posttoday

ดัชนีเชื่อมั่นเม.ย.สูงสุดในรอบ 40เดือน ส่งสัญญาณศก.ไทยพร้อมโตพุ่ง

02 พฤษภาคม 2561

ม.หอการค้าไทยเผยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเม.ย.อยู่ที่ 80.9 สูงสุดรอบ 40 เดือน ชี้สะท้อนเศรษฐกิจไทยพร้อมกลับมาโตเกิน 4% อีกครั้งในรอบ 5 ปี

ม.หอการค้าไทยเผยดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเม.ย.อยู่ที่ 80.9 สูงสุดรอบ 40 เดือน ชี้สะท้อนเศรษฐกิจไทยพร้อมกลับมาโตเกิน 4% อีกครั้งในรอบ 5 ปี

นายธนวรรธน์ พลวิชัย รองคณบดีฝ่ายวิจัยและผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยเดือนเม.ย.2561 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเม.ย.อยู่ที่ 80.9 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนมี.ค.ที่อยู่ 79.9 เป็นค่าดัชนีที่สูงสุดในรอบ 40 เดือน นับตั้งแต่เดือนม.ค.2558 ตามการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งนี้ปัจจัยที่ทำให้เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มปรับตัวเข้าสู่จุดที่ดีขึ้นมาจาก 1.สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เริ่มคลายความกังวลลง ทั้งปัญหาค่าเงินบาทที่ไม่แข็งค่าทะลุระดับ 30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปัญหาความการเมืองระหว่างประเทศที่คลี่คลายลง 2.การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ทำให้เศรษฐกิจฐานรากมีเงินจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น 3. ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้นในรอบ 6-12 เดือน และ4.การส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นเริ่มกระจายคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) ไปสู่เอสเอ็มอีที่อยู่ในซัพพลายเชนแล้ว ภาพรวมเศรษฐกิจไทยจึงมีสัญญาณฟื้นตัวที่ดีขึ้น

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า จากสถานการณ์ความกังวลที่คลายตัวลงนั้น ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคตอยู่ที่ 91.9 เป็นค่าดัชนีที่เริ่มขยับเข้าใกล้ 100 และยังเป็นค่าดัชนีที่สูงสุดในรอบ 61 เดือน นับตั้งแต่เดือนเม.ย.2556 และคาดว่าน่าจะทะลุ 100 ได้ในช่วงปลายไตรมาส3/2561 แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยพร้อมที่จะกลับมาโตในระดับเกิน 4% อีกครั้งในรอบ 5ปี นับตั้งแต่ปี 2556

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 67.8 ปรับตัวขึ้นจากเดือนมี.ค.ที่ระดับ 66.8 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำอยู่ที่ 75.8 ขยับขึ้นจาก 74.9 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 99.1 ขยับขึ้นจาก 98.0 ส่งผลให้ดัชนีความเหมาะสมในการซื้อรถและบ้านใหม่ปรับสูงขึ้นเช่นกัน และสูงสุดในรอบ 28 เดือน นับตั้งแต่เดือนม.ค.2559 ขณะที่ดัชนีค่าครองชีพในเดือนเม.ย.อยู่ที่ 63.2 ปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างยังรู้สึกว่าค่าครองชีพสูงขึ้นมากกว่ารายได่ที่เพิ่มขึ้น

"ค่าดัชนีในทุกรายการที่ยังต่ำกว่า 100 สะท้อนว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคยังฟื้นตัวไม่มาก เพราะหากฟื้นตัวดี ค่าดัชนีจะต้องทะลุ 90 ซึ่งคาดว่าน่าจะไปเกิดในช่วงปลายๆ ไตรมาส3/2561 เพราะเม็ดเงินจากการส่งออกและท่องเที่ยวเริ่มกระจายลงไป เหลือแค่รอการเร่งเบิกจ่ายงบกลางปีที่จะลงในโครงการด้านเกษตรและไทยยั่งยืนในช่วงปลายเดือนพ.ค.-มิ.ย.นี้ และจะเริ่มรับรู้ในปลายไตรมาส3/2561

สำหรับตัวบั่นทอนกำลังซื้อของผู้บริโภคยังอยู่ที่ราคาสินค้าเกษตรที่ยังฟื้นตัวไม่โดดเด่นเหมือนกับเมื่อ 3 ปีก่อน จึงทำให้กำลังซื้อและเศรษฐกิจในต่างจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดที่ผูกติดกับสินค้าเกษตรยังฟื้นตัวไม่คึกคัก แต่อย่างไรก็ดี ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ ยังเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส1/2561 ยังโตได้ที่ 4.1-4.2% ไตรมาส2/2561 ขยายตัวได้ 4.2-4.4% รวมครึ่งปีแรกขยายตัวได้ 4.4-4.6% และเมื่อรวมทั้งปีจะขยายตัวได้ที่ 4.2-4.6%