posttoday

นิรโทษกรรมอีกล่ะ

12 กันยายน 2558

โดย สาธิต บวรสันติสุทธิ์ , CFP

โดย สาธิต บวรสันติสุทธิ์ , CFP

โทษทีนะ อันนี้ไม่เกี่ยวกับการเมืองนะ เพียงแต่ว่า รู้สึกไม่สบายใจทุกทีเวลาเจอข่าวนี้ ไม่ใช่ข่าว สปช. คว่าร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ข่าวถอดยศใครทั้งสิ้น แต่ที่ไม่สบายใจก็คือ ทุกครั้งที่รัฐบาลจะพยายามเก็บภาษีให้ได้มากขึ้น ก็จะมีข่าวนิรโทษกรรมภาษีให้กับพวก SME มาครั้งนี้ก็อีหรอบเดิมขอนิรโทษกรรมภาษีให้ SME อีก แถมยังมีข่าวขอหั่นภาษีนิติบุคคล SME จาก 15% เหลือ 10% สำหรับ SME ที่มีกำไรสุทธิมากกว่า 3 แสน แต่ไม่เกิน 3 ล้านบาท แลกกับการที่ SME ต้องทำบัญชีเดียว

เจอข่าวนี้ทีไรสะท้อนใจทุกที เพราะการนิรโทษกรรมภาษีซ้ำซากอย่างนี้แสดงให้เห็นว่า

1. SME บางส่วน (เป็นส่วนใหญ่หรือไม่ ไม่รู้ แต่ต้องมีจำนวนที่มากพอดู) หลบหลีกภาษีกันอยู่ โดยที่กรมสรรพากรไม่สามารถจัดการได้

2. ที่ผ่านมาการนิรโทษกรรมภาษีไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรในการชักชวนให้ผู้ประกอบการ SME เข้าสู่ระบบการเสียภาษีที่ถูกต้อง (ก็หากประสบความสำเร็จ ก็คงไม่ต้องมาจัดกิจกรรมลดภาษีหรือนิรโทษกรรมภาษีอย่างนี้อีก)

3. ไม่ค่อยได้เห็นข่าวกรมสรรพากรลงโทษผู้ประกอบการ SME ที่หลบหลีกภาษีเลย ดังนั้น แม้ว่าจะขู่อย่างไร ผู้ประกอบการ SME ก็ไม่กลัวเพราะเชื่อว่าอย่างไรเสีย ก็สามารถหลบรอดสายตาของกรมสรรพากรได้

4. การนิรโทษกรรมภาษีซ้ำซากก็ยังส่อให้เห็นเป็นนัยว่า กรมสรรพากรไม่สามารถตามจัดเก็บภาษี SME ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ทุกสิ่งที่คุณทำกับคนอื่น คือ การสอนให้คนอื่นทำอย่างไรกับคุณ” สิ่งที่กรมสรรพากรทำอยู่ตอนนี้ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ก็คือการสอนให้ผู้ประกอบการ SME ทำอย่างนั้นกับกรมสรรพากร

ถ้าอย่างนั้น เราลองมาเดาใจผู้ประกอบการ SME กันมั๊ยครับว่า จะทำอย่างไรต่อหลังจากกรมสรรพากรออกมาตรการไม่ว่าจะนิรโทษกรรมหรือลดภาษีออกมา  หากให้ผมเดาใจผู้ประกอบการ SME ถามว่า ครั้งนี้จะเป็นคนดีเข้าสู่ระบบเพื่อเสียภาษีถูกต้องหรือไม่ คำตอบก็คง “ไม่” เพราะจาก 3 เหตุผลดังกล่าวข้างต้น ในเมื่อตอนนี้กรมสรรพากรยังตามเก็บภาษีให้ถูกต้องไม่ได้ ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นการทำ 2 บัญชี การทำให้บริษัทขาดทุนด้วยวิธีการสร้างรายจ่ายหรือซื้อบิล หรือนำบิลรายจ่ายส่วนตัวมาตัดจ่ายในบัญชีของบริษัท ฯลฯ เพื่อให้ไม่ต้องเสียภาษี หรือ ถ้าจะเสียก็เสียให้น้อยที่สุด แล้วอย่างนี้จะมีแรงจูงใจให้ต้องเสียภาษีให้ถูกต้องอย่างไร บางคนอาจจะบอก “อ้าว ก็การนิรโทษกรรมภาษีไง หรือ การลดอัตราภาษีเหลือแค่ 10% ไง” ก็ถูกครับ แต่ถ้าเทียบกับแทบไม่ต้องเสียภาษีเลย การหลบหลีกภาษีเมื่อเทียบภาษีที่ประหยัดได้กับความเสี่ยงที่จะโดนกรมสรรพากรตรวจพบแล้ว อาจจะจูงใจให้ผู้ประกอบการ SME หลบหลีกภาษีต่อไปมากกว่า

วิธีการที่กรมสรรพากรปฏิบัติต่อผู้ประกอบการ SME กลับแตกต่างจากการปฏิบัติต่อมนุษย์เงินเดือนทำนองฟ้ากับเหวเลยทีเดียว เอาอย่างง่ายๆของมนุษย์เงินเดือน ไม่เคยได้ยินกรมสรรพากรประกาศนิรโทษกรรมคนที่หลบหลีกภาษี มีแต่ได้ข่าวกรมสรรพากรสั่งปรับหรือเรียกเก็บเงินเพิ่มจากคนที่หลบหลีกหรือเสียภาษีไม่ถูกต้อง ซึ่งผลก็คือ ไม่ค่อยเห็นข่าวมนุษย์เงินเดือนหลบหลีกภาษีกันมากนัก หรืออย่างการประกาศลดภาษี ก็ไม่ค่อยได้เห็นกรมสรรพากรประกาศลดภาษีให้มนุษย์เงินเดือนเลย แถมค่าลดหย่อนบางอย่างที่พอจะช่วยให้มนุษย์เงินเดือนได้บริหารภาษีบ้าง ก็จะปรับลดลง  บางคนอาจจะบอก “อ้าว ก็ลดแล้วนี่จาก 5 ขั้น เป็น 7 ขั้น จากอัตราสูงสุด  37% เป็น 35%” ก็ใช่ครับ แต่ถ้าเทียบกับผู้ประกอบการ SME ซึ่งเสียภาษีจริงๆสูงสุดอยู่ที่ 28% แล้ว มนุษย์เงินเดือนเสียภาษีมากกว่าเยอะ แถมยังหักค่าใช้จ่ายได้แค่ 60,000 บาทเทียบกับผู้ประกอบการ SME ที่หักภาษีได้ไม่จำกัด ดูแล้วไม่ยุติธรรมเลย เหมือนการลงโทษคนดีอย่างไรไม่รู้

สิ่งที่เขียนนี้ ก็เพื่อสะท้อนความรู้สึก อยากขอให้กรมสรรพากรมีความยุติธรรมในการจัดเก็บภาษีหน่อย และขอให้ดำเนินการตามกฎหมายกับทุกคนอย่างเสมอภาค เพราะหากกรมสรรพากรยังคอยแต่นิรโทษภาษี หรือ ลดภาษี ฯลฯ สำหรับผู้ที่หลบหลีกภาษี สักวันหนึ่งมนุษย์เงินเดือนก็อาจขอหลบหลีกภาษีบ้าง ก็เพราะกรมสรรพากรสอนพวกเขาเองว่า “ใครก็ตามที่หลบหลีกภาษีเยอะๆ ไว้กรมสรรพากรจะนิรโทษภาษีให้ หรือ แถมลดภาษีให้อีกด้วย”