posttoday

"เอแบค"พันงบ สวทช.

19 เมษายน 2561

โครงการช่วยธุรกิจเอสเอ็มอี กระทรวงวิทย์ฯ พบมีมหาวิทยาลัยชื่อดังเข้ามาเกี่ยวข้องในฐานะคู่สัญญา

โครงการช่วยธุรกิจเอสเอ็มอี กระทรวงวิทย์ฯ พบมีมหาวิทยาลัยชื่อดังเข้ามาเกี่ยวข้องในฐานะคู่สัญญา

หลังสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง กรณีพบความผิดปกติของผู้ดำเนินการเครือข่ายโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) ในโครงการให้ความช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง โดยอาจารย์มหาวิทยาลัยดังกล่าวซึ่งเป็นกรรมการพิจารณาโครงการ นำเอาบริษัทของตนเองมารับงาน และที่สำคัญยังพบว่าไม่ได้มีการลงพื้นที่ตรวจสอบสถานประกอบการด้วยนั้น ซึ่งล่าสุดพบว่าเป็นมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ วิทยาลัยการศึกษาทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-learning ABAC)

ทั้งนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดย สวทช. และมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินงาน “เครือข่ายโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP)” กันเมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2560 ที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ วิทยาเขตสุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ

สำหรับสาระบันทึกข้อตกลงนั้นเป็นความร่วมมือในการดำเนินงานเครือข่าย ITAP ในระยะเวลา 3 ปี เพื่อช่วยกันส่งเสริมให้บุคลากรของมหาวิทยาลัยทำโครงการวิจัยและพัฒนาที่ตอบโจทย์ภาคเอกชนมากขึ้น และผลงานของมหาวิทยาลัยที่จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์อันจะส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศต่อไป

ขณะเดียวกันได้มีการกำหนดเป้าหมายที่จะร่วมดำเนินการสนับสนุนเอสเอ็มอีไม่น้อยกว่า 15 ราย/ปี ซึ่งกลุ่มเป้าหมายแรกที่เครือข่ายจะให้การสนับสนุน คือกลุ่มเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมจิวเวลรี่ (Jewelry Tech) ซึ่งอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยนั้น เป็นหนึ่งภาคส่วนที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจการค้าของประเทศ ที่ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ช่างฝีมือ และแรงงานในภาคอุตสาหกรรมรวมกว่า 1 ล้านคน โดยในปีที่ผ่านมาไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าจิวเวลรี่อันดับ 10 ของโลก

ขณะที่กระบวนการในการแก้ไขปัญหาการผลิตหรือพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตในภาคอุตสาหกรรม จะเริ่มจากการเข้าเยี่ยมโรงงานเพื่อสำรวจและวิเคราะห์ปัญหาทางเทคนิคเบื้องต้น โดยทีมที่ปรึกษาเทคโนโลยี (Industrial Technology Advisors : ITA) ของ ITAP จากนั้นที่ปรึกษาเทคโนโลยีจะคัดเลือกผู้เชี่ยวชาญ หรือบริษัทผู้เชี่ยวชาญเข้ามา สวทช.จะให้การสนับสนุนในส่วนของค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญ 50% ภายใต้วงเงินสูงสุดไม่เกิน 4 แสนบาท

อย่างไรก็ตาม หลังการลงนามบันทึกข้อตกลงแล้ว ทางเอแบค โดยภราดา บัญชา แสงหิรัญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ มีคำสั่งแต่งตั้งผู้ดำเนินงานเครือข่าย ITAP จำนวน 5 คน และให้มีอาจารย์อีก 2 คน เข้ามาช่วยเหลือ รวมทั้งหมด 7 คน

ด้านผู้บริหาร สวทช. ปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดเพิ่มเติมกรณีตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว โดยบอกเพียงว่าจะชี้แจงเรื่องนี้หลังทราบผลการสอบข้อเท็จจริงแล้ว ซึ่งเร็วที่สุดน่าจะเป็นช่วงต้นสัปดาห์หน้า

ขณะที่แหล่งข่าวเปิดเผยว่า เรื่องปัญหาความไม่ชอบมาพากลในโครงการดังกล่าวของ สวทช.นั้น ได้มีการนำข้อมูลส่งให้นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งอยู่ระหว่างปฏิบัติราชการในต่างประเทศทราบแล้ว