posttoday

อย่างกภาษี

22 ธันวาคม 2559

โดย สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP

โดย สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP

แทบจะเป็นประเพณีแล้ว ปลายปีต้องมีของขวัญปีใหม่จากรัฐบาล

ไม่ว่าจะเป็นการลดค่าผ่านทาง แจกเงินคนจน มหกรรมลดราคาสินค้า ฯลฯ และที่หลายคนรอคอย ก็คือ ลดหย่อนภาษี อย่างปีนี้ถือได้ว่าเป็นปีแห่งการลดหย่อนภาษี เริ่มจาก

- บ้านหลังแรกที่มีมูลค่าไม่เกิน 3 ล้านบาท ที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ภายในวันที่ 13 ต.ค. 2558 สิ้นสุดปลายปีนี้ สามารถหักลดหย่อนได้ 20% ของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ โดยให้หักลดหย่อนต่อเนื่อง 5 ปี เฉลี่ยแล้วไม่เกินปีละ 1.2 แสนบาท คำนวณจากหากเราซื้อบ้านมาในราคา 3 ล้านบาท จะได้รับค่าลดหย่อน 6 แสนบาท (20% ของราคาบ้าน 3 ล้านบาท) จะลดหย่อนภาษีได้ 6 แสนบาท โดยจะเฉลี่ยใช้สิทธิได้ 5 ปี ตกปีละ 1.2 แสนบาท (6 แสนบาท ÷ 5 ปี)

- ค่าโรงแรม ค่าเที่ยวในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2559-31 ธ.ค. 2559 ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท

- ค่ากินเที่ยวช่วงสงกรานต์ ตั้งแต่วันที่ 9-17 เม.ย. 2559 ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท

- ค่าซื้อสินค้า OTOP ตั้งแต่วันที่ 1-31 ส.ค. 2559 ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท

- ค่าโรงแรม ค่าเที่ยวในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.-31 ธ.ค. 2559 ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท

- และสุดท้ายช็อปช่วยชาติ ตั้งแต่วันที่ 14-31 ธ.ค. 2559 ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท นับรวมถ้าคนที่ใช้โปรโมชั่นจากรัฐบาลครบทุกเม็ด จะลดหย่อนภาษีได้สูงถึง 1.95 แสนบาท นับว่าจูงใจน่าดู จนเป็นห่วงเลย เพราะหากไม่ศึกษาให้ดี อาจทำให้เป็นปัญหาทีหลังได้ อย่างเช่น

- สิทธิประโยชน์ภาษีที่ให้ คือ การเอาไปลดหย่อนเงินได้สำหรับการคำนวณภาษีน่ะ ไม่ใช่ไปลดภาษี ดังนั้นคนที่มีรายได้เยอะๆ พูดง่ายๆ คนรวยซึ่งมีฐานภาษีสูงๆ ก็จะได้ประโยชน์มากกว่าคนมีเงินได้น้อยๆ อย่างเช่นคนที่มีเงินได้สูงๆ ที่ฐานภาษี 35% ทุก 100 บาทที่ใช้สิทธิ ก็จะมีสรรพากรมาช่วยจ่ายให้ 35 บาท ส่วนคนที่มีรายได้น้อย สมมติฐานภาษีอยู่ที่ 5% ทุก 100 บาทที่ใช้สิทธิ สรรพากรมาช่วยจ่ายให้แค่ 5 บาทเท่านั้น ดังนั้นคิดดูให้ดีก่อนนะครับว่าคุ้มมั้ยกับการซื้อของที่ไม่จำเป็นเทียบกับการได้ภาษีคืนแค่ 5%

- อย่าซื้อเพลินจนเยอะเกิน อย่างเช่น ถ้าจะเก็บโปรโมชั่นจากรัฐบาลครบทุกเม็ด 1.95 แสนบาท คนที่มีเงินได้สุทธิมากกว่า 3.45 แสนบาทเท่านั้น ที่จะเอาไปลดหย่อนภาษีได้ครบ เพราะเงินได้สุทธิต่ำกว่า 1.5 แสนบาท ไม่ต้องเสียภาษี ดังนั้นคนที่มีเงินได้สุทธิที่ 3.45 แสนบาท ถ้าไม่มีลูก ไม่มีคู่สมรส ไม่ลดหย่อนอะไรเลย เช่น ประกันก็ไม่ซื้อ RMF, LTF ก็ไม่ซื้อ ถ้าเงินเดือนไม่ถึง 3.625 หมื่นบาท ก็อย่างกภาษีเก็บทุกเม็ด เพราะถ้าหักลดหย่อนทุกอย่างจนเงินได้สุทธิต่ำกว่า 1.5 แสนบาท สมมติหักลดหย่อนจนเงินได้สุทธิเหลือ 1 แสนบาท เท่ากับว่าเราใช้สิทธิเยอะเกิน 5 หมื่นบาท ที่ไม่สามารถเอาไปลดหย่อนภาษีได้เลย

- อย่าลืมกำลังของตนเองว่ามีพอสำหรับภาระการใช้จ่ายหรือไม่

ยิ่งของหลายอย่างค่าใช้จ่ายไม่ได้จบแค่ซื้อ ยังต้องมีค่าบำรุงรักษา หรือค่าบริการต่อเนื่อง อย่างเช่น ซื้อมือถือใหม่อีกเครื่อง ก็ต้องมีค่าโทร ค่าเน็ตตามมาทุกเดือน ตัวอย่างก็เคยมีมาแล้วกับรถคันแรกที่สร้างปัญหาหนี้สินให้กับคนหลายคน

- เลือกใช้เฉพาะที่จำเป็น ไม่ใช้ไม่ซื้อ อย่าโดนภาษีหลอก เงิน 100 บาท อย่างเช่น สมมติฐานภาษีเราอยู่ที่ 30% ถ้าเป็นของที่เราต้องใช้ก็ OK เพราะเมื่อเราใช้สิทธิ เราจะได้ส่วนลดจากกรมสรรพากร 30 บาท แต่ถ้าเป็นของที่เราไม่ใช้ อย่างเช่น เสื้อผ้า รองเท้า ฯลฯ ที่ซื้อมาแล้วก็เก็บเข้าตู้ อย่างนี้แทนที่เราจะกำไรภาษี 30 บาท กลับเป็นเราขาดทุน 70 บาท (ของที่ไม่ใช้เท่ากับขาดทุน 100%)

-อย่าตุน ต่อให้เป็นของที่เราต้องใช้ ก็อย่างกภาษีซื้อเยอะเกิน เพราะของที่จำเป็น ถ้าซื้อเยอะเกินจำเป็น ก็เป็นของที่ไม่จำเป็น และของทุกอย่างมีอายุ ซื้อแล้วใช้ไม่หมด สุดท้ายก็ต้องทิ้งเสียเงินฟรี แทนที่จะกำไรกลายเป็นขาดทุน

ท่านที่สนใจบทความทางการเงินที่ผมได้เขียนเองและได้รวบรวมจากแหล่งต่างๆ สำหรับเผยแพร่ให้ท่านผู้สนใจ ขอเชิญไปกด Like ได้ที่ page ใน face book ชื่อ Sathit CFP เพื่อติดตามข้อมูลข่าวสารต่อไปได้ครับ...ขอบคุณครับ