posttoday

เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะ....ซมไข้ยาว

19 ตุลาคม 2563

คอลัมน์ "เศรษฐกิจรอบทิศ"

ไม่ได้กล่าวลอย ๆ ว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะเหมือนคนป่วยที่ “ซมไข้ยาว” ยังนอนรอมาตรการเยียวยา   ป้อนข้าว-ป้อนน้ำจากรัฐบาล คำพูดนี้อ้างอิงจากข้อมูลของศูนย์วิจัยของธนาคารรัฐขนาดใหญ่แห่งหนึ่งที่ประเมินว่าภาคธุรกิจขณะนี้กำลัง “อ่วมหนัก” ส่อผิดนัดชำระหนี้ในสัดส่วนที่สูงเกินกว่าที่คาด มีการประเมินว่าลูกหนี้ของแบงก์ต่าง ๆ จะมีสัดส่วนความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยลดลง (ICR : Interest Coverage Ratio)  สอดคล้องกับภาคธุรกิจกำลังเผชิญกับวิกฤตเริ่มจากรายได้ที่ลดลงจากคำสั่งซื้อที่หายไปหรือลูกค้าที่เคยมาจับจ่ายใช้สอยซื้อของน้อยลง เนื่องจากไม่มีสตางค์ทั้งจากเงินเดือน-ค่าแรงที่ลดลงไปจนถึงกลายเป็นคนตกงานทำให้ภาคค้าส่ง-ค้าปลีกไตรมาส 4 คาดว่าอาจหดตัวถึงร้อยละ 7.2

สถานะของธุรกิจรวมไปถึงความเป็นอยู่ของผู้บริโภคจึงอยู่ในสภาวะซมจากพิษไข้รอแต่เงินช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐบาลซึ่งเร็ว ๆ นี้จะมีก๊อกสองโหมโรงกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปีมีการออกแคมเปญโครงการต่าง ๆ เช่น   เพิ่มเงินสวัสดิการแห่งรัฐคนละ 500 บาท, โครงการคนละครึ่งทางแต่ไม่เกิน 3,000 บาท และโครงการช็อปดีมีคืน     นัยว่าใช้งบประมาณ 6.0 หมื่นล้านบาทโดยหวังว่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนถึง 3.3 เท่าคงพอแก้ขัดสร้างอำนาจซื้อให้กับประชาชนได้ระดับหนึ่งแต่อาจเป็นเพียงแค่ยาหม่อง-ยาหอมทุเลาช่วยให้ไม่มีการเลิกจ้างได้บ้าง ช่วงที่ผ่านมาเดือนเมษายน-สิงหาคมพบว่าแรงงานในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 หายไปถึง 6.132 แสนคนแค่เดือนสิงหาคม      มีผู้มาขอรับประโยชน์ทดแทนประกันสังคมจากการว่างงานถึง 4.35 แสนคนครึ่งหนึ่งเป็นคนที่ถูกเลิกจ้างเป็นตัวเลขสูงสุดเท่าที่เคยมี ข้อมูลนี้เป็นนัยแสดงให้เห็นถึงสภาวะเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี

ปรากฏการณ์ของภาคธุรกิจ-เอกชนกำลังเผชิญกับวิกฤตหนี้และสภาพคล่องทางการเงินเป็นผลลัพธ์จาก  วิกฤตเศรษฐกิจที่คุกคามต่อเนื่องเข้าสู่เดือนที่เจ็ดและยังไม่รู้ว่าจะไปจบที่ไหนและเมื่อใดมีการคาดการณ์ว่าอย่างน้อยไปถึงต้นปีพ.ศ.2566 นี่เป็นแค่ช่วงเริ่มต้นยังสาหัสถึงขนาดนี้ประมาณว่าหนี้ของสถาบันการเงินที่ลูกหนี้ขอปรับโครงสร้างหนี้คงเหลือประมาณ 6.9 ล้านล้านบาทส่วนใหญ่เป็นหนี้ของ SME และสินเชื่อรายย่อยซึ่งเป็นกลุ่มที่มี    ความเสี่ยงอาจถึงขั้นปิดกิจการ จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่าหลังสิ้นสุดโครงการพักหนี้  เดือนตุลาคมนี้อาจมีลูกหนี้ประมาณร้อยละ 40 จาก 12.1 ล้านบัญชีอาจไม่สามารถมีรายได้ผ่อนดอกและผ่อนต้น  อาจกลายเป็น NPL จำเป็นที่จะต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้รอบสอง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าขณะนี้เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญคือวิกฤตหนี้ทั้งหนี้ของสถาบันการเงินซึ่งมีความเปราะบางและโอกาสที่จะกลายเป็นหนี้เสีย ขณะที่หนี้ครัวเรือนไตรมาส 2 ตัวเลขพุ่งถึงร้อยละ 83.8 ของจีดีพีเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่แล้วมูลหนี้ของประชาชนเพิ่มถึง 5.025 แสนล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 3.84 อีกทั้งตัวเลขไตรมาส 4 อาจพุ่งสูงกว่านี้ แสดงให้เห็นว่าปัญหาหนี้และสภาพคล่องทั้งธุรกิจและครัวเรือนเป็นจุดชี้เป็นชี้ตายของประเทศ ล่าสุด สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยยื่นข้อเสนอรัฐบาลให้ขยายเวลาพักหนี้ออกไปอีก 2 ปีและให้จ่ายดอกเบี้ยบางส่วนแค่ร้อยละ 10 แถมขอให้ลดดอกเบี้ย เนื่องจากเอสเอ็มอีจำนวนมากประมาณ 1.0 ล้านรายอยู่ในภาวะมีความเสี่ยงอาจถึงขั้นปิดกิจการ

