"ซีพี"คว้ารถไฟความเร็วสูงเชื่อม3สนามบินเฟส2 "รฟท."ยกให้ไม่ต้องประมูล
รฟท.ส่อยกไฮสปีด 3 สนามบินเฟส 2 ให้ซีพีเดินรถ สั่งตั้งทีมศึกษา เล็งพับแผนกรุงเทพฯ-หัวหิน ไม่คุ้มค่า
รฟท.ส่อยกไฮสปีด 3 สนามบินเฟส 2 ให้ซีพีเดินรถ สั่งตั้งทีมศึกษา เล็งพับแผนกรุงเทพฯ-หัวหิน ไม่คุ้มค่า
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ระหว่างประกวดราคาสัญญาจ้างเอกชนเข้ามาศึกษาแผนพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินอีอีซี เฟส 2 ช่วงอู่ตะเภา-ตราด ระยะทาง 300-400 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุนกว่า 3 แสนล้านบาท โดย รฟท.ได้ระบุในข้อเสนอการว่าจ้างให้บริษัทที่ชนะประมูลไปศึกษาแนวทางให้เอกชนที่เดินรถเฟส 1 ช่วงกรุงเทพฯ-อู่ตะเภา นั้นเข้ามาเดินรถในเฟส 2 ด้วยโดยไม่ต้องเปิดประมูลเพื่อความสะดวกสบายของประชาชน
ทั้งนี้ อาจใช้วิธีการจ้างเอกชนรายเดิมเดินรถเหมือนกับกรณีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) สำหรับการว่าจ้างที่ปรึกษาเข้ามาดูภาพรวมของโครงการรถไฟความเร็วสูง เฟส 2 ถือว่าล่าช้ากว่ากำหนด เนื่องจากขั้นตอนจัดซื้อที่เพิ่มขึ้นตามกฎหมายใหม่และเจ้าหน้าที่ขาดประสบ การณ์ ดังนั้น รฟท.จะเร่งลงนามสัญญาว่าจ้างดังกล่าวให้ได้ภายในเดือน ม.ค.-ก.พ.นี้
สำหรับเอกชนที่คาดว่าจะได้ลงนามในสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเฟสแรก คือกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง ที่เสนอราคาต่ำกว่าคู่แข่ง กิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ นำโดยกลุ่มบีทีเอส ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเจรจาในรายละเอียดข้อเสนอเงื่อนไขพิเศษ (ซองที่ 4) ที่ยังไม่ได้ข้อสรุป และ รฟท.จะเรียกหารืออีกครั้งวันที่ 25 ม.ค.นี้
ขณะที่โครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทาง 209 กม. วงเงินลงทุน 1 แสนล้านบาทนั้น รฟท.ได้สั่งชะลอโครงการดังกล่าวออกไปก่อน เนื่องจากพบว่าระยะทางดังกล่าวไม่คุ้มค่าในการลงทุน จึงเกรงว่าเอกชนจะไม่สนใจเข้าประมูลโครงการ โดยจะพัฒนาเป็นเส้นทางสายยาวแทน ช่วงกรุงเทพฯ-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 635 กม. วงเงินลงทุนมากกว่า 6 แสนล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการของบประมาณจ้างเอกชนเข้ามาศึกษา คาดว่าจะสรุปภายในปีนี้ ก่อนเริ่มศึกษาในปี 2563 ใช้เวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน
แหล่งข่าวระบุด้วยว่า สำหรับโครงการ รถไฟไทย-จีน ได้เลื่อนงานประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ณ กรุงปักกิ่ง จากเดิมวันที่ 25 ม.ค.นี้ ไปเป็นช่วงปลายเดือน ก.พ. โดยความคืบหน้าสัญญา 2.3 งานระบบราง ระบบไฟฟ้า และเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร วงเงิน 4 หมื่นล้านบาทนั้น มีความคืบหน้าไปมาก
“ทางฝ่ายจีนได้ทยอยส่งรายละเอียด การถอดแบบและมูลค่าของสัญญา (BOQ) และตัวเลขค่าใช้จ่ายมาแล้ว เบื้องต้นเท่าที่ตรวจสอบก็เป็นไปตามมาตรฐานที่ฝ่ายไทยศึกษาเกณฑ์ราคากลางมา ดังนั้นจึงคาดว่าไม่น่ามีปัญหาแล้ว พร้อมลงนามสัญญาภายในการประชุมครั้งหน้าแน่นอน อย่างไรก็ตาม ต้องรีบลงนามสัญญาให้จบเพราะรถใช้เวลาผลิตนานถึง 6 ปี และทยอยนำเข้ามาประกอบทีละชิ้นเพื่อให้ทันกับการเปิดเดินรถในปี 2565-2566” แหล่งข่าวระบุ