posttoday

ตรรกะวิบัติทางการเงิน (4)

01 กันยายน 2559

โดย...สาธิต บวรสันติสุทธิ์,CFP

โดย...สาธิต บวรสันติสุทธิ์,CFP

เรื่อง “ตรรกะวิบัติทางการเงิน” อาจยาวหน่อยครับ แต่ก็อยากเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์จากการช่วยวางแผนการเงินให้กลุ่มคนอาชีพต่างๆ ได้เห็น ได้รู้ความจริง และความเข้าใจของคนที่มีปัญหาทางการเงิน ซึ่งหลายๆกรณี ปัญหาสามารถแก้ไขได้ อีกหลายกรณีก็แก้ไขไม่ได้เช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม การแก้ไขแบบตัวต่อตัว ผลลัพธ์ก็ได้แค่กับคนที่รับการแก้ไขเท่านั้น ไม่ได้ช่วยแก้ไขหรือป้องกันสำหรับคนที่ยังไม่เกิดปัญหา ดังนั้น หลายท่านอาจเบื่อที่จะอ่าน หรือรู้อยู่แล้ว ก็ขอถือซะว่าเพื่อประโยชน์สำหรับคนที่ยังไม่รู้นะครับ

ออมเพื่อเกษียณ แก่แล้วค่อยออม

หากถามว่ามีใครออมเงินเพื่อเกษียณบ้าง หมายถึงแบ่งเงินเก็บเพื่อใช้สำหรับยามเกษียณจริงๆ ไม่ใช่หมายแค่ว่ามีเงินเก็บรึปล่าว คำตอบที่ผมพบมีไม่ถึง 50% และส่วนใหญ่คนที่ออมเพื่อเกษียณจริงจังจะเป็นคนอายุประมาณ 40 ปีขึ้นไป และหากถามพวกคนหนุ่มสาวก็มักจะไม่ค่อยออมกัน เพราะมองว่าอีกหลายปีกว่าจะเกษียณ ซึ่งเป็นความคิดที่ประมาทมาก เพราะหากแบ่งช่วงชีวิตของคนเราอาจจะแบ่งได้ 3 ช่วงใหญ่ๆ คือ ช่วงเล่าเรียนคือ ตั้งแต่เกิดจนจบการศึกษาเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 20 ปี ช่วงทำงานคือช่วงตั้งแต่เริ่มทำงานจนถึงวัยเกษียณที่อายุ 60 เฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 40 ปี ช่วงเกษียณ คือช่วงตั้งแต่เกษียณจนถึงเสียชีวิต เฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 20 ปี หากเอาระยะเวลาใช้เงินหารด้วยระยะเวลาหาเงิน จะได้เท่ากับ 60/40 = 1.5 เท่า หมายความว่าหากเราเริ่มบริหารเงินตั้งแต่เริ่มทำงาน เงินที่เราหา 1 เดือนเราต้องบริหารให้พอใช้ 1.5 เดือน ซึ่งมองดูแล้วเป็นเรื่องยากมากที่เราจะบริหารเงินให้พอใช้ แต่หากเริ่มบริหารเงินอายุ 40 เท่ากับมีเวลาหาเงิน 20 ปี เพื่อใช้ตลอดอายุทำงานที่เหลือ + อายุหลังเกษียณ = 20+20 = 40 ปี ระยะเวลาใช้เงินหารด้วยระยะเวลาหาเงิน จะได้เท่ากับ 40/20 = 2 เท่า โอกาสที่จะมีเงินพอใช้ยิ่งยากมากขึ้นเท่านั้น และหากสิ่งที่นักวิชาการประเมินเป็นจริง คือ

•อายุขัยของเราจะเพิ่มขึ้น เท่ากับเราจะต้องบริหารเงินให้พอใช้ในระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น ความยากลำบากก็ยิ่งมากขึ้น

•ความมั่นคงทางการงานเริ่มลดลง จากเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่จะเข้ามาทดแทนคนมากขึ้น ทำให้ช่วงอายุการทำงานสั้นลง

ดังนั้นเรื่องการออมเงินเพื่อเกษียณประมาทไม่ได้ ควรต้องรีบออมแต่เนิ่นๆ เวลาที่เริ่มออมดีที่สุด คือ ตั้งแต่เราเกิด (เพื่อนผมหลายคนที่เป็นนักวางแผนการเงิน เริ่มออมเงินให้ลูกทันทีตั้งแต่ลูกเกิด โดยออมในกองทุนหุ้น เพราะเชื่อว่าการลงทุนระยะยาว การลงทุนในหุ้นให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุด และที่สำคัญ คือ ชนะเงินเฟ้อ) สำหรับหลายคนที่พ่อแม่ไม่ได้ออมให้เรา เวลาที่เริ่มออมดีอันดับสองที่เราจะเริ่มออมเพื่อตนเองได้ ก็คือ เวลานี้ครับ

ออมเพื่อเกษียณ เงินต้นต้องไม่ขาดทุน

ข้อนี้ก็เป็นการเข้าใจผิดเกี่ยวกับการออมเงินเพื่อเกษียณอีกหนึ่ง เพราะหลายคนเลยครับที่พบโดยเฉพาะกลุ่มสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เงินออมเพื่อเกษียณส่วนใหญ่จะออมในหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินที่คิดว่าไม่เสี่ยง คือ ไม่ขาดทุนเงินต้น อย่างเช่นพวกพันธบัตรรัฐบาล ตราสารในตลาดเงิน เป็นต้น ซึ่งหลักทรัพย์พวกนี้มีความเสี่ยงการขาดทุนเงินต้นต่ำมาก แต่ก็แลกมาด้วยผลตอบแทนที่ต่ำมากเช่นกัน ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีเดือนกรกฎาคม 2559 อยู่ที่ 2.04%/ปี เท่านั้น หักภาษี ณ ที่จ่าย 15% แล้วจะเหลือแค่ 1.734%/ปี แต่อัตราเงินเฟ้อในชีวิตประจำวันของพวกเราอยู่ที่ 5% - 6%/ปี ซึ่งแปลว่าหากเราฝากเงินในพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี  แม้เงินออมของเราดูแล้วไม่ได้ขาดทุน แต่หากมองที่มูลค่าหรืออำนาจซื้อของเงินกลับลดลงปีละประมาณ 4% ลองคิดดูแค่ปีเดียวมูลค่าเงินเราลดลงตั้ง 4% แล้วหากเราออมเงินเพื่อใช้ตอนเกษียณอีก 20 ปีข้างหน้า มูลค่าเงินเราจะลดเหลือกี่บาทเทียบกับมูลค่าของที่เราต้องใช้จ่ายตอนนั้น ผมลองคำนวณดูก็ได้คำตอบครับว่า เงิน 100 บาทของเราวันนี้ หากเราออมแบบที่กล่าวข้างต้น ในอีก 20 ปีข้างหน้า เงิน 100 บาทของเราจะมีค่าแค่ 44 บาทเท่านั้น พูดง่ายๆก็คือ ของแพงขึ้นจนเงิน100 บาทของเรามีค่าแค่ 44 บาทเท่านั้น
 
ท่านที่สนใจบทความทางการเงินที่ผมได้เขียนเองและได้รวบรวมจากแหล่งต่างๆสำหรับเผยแพร่ให้ท่านผู้สนใจทุกท่าน ขอเชิญไปกด Like ได้ที่ page ใน face book ชื่อ Sathit CFP เพื่อติดตามข้อมูลข่าวสารต่อไปได้ครับ...ขอบคุณครับ