจยศ พ.ต.ท. อยู่ที่ สภ.เมืองขอนแก่น และขอออกจากราชการตั้งแต่ปี2551 และได้มาเปิดบริษัทรักษาความปลอดภัย ก่อนปิดตัวลงมาทำธุรกิจฟอเร็กซ์
ขณะที่ ผู้เสียหาย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีคนรู้จักชักชวนแนะนำให้ร่วมลงทุนธุรกิจฟอเร็กซ์ จึงได้เริ่มศึกษาประกอบกับคนรู้จักได้ลงทุนก็เห็นว่าได้เงินจริงจึงตัดสินใจลงทุน โดยมีค่าสมัครสมาชิกเป็นเงิน 1,250 บาท และทางบริษัทก็จะให้ยูซเซอร์ไอดีสำหรับให้ลูกค้าใช้ซื้อ-ขายผ่านโปรแกรมของทางบริษัท
ทั้งนี้เงินที่ลงทุนไปนั้นทางบริษัทจะเป็นผู้ดูแลทั้งหมด ซึ่งการซื้อขายแต่ละครั้งต้องผ่านโบรกเกอร์ โดยได้ลงทุนไปหนึ่งล้านห้าแสนบาท ในระยะแรกได้รับผลตอบแทนประมาณร้อยละ 10 ของเงินลงทุน เป็นเงิน1.5แสนบาท ต่อมาปรากฏว่าไม่ได้มีการจ่ายเงินปันผลตามที่ตกลงกันไว้ และเมื่อสอบถามไปยังบริษัทก็ได้รับการบ่ายเบี่ยงเรื่อยมา และเมื่อสอบถามในกลุ่มที่ลงทุนด้วยกันพบว่ามีผู้เสียหายลักษณะเดียวกับตนจำนวนมาก จึงคิดว่าถูกหลอกจึงได้รวมตัวกันแจ้งความ นอกจากนี้ยังพบว่านอกจากธุรกิจฟอเร็กซ์ นั้น ยังมีธุรกิจบิทคอยน์ ซึ่งมีลักษณะเดียวกันอีกด้วย
เบื้องต้นเจ้าหน้าที่แจ้งข้อกล่าวหา ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันกู้ยืมเงินประชาชนโดยมีการโฆษณาหรือประกาศแก่บุคคลทั่วไป ได้กู้ยืมเงินจากผู้ให้ยืมเกินสิบคนซึ่งมีจำนวนเงินกู้ยืมรวมกันตั้งแต่5ล้านบาทขึ้นไปอันไม่ใช่การกู้ยืมจากสถาบันการเงินตามกฏหมายว่าด้วยดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันและจ่ายหรือโฆษณาว่าจะจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ผู้กู้ยืม ในอัตราที่สูงกว่าดอกเบี้ยสูงสุดที่สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยดอกเบี้ยให้กู้ยืมเงินของสถาบันการเงินที่พึงจ่ายได้ ซึ่งเป็นความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343 อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และความผิดตามพรก.กู้ยืมเงินประชาชน พ.ศ.2527 จำคุก 5 ถึง 10 ปี ปรับ 5 แสนถึง 1ล้านบาท