การท่าเรือเร่งตั้งบริษัทลูกยกระดับ "คลองเตย" เมืองท่าเรือระดับโลก
กทท.เร่งตั้งบริษัทลูกภายในปี 62 เดินหน้าพัฒนาพื้นที่คลองเตย ตั้งเป้ารับรายได้ปีละ 3 พันล้าน พร้อมลงทุนรถไฟฟ้าโมโนเรลเชื่อมต่อเมืองท่าเรือ
กทท.เร่งตั้งบริษัทลูกภายในปี 62 เดินหน้าพัฒนาพื้นที่คลองเตย ตั้งเป้ารับรายได้ปีละ 3 พันล้าน พร้อมลงทุนรถไฟฟ้าโมโนเรลเชื่อมต่อเมืองท่าเรือ
แหล่งข่าวจากการท่าเรือแห่งประเทศไทย(กทท.) เปิดเผยว่าความคืบหน้าการตั้งบริษัทลูกเพื่อบริหารทรัพย์สินของการท่าเรือฯนั้นขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำร่างเอกสารประกวดราคา(ทีโออาร์)คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด)ได้ภายในธ.ค.นี้ ก่อนเปิดคัดเลือกบริษัทที่ปรึกษาทำการศึกษาแนวทางการพัฒนาพื้นที่ทั้งหมดของ กทท. ภายในช่วงต้นปี 61 หลังจากนั้นจะดำเนินการศึกษาราว 1 ปีก่อนเสนอแผนการศึกษาเข้าสู่ ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.)และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ต่อไป ทั้งนี้กทท.มีเป้าหมายว่าจะต้องตั้งบริษัทลูกให้ได้ภายในปี 2562 ทั้งนี้จะใช้โมเดลการจัดตั้งบริษัทลูกแบบการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยกทท.จะถือหุ้น 100%ในช่วงแรกแล้วจะเปิดโอกาสให้เอกชนร่วมทุนมีสัดส่วนถือหุ้นเพื่อเพิ่มเงินหมุนเวียนสำหรับลงทุนต่อไป
แหล่งข่าวกล่าวต่อว่าสำหรับแนวทางการเพิ่มรายได้เชิงพาณิชย์ของกทท.ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคมที่ต้องการให้สร้างรายได้เชิงพาณิชย์ปีละ 3,500 ล้าน จากปัจจุบันมีรายได้เชิงพาณิชย์อยู่ในระดับต่ำมากอยู่ที่เพียง 1.21%ของรายได้ทั้งหมด คิดเป็น 700 ล้านบาทต่อปี ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ของหน่วยงานและองค์กรอื่นๆซึ่งอยู่ที่ราว 4%-5% นั้น กทท.จะเร่งจัดตั้งบริษัทลูกเพื่อพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์เป้าหมายบริเวณท่าเรือกรุงเทพและพื้นที่คลองเตยซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 100,000 ล้านบาท เนื่องจากกทท.คาดการณ์ว่าพัฒนาเชิงพาณิชย์บนพื้นที่ดังกล่าวจะสามารถสร้างรายได้ให้กับการท่าเรือปีละ 2,000-3,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นไปตามเป้าหมายของกระทรวงคมนาคม
ส่วนด้านรูปแบบการใช้พื้นที่นั้น กทท.ต้องการนำโมเดล City Port ของเมืองปูซานประเทศเกาหลีใต้ เพื่อยกระดับให้คลองเตยเป็นเมืองท่าเรือระดับโลก ทั้งการจัดทำผังเมืองใหม่ พื้นที่อยู่อาศัยชุมชน ห้างสรรพสินค้า โรงแรม ร้านค้าปลีก ศูนย์ One stop service และพื้นที่สีเขียว อย่างไรก็ตามกทท.มีแผนลงทุนเชื่อมต่อระบบขนส่งรถไฟฟ้ารางเบาแบบโมโนเรลจากสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินเข้ามายังพื้นที่ท่าเรือคลองเตยอีกด้วย โดยจะใช้เส้นทางตามแนวถนนพระราม 4 ผ่านถนนโรงฟอกหนังและไปจบเส้นทางบริเวณถนนกล้วยน้ำไท
สำหรับความคืบหน้าการจัดระเบียบพื้นที่ชุมชนคลองเตยนั้นกทท.จำเป็นต้องรื้อย้ายชุมชนทั้งหมดเพื่อพัฒนาพื้นที่ในอนาคต โดยกทท.มีแผนจะก่อสร้างที่พักอาศัยแห่งใหม่ให้กับชุมชนภายใต้ชื่อโครงการ Smart Community เป็นการก่อสร้างคอนโดมิเนียมที่พักอาศัยบนพื้นที่ 58 ไร่ บริเวณถนนโรงฟอกหนัง ในชุมชนริมทางรถไฟสายเก่า ซึ่งเป็นพื้นที่การท่าเรือ คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปีและเปิดให้เข้าอยู่อาศัยได้ในปี 2565
เบื้องต้นมีชุมชนสมัครใจแล้ว 1 แห่งได้แก่ ชุมชนคั่วพริก หลังจากนี้กทท.จะหารือกับการเคหะฯเพื่อนำโมเดลแฟลตดินแดงมาปรับใช้กับแผนพัฒนาที่พักอาศัยย่านคลองเตย ที่ต้องมีทั้ง โรงเรียน สนามเด็กเล่น สนามกีฬาและพื้นที่ประกอบอาชีพให้กับชาวบ้าน เพื่อสร้างความมั่นใจและโน้มน้าวใจชุมชนอื่นในคลองเคยให้ตัดสินใจย้ายไปอยู่ในคอนโดมิเนียมที่ก่อสร้างไว้ให้เพราะที่ผ่านมาทุกชุมชนยินดีที่จะรื้อย้ายหากโครงการ Smart Community สามารถทำให้เกิดขึ้นได้จริง
รายงานข่าวกระทรวงคมนาคมระบุว่า สำหรับพื้นที่แลนมาร์คคลองเตยของการท่าเรือนั้นแบ่งเป็นพื้นที่ แปลง A ประกอบไปด้วย อาคารศูนย์พัฒนาพาณิชยนาวี ศูนย์โลจิสติกส์และกระจายสินค้า อาคารสำนักงาน ศูนย์การค้าธุรกิจทันสมัยครบวงจร ที่อยู่อาศัยทดแทนชุมชนแออัดและสำนักงานเขตคลองเตย พื้นที่แปลง B เป็นสถานีบรรจุสินค้าเพื่อการส่งออกและสถานีขนส่งทางรถไฟกระจายสินค้าและพื้นที่แปลง C รูปแบบการพัฒนาเป็นอาคารศูนย์บริการจุดเดียวเบ็ดเสร็จและศูนย์ประชุมครบวงจร