รัฐประหารเมียนมา...ย้อนยุคระบอบกองทัพรัฏฐาธิปัตย์
คอลัมน์ เศรษฐกิจรอบทิศ
สำหรับคนไทยรัฐประหารเมียนมา ไม่ใช่เรื่องตื่นเต้นเพราะของเราเคยชินอยู่กับรัฐบาลที่ได้อำนาจมาจากรถถังและช่วงหลังถูกกลบด้วยโครงการแจกเงิน “เราชนะ” และเงินเยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่กำลังจะคลอดออกมา ก่อนอื่นต้องเข้าใจการเมืองของเมียนมา หรือ “พม่า” ที่คนไทยชอบเรียกมีการแบ่งขั้วแย่งชิงอำนาจเป็นประเทศที่มีรัฐซ้อนรัฐขาดความเป็นเอกภาพ รัฐสภาของเมียนมา การเมืองมีความซับซ้อนตั้งแต่รูปแบบการปกครอง มีการแบ่งออกเป็นมณฑลหรือ “เขต” เป็นพื้นที่รัฐบาลส่วนกลางมีอำนาจบริหารได้ 100% และยังแบ่งเป็นรัฐอิสระ อีก 7 รัฐเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งมีสภาเป็นตัวแทนจากรัฐอิสระไม่ยอมรับว่าเป็นชนชาติพม่า
การรัฐประหารของพม่าภายใต้ “พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย” ต่างกับของไทยตรงที่ไม่ต้องฉีกรัฐธรรมนูญ ที่กองทัพออกแบบมาให้ทหารยังคงมีอำนาจเปิดช่องให้กองทัพหากมีภาวะมิชอบสามารถประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินยึดอำนาจจากรัฐบาลทั้งอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการได้ไม่น้อยกว่า 1 ปี สถานการณ์วันนี้มีเคอร์ฟิวเฉพาะเมืองใหญ่ เช่น นครย่างกุ้ง มณฑะเลย์ ฯลฯ ตั้งแต่ช่วงเที่ยงคืนจนถึงตี 5 ส่วนเมืองรอบนอกก็ยังปกติ ด่านแม่สอด- เมียวดีรถบรรทุกสามารถค้าขายกันได้ปกติ ช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาข้าราชการและหมอรวมถึงประชาชนออกมาประท้วงมีการติดโบดำ การติดต่อผ่านอินเตอร์เน็ตกระท่อนกระแท่น ขณะนี้มีเพียงผู้ให้บริการ “Mytel” ที่กองทัพดูแลแต่สัญญาณลดจาก 3G เหลือ 2G มีการทำลายสายสัญญาณและเสาอากาศ
เกี่ยวกับนางอองซาน ซูจี ซึ่งเป็นประมุขเงาของเมียนมาร์เป็นบุคคลที่ชาวพม่ายกย่องเป็น “ดอว์ซู” (ดอ ซุ๊) หรืออะเหม่ที่แปลว่า “แม่” ถึงแม้ว่าการบริหารประเทศด้านธุรกิจอาจไม่ผ่านและต่างชาติตำหนิเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนประเด็นชาวโรฮิงญา แต่เธอถือเป็นปูชนียบุคคลทั้งเคารพและบูชาทหารที่จับเธอไปคงไม่กล้าทำอันตรายเพราะสมัย “พลเอกขิ่น ยุ้น” เผด็จการที่ปิดประเทศและจับเธอไปขังที่บ้านยังต้องคุ้มกันอย่างดีไม่ให้เป็นอันตราย ผู้เขียนเคยไปบ้านตามชนบทส่วนใหญ่มีรูปของนางอองซาน ซูจี ติดไว้บูชา
นางอองซาน ซูจี ถือเป็นนักการเมืองที่มีประสบการณ์สูงก่อนที่จะถูกรัฐประหารเข้าใจดีถึงการออกแบบรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้ไม่มีเสียงเด็ดขาดจะทำให้กองทัพซึ่งมีเสียงถึง 1 ใน 3 ของสภายังสามารถคุมอำนาจได้เธอจึงมีการประนีประนอม ลอมชอม ยืดหยุ่นกับกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อให้ได้คะแนนเสียงจนทำให้การเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้วพรรค NLD ของเธอชนะแบบถล่มทลายจนพรรค USDP ของกองทัพแทบไม่มีที่นั่งในสภา ตรงนี้เป็นความอ่อนไหวด้านความมั่นคงที่กองทัพยอมไม่ได้และอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่เกิดรัฐประหาร
