posttoday

ภาระหนี้ แรงงานไทย

19 พฤษภาคม 2559

โดย สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP

โดย สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP

2 ปีก่อนผมโชคดีได้รับเกียรติจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ไปเป็นวิทยากรในโครงการ Happy Money วางแผนการเงินให้กับพนักงานของบริษัทจดทะเบียน ปรากฏว่า ปัญหาที่พบเกือบ 100% คือ ปัญหาหนี้นอกระบบ ตอนนั้นถึงรู้เลยว่า คนไทยเป็นหนี้นอกระบบกันเยอะมาก

ดังนั้น ผมถึงไม่แปลกเลยที่ผลสำรวจสถานภาพแรงงานไทย : กรณีศึกษาผู้มีรายได้ต่ำกว่า 1.5 หมื่นบาท ของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จากกลุ่มตัวอย่าง 1,212 ตัวอย่าง จะพบว่า แรงงานไทยมีเพียง 39.4% เท่านั้นที่มีการออม ส่วนใหญ่ คือ  60.6% ไม่มีเงินออม และที่ออมโดยส่วนใหญ่จะออมอยู่ที่ 5.9% ของรายได้ หรือเฉลี่ย 730 บาท/เดือน

นอกจากนี้ สถานภาพของแรงงานไทยส่วนใหญ่ถึง 95.9% มีภาระหนี้สิน โดยภาระหนี้ของครัวเรือนเฉลี่ยอยู่ที่ 1.19 แสนบาท/ครัวเรือน และในจำนวนนี้เป็นการกู้ยืมหนี้นอกระบบถึง 60.62% สูงสุดในรอบ 8 ปี เพราะส่วนใหญ่มีปัญหารายได้ไม่พอรายจ่าย และยังพบว่าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา 83.5% ของแรงงานกลุ่มนี้เคยผิดนัดการผ่อนชำระ เนื่องจากเงินไม่พอจ่าย หมุนเงินไม่ทัน ทำให้ปัญหาหนี้นอกระบบยิ่งรุนแรงมากยิ่งขึ้น

สำหรับวัตถุประสงค์ของการกู้ยืมเงิน ส่วนใหญ่ 36.4% กู้เพื่อใช้จ่ายประจำวัน รองลงมา 16.7% กู้เพื่อที่อยู่อาศัย 16.1% กู้เพื่อใช้คืนเงินกู้ และ 15.2% กู้เพื่อซื้อยานพาหนะ  8% กู้เพื่อค่ารักษาพยาบาล 6.8% กู้เพื่อการลงทุน 0.8% กู้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ    

การแก้ไขปัญหาหนี้ที่มักมองกันเป็นสูตรสำเร็จเลย คือ ขอเงินเดือนเพิ่ม หรืออย่างที่ผมเจอเลยก็คือ “เอาเงินมาให้ฉันกู้สิ รับรองฉันแก้หนี้ได้หมดแน่” คำถามคือ ถ้าให้กู้จริงๆ หรือเพิ่มเงินเดือนให้จริงๆ คิดว่าปัญหาหนี้หมดหรือลดไปหรือไม่ ปรากฏว่ามีหลายบริษัทครับที่ทำวิธีนี้ ผลที่ได้คือ ปัญหาหนี้นอกระบบไม่ลดลง แถมพนักงานกลับเป็นหนี้บริษัทเพิ่มอีกที่

จากประสบการณ์ที่ผมได้เรียนรู้ในครั้งนั้น พบครับว่าสาเหตุของการเป็นหนี้ เกิดจากการขาดการวางแผนทางการเงิน คือ คนที่เป็นหนี้ส่วนใหญ่มักจะไม่มองถึงความจำเป็นที่อาจต้องใช้เงินในอนาคต บางคนประมาทเรื่องอนาคตมากไป อย่างเช่น คิดว่าเงินที่มีอยู่พอใช้หลังเกษียณ ไม่เคยมองปัญหาด้านสุขภาพ ฯลฯ

การขาดวินัยทางการเงิน คือ หลายคนมักมองว่า มีเงินก็ต้องใช้ กลับมองคนที่เก็บเงินเพื่อใช้ในอนาคตเป็นคนที่ขี้เหนียว ตายไปก็ไม่ได้ใช้เงิน ฯลฯ สุดท้ายกว่าจะรู้ว่าตนเองคิดผิด ก็ต่อเมื่อสายไปแล้ว คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มักก่อหนี้เพื่อใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็น เช่น เหล้า มือถือ รถ ฯลฯ

การขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องหนี้ คือ หลายคนมีความรู้เรื่องการเงินน้อยมาก ไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ สัญญาสินเชื่อ การคำนวณดอกเบี้ยของสินเชื่อแบบต่างๆ หลายคนถึงขนาดมองว่าการเป็นหนี้เป็นเรื่องปกติ การผิดนัดชำระหนี้ไม่ใช่เรื่องร้ายแรง โดยเฉพาะการกู้หนี้ยืมสินจากญาติ พี่น้อง หรือคนรู้จัก ฯลฯ ประกอบกับหลายคนที่ไม่มีความรู้เลยว่า การค้ำประกันหนี้ให้กับคนอื่น เท่ากับเราร่วมรับผิดชอบภาระหนี้ของเขาแล้ว โดยเฉพาะกรณีที่เขาเบี้ยวหนี้ เจ้าหนี้ก็จะฟ้องบังคับหนี้กับเราแทน

แต่ก็ยอมรับครับว่า มีหลายคนก่อหนี้เพราะความจำเป็นจริงๆ คือ ภาระค่าใช้จ่ายสูงกว่ารายได้ แต่หากเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์แล้ว ผมว่าคนที่เป็นหนี้เพราะความจำเป็นมีไม่เกิน 30% ส่วนที่เหลือเป็นหนี้เพราะการขาดวินัยทางการเงิน

ดังนั้น การแก้ไขปัญหาหนี้ จึงควรแก้ที่ต้นเหตุ คือ แก้ที่ความคิดครับ เปลี่ยนความคิดของเขาให้ถูกต้อง ให้ความรู้ทางการเงินเพื่อให้เขาได้รู้และเห็นความจำเป็นของการวางแผนการเงิน โดยความรู้ที่เขาควรมี ก็ไม่จำเป็นต้องถึงขนาดต้องเล่นหุ้นเป็น ตอนที่ผมไปกับตลาดหลักทรัพย์ฯ หลายคนก็นึกว่ามาสอนเรื่องวิธีเล่นหุ้น แต่จริงๆ แล้ว เปล่าเลยครับ พวกเรามาสอนแนวคิดและวิธีการวางแผนการเงินโดยเน้นมากที่การทำบัญชีรายรับ รายจ่าย เน้นให้รู้จักวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายไหนจำเป็น ค่าใช้จ่ายไหนฟุ่มเฟือย เน้นการมีวินัยในการออมเงิน ฯลฯ ผลลัพธ์จากสิ่งที่พวกเราทำ ก็คือ คนที่ทำตามคำแนะนำ เกือบทุกคนมีสุขภาพทางการเงินที่ดีขึ้น หลายคนถึงกับปลดหนี้นอกระบบได้ คิดแล้วก็ยังภูมิใจถึงตอนนี้เลยครับ