posttoday

ภัยทางการเงิน

26 เมษายน 2560

โดย...สาธิต บวรสันติสุทธิ์ CFP

โดย...สาธิต บวรสันติสุทธิ์ CFP

ข่าวใหญ่ช่วงสงกรานต์ข่าวหนึ่งที่ดูแล้วฮอตฮิตกว่าข่าวสถิติอุบัติเหตุอีก คงหนีไม่พ้นข่าวกรณีบริษัทที่แอบอ้างว่าเป็นบริษัทที่จดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงกับสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) แห่งหนึ่ง ได้หลอกให้สมาชิกบริษัทซื้อทัวร์และเดินทางด้วยเครื่องบินแบบเช่าเหมาลำเพื่อไปท่องเที่ยวยังประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 11-16 เม.ย. 2560 ในราคาคนละ 13,130 บาท แต่เมื่อถึงเวลาเดินทาง ปรากฏว่าไม่มีเที่ยวบินเดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่น ทำให้กลุ่มสมาชิกที่ซื้อทัวร์ตกค้างที่สนามบินสุวรรณภูมิเป็นจำนวนมาก

เลยทำให้นึกถึงภัยทางการเงินที่เกิดขึ้นในอดีต ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายแชร์ลูกโซ่ บริษัท ยูฟันสโตร์ ที่มีเครือข่ายขนาดใหญ่ในหลายประเทศ มีสมาชิกไม่ต่ำกว่า 1 แสนคน หรือการลงทุนการเงินในตลาดออนไลน์จากกองทุนฟอเร็กซ์ มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 1,000 ล้านบาท ฯลฯ ยังไม่นับรวมถึงภัยทางการเงินที่ผู้บริโภคอย่างเราๆ ท่านๆ ถูกชักจูงให้ซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงินจากสถาบันการเงินที่ถูกกฎหมาย ทำให้นึกถึงประโยคหนึ่งที่ผมชอบเตือนเสมอเวลาไปบรรยายเรื่องการวางแผนทางการเงินที่ให้ผู้สนใจฟัง คือ “อะไรก็ตามที่เหลือเชื่อ คือ เหลือเชื่อ อย่าไปเชื่อ”

ในขณะที่เรามุ่งมั่นตั้งใจเก็บออมเงินเพื่ออนาคต ก็จะมีกลุ่มมิจฉาชีพที่คอยจ้องหลอกเอาเงินเราตลอดเวลา โดยมิจฉาชีพเหล่านี้จะอาศัยความกลัว ความไม่รู้ ความโลภ ของเหยื่อมาเป็นเครื่องมือในการโกงเงิน ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันภัยจากมิจฉาชีพที่เราไม่รู้ว่าจะมาถึงเราเมื่อไหร่ รูปแบบไหน จากใคร (อันนี้ป้องกันยากมาก เพราะหลายคนที่ถูกหลอกเรื่องการเงิน ก็มาจากความปรารถนาดีจากญาติพี่น้อง เพื่อนสนิทของตนเองที่ต้องการให้คนที่เขารักได้รับสิ่งดีๆ ด้วย โดยไม่รู้ตัวว่าตนเองกำลังเป็นเครื่องมือของพวกมิจฉาชีพอยู่) อยากขอแนะนำให้ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับกลโกงทางการเงินที่ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย ท่านที่สนใจสามารถติดต่อ ศคง.ได้ง่ายๆ เพียงโทร. 1213 หรือคลิก https://www.1213.or.th/th/aboutfcc/Pages/contactfcc.aspx 

เรามาดูตัวอย่างของภัยทางการเงินที่ ศคง.เตือนพวกเรานะครับ ผมขอยกตัวอย่าง แชร์ลูกโซ่เลย จะได้เข้ากับเคสนี้หน่อย

ข้อมูล ศคง.เตือนเกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่อย่างนี้ครับ “แชร์ลูกโซ่บางครั้งจะแอบแฝงมากับธุรกิจขายตรง ซึ่งมิจฉาชีพจะโฆษณาชวนเชื่อให้เหยื่อทำธุรกิจขายตรงที่มีผลตอบแทนที่ค่อนข้างสูง โดยที่เหยื่อไม่ต้องทำอะไร เพียงแค่ชักชวนเพื่อนหรือญาติพี่น้องให้ร่วมทำธุรกิจ เมื่อเหยื่อเริ่มสนใจ จะให้เหยื่อเข้าร่วมฟังสัมมนาและจ่ายค่าสมัครสมาชิก หรือซื้อสินค้าแรกเข้าในมูลค่าที่ค่อนข้างสูง (สินค้าส่วนมากมักไม่มีคุณภาพ) หรืออาจให้เหยื่อซื้อหุ้นหรือหน่วยลงทุนโดยไม่ต้องรับสินค้าไปขาย แล้วก็รอรับเงินปันผลได้เลย ปัจจุบันยังมีการโฆษณาชักชวนผู้ลงทุนผ่านอินเทอร์เน็ตอีกด้วย”

ข้อสังเกต แชร์ลูกโซ่ในคราบธุรกิจขายตรงจะไม่เน้นการขายสินค้า การสาธิตสินค้า หรือทำให้สมาชิกเข้าใจในตัวสินค้า แต่จะเน้นการหาสมาชิกใหม่เพราะค่าสมัครสมาชิก/ค่าซื้อสินค้าแรกเข้า/ค่าหุ้นหรือหน่วยลงทุนจะถูกนำมาจ่ายเป็นผลตอบแทนให้กับสมาชิกเก่า แต่หากไม่สามารถหาสมาชิกใหม่ได้ ก็จะไม่สามารถจ่ายผลตอบแทนให้แก่สมาชิกเก่าได้

ยังมีภัยทางการเงินอีกมากในเว็บไซต์ ศคง. ไม่ว่าจะเป็นกลโกงทางโทรศัพท์ กลโกงธนาคารออนไลน์ กลโกงบัตรต่างๆ การเงินนอกระบบ ฯลฯ น่าเข้าไปอ่านนะครับ รู้ไว้ปลอดภัยกว่า แต่อย่างไรก็ตามข่าวคราวตามสื่อต่างๆ เพิ่มเติมด้วยครับ เพราะพวกมิจฉาชีพพัฒนากลโกงตลอดเวลา จนหลายครั้งเราก็ตามไม่ทัน

สุดท้ายก็ขอย้ำคำเตือนอีกครั้งนะ “อะไรก็ตามที่เหลือเชื่อ คือเหลือเชื่อ อย่าไปเชื่อ”

ท่านที่สนใจบทความทางการเงินที่ผมได้เขียนเองและได้รวบรวมจากแหล่งต่างๆ สำหรับเผยแพร่ให้ท่านผู้สนใจ ขอเชิญไปกด Like ได้ที่เพจในเฟซบุ๊กชื่อ Sathit CFP เพื่อติดตามข้อมูลข่าวสารต่อไปได้ครับ...ขอบคุณครับ