การเมืองเมียนมา ที่กลับมาอยู่ในขั้วของทหารหลังจาก 10 ปีที่ผ่านมาทำให้กลับไปสู่ยุคมืดยิ่งถูกกดดันคว่ำบาตรจากนานาชาติอาจทำให้รัฐบาลทหารปิดประเทศ ซึ่งในอดีตบ่งบอกว่าไม่แคร์ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรเนื่องจากใช้ความมั่นคงของกลุ่มตัวเองนำหน้าปากท้องชาวบ้าน จากนี้ไปกองทัพจะเป็นผู้กำหนดวิถีทางเดินของประเทศตามแนวทางกองทัพ “รัฏฐาธิปัตย์” อาจมีการแก้ไขหรือร่างรัฐธรรมนูญซึ่งคงมีความซับซ้อนพิสดารมากกว่าเดิมเพื่อกันขั้วอองซานซูจีกลับเข้ามา ช่วงที่ผ่านมาทางกองทัพระแวงกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีการเรียกร้องในการกระจายอำนาจมีการขยายทั้งกองกำลังติดอาวุธและเครือข่ายมีความเป็นอิสระในการค้าขายติดต่อโดยตรงกับจีน กลุ่มอิสระที่ยังไม่ยอมรัฐบาล เช่น กองกำลังอาระกัน กองกำลังตะอาง กองกำลังของเจ้ายอดศึกซึ่งเป็นผู้นำรัฐฉาน กองกำลังละว้า กลุ่มกะเหรี่ยงพุทธ (DKBA) ฯลฯ ซึ่งกองทัพไม่ค่อยสบอารมณ์ที่นางอองซาน ซูจี มีการเล่นการเมืองโดยเอาใจกลุ่มชาติพันธุ์แลกกับฐานเสียงจนชนะการเลือกตั้ง
หากถามว่าสถานการณ์เช่นนี้ประเทศไทยควรวางตัวอย่างไร ความเห็นของผมซึ่งในอดีตคลุกคลีกับเมียนมาร์เคยเป็นเลขาธิการสภาธุรกิจไทย-เมียนมาร์อยู่หลายปีปัจจุบันมีธุรกิจอยู่ในเมียนมา บอกได้เลยว่าวางตัวนิ่ง ๆ ไว้ด้านประชาธิปไตยของเราก็ไม่เต็มร้อยล้มลุกคลุกคลานมีรัฐประหารมากกว่าประเทศเขาด้วยซ้ำไป ชายแดนไทย-เมียนมาจากใต้จรดเหนือยาวประมาณ 2,400 กิโลเมตร การเป็นมิตรไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองของเขาเกี่ยวข้องกับความมั่นคงและด้านเศรษฐกิจแต่ละปีการค้าไทยเมียนมาร์มูลค่าประมาณ 2.05 แสนล้านบาทโดยร้อยละ 80 เป็นการค้าผ่านแดน ซึ่งไทยได้เปรียบดุลการค้า
นอกจากนี้เมียนมาเป็นพื้นที่การลงทุนที่ไทยมีศักยภาพได้เปรียบคู่แข่งเพราะมีเส้นทางถนนเชื่อมโยงกว่า 20 จุด การขนส่งสินค้าจากอำเภอแม่สอดไปเมืองย่างกุ้งระยะทาง 520 กิโลเมตรแค่ 12 ชั่วโมงก็ถึงแล้วหากเป็นสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟิต ต้องไปถ่ายลงรถบรรทุกของพม่าที่จังหวัดเมียวดีค่าขนส่งประมาณ 24,000 บาท นักลงทุนไทยมีการไปลงทุนทั้งด้านอุตสาหกรรมขุดเจาะน้ำมัน ทำไฟฟ้า โรงแรม บริการต่าง ๆ และโลจิสติกส์ การลงทุนและค้าขายในพม่าไม่ง่ายเพราะแข่งขันกันโดยเฉพาะสินค้าจากจีน คนพม่าให้ความสำคัญราคามากกว่าคุณภาพไม่เข้าใจรูปแบบการค้าแบบสากลที่นักลงทุนไทยเคยชิน โดยภาพรวมคนพม่ามีความเป็นมิตรที่ดีกับคนไทยมากกว่าเพื่อนบ้านหลายประเทศ หากปรับตัวได้กับวิถีการค้าแบบพม่า ๆ ก็ไปได้ แต่หากไม่แกร่งจริงหรือมีจุดเด่น- จุดแข็งอยู่ยากส่วนใหญ่กลับมามือเปล่าแม้แต่นักลงทุนญี่ปุ่นที่ว่าแน่แล้วก็ยังถอนทุนกลับบ้าน
การรักษาความสมดุลด้านความสัมพันธ์กับเมียนมาร์มีความสำคัญในประเทศไทยมีแรงงานพม่าประมาณ 1.582 ล้านคนมากกว่าตอนพม่ายกกองทัพคราวเสียกรุงอยุธยาครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 รวมกันเป็นกำลังแรงงานที่เข้ามาช่วยเศรษฐกิจไทยที่ขาดแรงงานไร้ทักษะหรืองานที่คนไทยไม่ทำ ด้านนโยบายต่างประเทศช่วงนี้มีความเปราะบาง ไม่ควรไปบ้าตามฝรั่งแม้แต่เลขาธิการ UN หรือสหประชาชาติยังไม่สามารถออกมติประณามรัฐประหารได้เพราะประเทศจีนและรัฐเซียวีโต้ออกมาขวาง การเมืองเมียนมา ช่วงรอยต่อรัฐประหารจึงต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ไม่ใช่ปฏิวัติ-ออกแถลงการณ์เรียงหน้าออกทีวีแล้วจบ เพราะขณะนี้ประชาชนไม่พอใจออกมาประท้วงทั้งประเทศอาจมี การนัดหยุดงานครั้งใหญ่หรือจลาจล ทหารรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบนางอองซาน ซูจี ยังมีมากสำหรับท่าทีของไทยควรเฉย ๆ ไว้ให้เป็นเรื่องของเขาจัดการกันเอง...แค่ของเราก็เหนื่อยแล้วครับ
( สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมดูได้ทางเว็บไซต์ www.tanitsorat.com หรือ www.facebook.com/tanit.sorat )