ผลกระทบไวรัสโคโรนา....คุกคามเศรษฐกิจถดถอยเลวร้ายสุดในรอบเกือบศตวรรษ
ผมไม่ได้กล่าวเอง เป็นแถลงการณ์ของเลขาธิการสหประชาชาติ นายแอนโตนิโอ กูเตอร์เรส เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้วระบุว่าการระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่เป็นวิกฤตเลวร้ายถือเป็นภัยคุกคามทุกคนบนโลกรุนแรงมากที่สุดนับแต่สงครามโลกครั้งที่ 2
จะส่งผลกระทบนำไปสู่เศรษฐกิจโลกถดถอยรุนแรงครั้งใหญ่สุดที่ไม่มีครั้งไหนในอดีตจะเทียบได้เป็นวิกฤตของมนุษยชาติ ทางด้านเศรษฐกิจประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา, ยุโรปตะวันตะวันตก, ญี่ปุ่น, จีน เตรียมทุ่มเงินมากกว่า 5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐเป็นเงินไทยประมาณ 164.5 ล้านล้านบาท เป็นเงินมโหฬารเพื่อพยุงเศรษฐกิจในประเทศของตัวเองไม่ให้ล่มสลาย
การออกมาวิพากษ์ของยูเอ็น (UN) ครั้งนี้อยู่ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ครอบคลุมกว่า 202 ประเทศ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาทะลุมากกว่า 1.1 ล้านคน ผู้เสียชีวิตรวมกันเกิน 5.3 หมื่นคน ซึ่งประเทศผู้ที่มีผู้ป่วยสะสมสูงสุด ได้แก่ สหรัฐฯ, อิตาลี, สเปน, เยอรมัน และจีน ตัวเลขของไทยก็พุ่งไม่หยุดแต่ละวันเป็นหลักร้อย
เร็วๆ นี้คงเห็นผู้ติดเชื้อสะสมไม่น้อยกว่าสามพันราย แต่โดยรวมถือว่าระบบการแพทย์ของไทยดีกว่าหลายประเทศอัตราการเสียชีวิตแค่เพียงร้อยละ 0.96 อัตราการรักษาแล้วหายป่วยคิดเป็นร้อยละ 29.4 หากเปรียบเทียบกับตัวเลขเฉลี่ยของโลกอัตราการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 5.23 และอัตราการรักษาหายร้อยละ 20.7 ตัวเลขเหล่านี้ต้องยกนิ้วให้กับทีมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ทุกคน
ล่าสุด “OECD” องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สมาชิกล้วนเป็นประเทศพัฒนาแล้วระบุว่าเศรษฐกิจโลกจะทรุดตัวอย่างฉับพลันไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะฟื้นตัวได้เมื่อใดเพราะพึ่งอยู่ในระยะเริ่มต้น
มีการประเมินว่าเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ จะทรุดตัวบอบช้ำฟื้นตัวช้า จีดีพีโลกปีนี้อาจไม่ขยายตัวเป็นการคาดการณ์ทางบวกที่ดีที่สุดแล้ว ที่ชัดเจนการเดินทางระหว่างประเทศและท่องเที่ยวของโลกหยุดเกือบหมดกระทบอุตสาหกรรมการบินทั่วโลกอาจเผชิญกับภาวะล้มละลาย
หลายประเทศเข้าควบคุมกิจการของสายการบินเพื่อไม่ให้ ปิดกิจการ ขณะที่การบินไทยเจอวิกฤตที่ย่ำแย่ขาดสภาพคล่อง กระทรวงการคลังเตรียมอัดเงินช่วยเหลือประมาณหนึ่งหมื่นล้านบาท
มีการกล่าวว่าวิกฤตครั้งนี้เป็นฝันร้ายที่ไม่คาดคิดกระทบรุนแรงตั้งแต่เจ้าของธุรกิจใหญ่-เล็ก แรงงาน เกษตรกร ทั่วโลกจะมีคนว่างงานสูงเป็นประวัติการณ์ ผลกระทบจะขยายวงกว้างแบบไม่สามารถประเมินได้เนื่องจากเศรษฐกิจโลกเชื่อมโยงกันเป็น “Global Supply Chain” กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และสถาบัน มูดี้ส์ อนาไลติกส์ ประเมินว่าอาจเห็น “After Shock” แนวโน้มการถดถอยของเศรษฐกิจโลกครั้งใหญ่
แต่ละประเทศเอาตัวรอดแก้ปัญหาของตัวเองเน้นการใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและการจ้างงาน ประเทศที่รับ ไปเต็มๆ เช่น ประเทศไทย ที่พึ่งพาการส่งออกจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก ธนาคารแห่งประเทศไทยประเมินว่าส่งออกอาจหดตัวถึงร้อยละ 8.8 ตัวเลขชี้วัดทางเศรษฐกิจล้วนหดตัวหมดอาจเห็นจีดีพีปีนี้หดตัวติดลบร้อยละ 5.3 ต่ำสุด ในรอบ 20 ปี