ผมได้พูดมาหลายครั้งเกี่ยวกับมาตรการที่ “ธปท.” และกระทรวงการคลังควรเร่งออกมาเพื่อให้กลุ่มเปราะบางเข้าถึงซอฟต์โลนคือการตั้ง “กองทุนเพื่อช่วยเหลือสภาพคล่องของเอสเอ็มอี”  เพราะหากใช้วิธีปกติอย่างที่เป็นอยู่ที่ต้องพิจารณาถึงความเป็นไปได้ของธุรกิจและหลักประกันบอกได้เลยว่าไม่มีทางที่กลุ่มเปราะบางเหล่านี้จะเข้าถึง เห็นได้จากพรก.เงินช่วยเหลือซอฟต์โลนเอสเอ็มอีที่มีเงิน 5.0 แสนล้านบาทดอกเบี้ยต่ำมาก ๆ จนถึงขณะนี้  มีเงินที่ปล่อยกู้ได้จริงเพียง 1.17 แสนล้านบาทคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 23.4 ยังมีเงินเหลือบานเบอะ คำถามคือสตางค์มีขณะที่มีคนเดือดร้อนจำนวนมากต้องการเงินทำไมจึงปล่อยไม่ได้ รับทราบมาว่าธปท.กำลังศึกษาความเป็นไปได้ใน   การตั้งบริษัทรับบริหารหนี้ (AMC : Asset Management Company)  เพื่อใช้เป็นเครื่องมือบริหารหนี้ประเภท NPL และดูแลทั้งหนี้เสียและหนี้ดี แถมบอกว่าเร็ว ๆ นี้จะเห็นมาตรการแก้ปัญหาหนี้และสภาพคล่องออกมาเป็นแพ็คเกจแต่ขอให้ถอดบทเรียนซอฟต์โลนที่มีปัญหาทางเทคนิคทำให้เงินไม่ลงไปถึงมือของเอสเอ็มอี

ภาวะวิกฤตครั้งนี้รุนแรงมากกระทบกับภาคธุรกิจเอกชนบางรายถึงขั้นไปไม่ไหวต้องปิดกิจการ ผมลองทำ “Scenario” แบบชาวบ้านด้วยการจำลองสถานการณ์คร่าว ๆ พบว่าเม็ดเงินของภาคธุรกิจเอกชนได้รับผลกระทบเฉพาะปีพ.ศ.2563 มีมูลค่ามากกว่า 5.036 ล้านล้านบาทคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 29.8 ของจีดีพี เห็นไหมครับแค่นี้ก็แย่แล้วหากมีปัญหาแทรกซ้อนทางการเมืองรวมไปถึงการชุมนุมที่ทำท่าไม่จบง่าย ๆ หากยืดเยื้อจะมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจถึงแม้ยกแรกทางรัฐบาลจะเอาอยู่ แต่แค่การออกพรก.ฉุกเฉินแล้วคิดว่าคงแก้ปัญหาได้เบ็ดเสร็จคงไม่ได้ง่ายอย่างนั้นเพราะบทเรียนในอดีตสอนว่าความขัดแย้งไม่สามารถแก้ได้ด้วยหลักนิติศาสตร์ หากใช้ความรุนแรงจะทำให้ปัญหาบานปลายควรมีเวทีพูดคุยกับกลุ่มม็อบทั้งระดับรัฐบาลหรือจะใช้กลไกรัฐสภา อะไรหย่อนได้บ้างก็ควรทำ รัฐธรรมนูญที่ต้องชำระควรมีขอบเขตว่าแก้ไขได้แค่ไหนที่สำคัญปัญหาเศรษฐกิจกำลังย่ำแย่รวมถึงปัญหาปากท้องประชาชนก็ต้องเร่งแก้....จริงไหมครับ

( สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์  www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat )