posttoday

แบงก์แห่ปิดสาขา 192 แห่งลดต้นทุน

30 ตุลาคม 2560

แนวโน้มธนาคารพาณิชย์จะเริ่มมีการปิดสาขามากขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป

โดย...พรสวรรค์ นันทะ

แนวโน้มธนาคารพาณิชย์จะเริ่มมีการปิดสาขามากขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป มีการนำเทคโนโลยีมาให้บริการทางการเงินที่หลากหลายมากขึ้น สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้

ประกอบกับธนาคารพาณิชย์ต้องคำนึงถึงการบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีการทบทวนจำนวนเครือข่ายที่ตั้งสาขา ย้ายสถานที่ และเพิ่มช่องทางการให้บริการผ่าน โมบายแบงก์กิ้ง หรืออินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง ตลอดจนการนำเครื่องอิเล็กทรอนิกส์มาใช้เพื่อให้ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมได้ด้วยตนเองด้วยค่าใช้จ่ายที่ต่ำลง มีความสะดวกสบายโดยไม่ต้องเดินทางมาที่สาขา

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานจำนวนสาขาธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบล่าสุดในเดือน ก.ย. 2560 พบว่าทั่วประเทศมีสาขาลดลงทั้งสิ้น 192 แห่ง เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จาก 7,033 แห่ง เหลือ 6,841 แห่ง โดยส่วนใหญ่เป็นการลดลงของสาขาที่ตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ 81 แห่ง จาก 2,155 แห่ง เหลือ 2,074 แห่ง ซึ่งการลดลงส่วนใหญ่เป็นสาขาในเขตกรุงเทพฯ อันดับ 1 คือ ธนชาต ลดลง 36 แห่ง อันดับ 2 คือ กรุงไทย ลดลง 22 แห่ง และอันดับ 3 คือ กสิกรไทย ลดลง 12 แห่ง 

ด้านภาคกลางสาขาลดลงรวม 39 แห่ง จาก 2,220 แห่ง เหลือ 2,181 แห่ง ซึ่งในเขตนี้พบว่ากรุงไทยลดลงมากที่สุด อันดับ 2 คือ กสิกรไทย และอันดับ 3 คือ ธนชาต ภาคตะวันออกเฉียงเหนือสาขาลดลงรวม 28 แห่ง โดยลดลงอันดับ 1 คือ กสิกรไทย รองลงมาคือ กรุงไทย  และอันดับ 3 คือ ธนชาต

สำหรับภาคเหนือสาขาลดลงรวม 23 แห่ง อันดับ 1 คือ กสิกรไทย อันดับ 2 คือ กรุงไทย และอันดับ 3 คือ ธนชาต ส่วนภาคใต้สาขาลดลงรวม 21 แห่ง โดยมีกรุงไทยและธนชาตที่สาขาลดลง

แบงก์แห่ปิดสาขา 192 แห่งลดต้นทุน

วิเรขา สันตะพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกำกับธุรกิจสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า การปรับลดลงของสาขาธนาคารพาณิชย์เป็นแนวโน้มปกติ ที่ตอบรับพฤติกรรมและความต้องการของลูกค้า นอกจากนี้ในระยะต่อไปธนาคารอาจเห็นการปรับรูปแบบสาขา เพื่อตอบรับความต้องการลูกค้าในแต่ละประเภทมากขึ้นด้วย โดยรูปแบบและจำนวนสาขาในอนาคตจะยิ่งปรับสู่จำนวนที่เหมาะสมและสอดคล้องตามพฤติกรรมของลูกค้าในแต่ละกลุ่ม แต่ละประเภทมากขึ้น

“ปัจจุบันลูกค้าแต่ละกลุ่มจะมีความต้องการที่แตกต่างกัน มีผลให้แบงก์ปรับรูปแบบสาขาให้ตรงตามความต้องการและตามไลฟ์สไตล์ของลูกค้าแต่ละกลุ่มมากขึ้น เช่น ลูกค้ากลุ่มเจนวาย หรือ มิลเลนเนียล ที่ต้องการความรวดเร็ว เข้าถึงง่าย แบงก์ก็อาจมีสาขาอยู่ในจุดที่เข้าถึงง่าย ให้บริการแบบบริการตัวเอง เป็นต้น”วิเรขา กล่าว

ทั้งนี้ รายงาน ธปท. ระบุว่า แนวโน้มสาขาน่าจะลดลงต่อเนื่อง ตามพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปหันไปทำธุรกรรมผ่านอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้งและโมบายแบงก์กิ้งเพิ่มขึ้น ทำให้การใช้บริการทางการเงินที่สาขาธนาคารลดลง โดยล่าสุด ณ สิ้นปี 2559 ที่ผ่านมา มีจำนวนบัญชีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง 15 ล้านบัญชี มีมูลค่าธุรกรรมรวม 24 ล้านล้านบาท และโมบายแบงก์กิ้ง 21 ล้านบัญชี มีมูลค่าธุรกรรมรวม 5.84 แสนล้านบาท

ที่สำคัญ ธปท.ยังมองว่าในอนาคตหากธนาคารพาณิชย์ปรับตัวได้ดี กระทั่งต้นทุนการให้บริการลดลงจากการปิดสาขาที่ไม่คุ้มค่าทางธุรกิจ จะส่งผลดีต่อการคิดค่าธรรมเนียม รวมไปถึงการคิดดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต่ำลงในระยะต่อไป แม้ปัจจุบันส่วนต่างดอกเบี้ยรับและดอกเบี้ยจ่ายสุทธิจะยังไม่ลดลง โดยเฉลี่ยไตรมาสปีนี้ยังทรงอยู่ที่ 2.62% จากความเสี่ยงเครดิตยังสูงตามภาระการจัดการหนี้เสียที่ยังไม่ลดลง ซึ่งในอนาคตหากต้นทุนการดำเนินงานลดลง ราคาต้นทุนการระดมทุนที่เคยบวกค่าโสหุ้ยเหล่านี้เผื่อไว้สูงจะทยอยปรับลดลงในที่สุด