ทำให้มีความเสี่ยงแรงงานมากกว่า 6 ล้านคนอาจว่างงานเฉพาะตัวเลขคนตกงานมาขอเงินชดเชยช่วยเหลือจากรัฐบาลที่ลงทะเบียนแล้วมากกว่า 23 ล้านคน แต่นายกรัฐมนตรีประเมินว่าอาจไม่เกิน 9 ล้านคนแค่นี้ก็ หนักหนาแล้ว
ที่กำลังจะตามมา คือ ภาคอุตสาหกรรมการผลิตบางรายเริ่มมีปัญหาสภาพคล่อง อุตสาหกรรมประกอบรถยนต์ใหญ่ 6 ค่ายประกาศหยุดการผลิตชั่วคราวอย่างน้อยไปถึงปลายเดือนเมษายน เนื่องจากขาดซัพพลายชิ้นส่วนที่สำคัญ สต็อกล้นเพราะยอดขายตกทั้งส่งออกและขายในประเทศ ที่จะตามมาคือซัพพลายเชนชิ้นส่วนยานยนต์ที่เป็น “Tier Supplier” จำนวนหลายพันโรงงานมีแรงงานรวมกันไม่น้อยกว่า 3.0 แสนคนจะอยู่กันอย่างไร
แม้แต่ผู้ผลิตชิ้นส่วนรายใหญ่สุดของประเทศที่นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ดจังหวัดระยองปิดโรงงานชั่วคราวไปแล้ว กลางเดือนนี้จะเห็นเป็นร้อยตามมา
ขณะนี้บอกได้เลยว่าผู้ประกอบการรายใหญ่รายเล็กไปจนแผงลอยลำบากมาก โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวกับท่องเที่ยวจะยิ่งลำบากมากขึ้นจากมาตรการคุมเข้มคนต่างชาติเข้าประเทศแม้แต่คนไทยตกค้างยังให้มีการชะลอเพราะกลัวการแพร่ระบาด รายได้ท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างชาติ 3.2 ล้านล้านบาทหายวับ
อย่าว่าแต่ต่างชาติ คนไทยด้วยกันยังไม่กล้าไปไหน คนที่อยู่ในกทม.กลายเป็นที่รังเกียจหลายหมู่บ้าน ในต่างจังหวัดปิดป้ายห้ามเข้า การฟื้นตัวภาคท่องเที่ยวเกี่ยวข้องกับความเชื่อมั่นเมื่อบวกกับเศรษฐกิจพังฟื้นตัวยาวแน่นอน
นอกจากนี้พวกกลุ่มสถานประกอบการ ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร สถานบริการต่างๆ เจอสองเด้งทั้งล็อกดาวน์พื้นที่และประกาศเคอร์ฟิวช่วงกลางวันคนก็น้อยลงเพราะส่วนหนึ่งไปทำงานอยู่ที่บ้านเป็นพวก Work From Home ร้านค้าในตลาดสดยอดขายลดไปครึ่งหนึ่ง แม้แต่รถเข็นกาแฟหน้าออฟฟิศผมยังหายไป
การประกาศเคอร์ฟิวของรัฐบาลรอบนี้เป็นแบบเบาๆ ที่บอกว่ารอบนี้เพราะเข้าใจว่ายังคงมีออกมาอีกหากเอาไม่อยู่ แค่ให้คนอยู่กับบ้านหลัง สี่ทุ่มไปจนถึงตีสี่ ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็ไม่ไปไหนอยู่แล้วเพราะร้านรวง-ศูนย์การค้าปิดไปก่อนแล้ว คนที่ไปทำงานเข้ากะรอบดึกไปสนามบินยังไม่ห้าม
ผู้ประกอบการต่างๆ ออกมาบอกว่าเคอร์ฟิวไม่มีผลกระทบเพราะโดนไปแล้วไม่มีอะไรจะเสียมากกว่านี้
ล่าสุดรัฐบาลเตรียมออกพรก.กู้เงิน 1.0 ล้านล้านบาทเพื่อไว้สู้กับไวรัสโควิด-19 แจงว่าตุนเอาไว้ใช้ช่วงหลังวิกฤต แต่ต้องระวังเพราะเงินมากจริงๆ แค่มาตรการที่ออกมามากมายใช้เงินประมาณ 525,800 ล้านบาทส่วนใหญ่เกือบครึ่งเป็น “Soft Loan” เป็นเงินกู้ใช้เงินของธนาคารรัฐและแบงค์พาณิชย์ ซึ่งเริ่มทยอยปล่อยแต่เอสเอ็มอีที่กำลังแย่คงเข้าถึงยากเพราะเขาเลือกปล่อยรายที่ชัวร์จริงๆ
เงินของรัฐบาลจริงๆ ที่ควักออกมาจากมาตรการต่างๆ เหล่านี้อาจมีแค่ 1.35 แสนล้านบาทในการช่วยเหลือแรงงานนอกระบบคนละ 15,000 บาท/ 3 เดือน แต่จะมากน้อยกว่านี้ขึ้นอยู่กับจำนวนคนที่จะคัดกรอง
การใช้จ่ายเงินที่จะออกพรก.เป็นล้านล้านบาทถึงจะกันเอาไว้สำรองกันเหนียว มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจควรให้ความสำคัญด้วยการเสริมสภาพคล่องเพื่อให้ภาคเอกชนสามารถฟื้นตัวยืนได้ด้วยตนเองเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดเพื่อไม่ให้ปล่อยแรงงานจำนวนมากตกงานกลายเป็นภาระของประเทศ
ถึงตรงนั้นแล้วแก้ยากมาก การเอาเงินไปแจกชาวบ้านฟรีๆ เท่าใดก็ไม่พอ เงินจะไหลไปตุงกระเป๋าทุนใหญ่ร้านค้าปลีกสะดวกซื้อ....เป็นห่วงระวังหน่อยน่ะครับ