posttoday

แอพพลิเคชั่นของคนสูงวัย อนาคตสะดวกสบายบนปลายนิ้ว

14 เมษายน 2561

เมื่อปีที่แล้วในช่วงเทศกาลสงกรานต์และวันผู้สูงอายุแห่งชาติ ได้เห็นภาพของบรรดาหนุ่มสาวจิตอาสาสมาคมบ้านปันรัก

โดย พรเทพ เฮง

เมื่อปีที่แล้วในช่วงเทศกาลสงกรานต์และวันผู้สูงอายุแห่งชาติ ได้เห็นภาพของบรรดาหนุ่มสาวจิตอาสาสมาคมบ้านปันรัก สอนการใช้อุปกรณ์ต่างๆ ถามตอบให้ความรู้แอพพลิเคชั่นธรรมะพาเพลิน ตั้งค่าใช้งานเบื้องต้นให้ผู้สูงอายุคุณย่า คุณยาย ณ มูลนิธิบ้านอารีย์ ถือเป็นการเชื่อมต่อให้คนสูงวัยได้ก้าวสู่โลกออนไลน์ในชีวิตประจำวัน

การใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ตรุ่นต่างๆ เป็นที่น่าสนใจสำหรับผู้สูงอายุ เนื่องจากการสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้มีความมั่นใจมากขึ้น ว่าตัวเองไม่ถูกทอดทิ้งอยู่เพียงลำพัง และการมีกลุ่มเช่นสังคมออนไลน์ก็ทำให้บรรดาคนสูงวัยได้เรียนรู้ข่าวสารต่างๆ ฝึกสมอง ป้องกันอัลไซเมอร์ไปด้วยอีกทาง

แอพพลิเคชั่นของคนสูงวัย อนาคตสะดวกสบายบนปลายนิ้ว

ประเทศไทยมีประชากรสูงอายุอยู่ประมาณ 10.78 ล้านคน (ร้อยละ 16.5 ของประชากรทั้งประเทศ) ในปี 2564 จะมีผู้สูงอายุถึงร้อยละ 20 และปี 2574 จะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30 ทั้งนี้ปัจจุบันมีผู้สูงอายุที่เป็นผู้ป่วยติดเตียงประมาณ 1 แสนคน และนอกจากนั้นเป็นผู้สูงอายุที่ติดบ้านร้อยละ 19 ติดสังคมร้อยละ 80

เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรเพื่อให้ผู้สูงอายุ จะได้ไม่ต้องพึ่งพิงผู้อื่น และมีสุขภาพที่ดีทั้งกายและใจ การกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ และประกอบกับโลกออนไลน์ที่เข้ามามีบทบาททางสังคมมากยิ่งขึ้น การส่งต่อข้อความ (แชตไลน์) กลายเป็นเรื่องธรรมดาไปเรียบร้อยแล้วในปัจจุบัน ซึ่งมีความการบอกต่อหรือแชร์ข้อมูลจากกลุ่มเพื่อนผู้สูงวัยด้วยกันผ่านสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตเสมือนอีกหนึ่งอุปกรณ์ข้างตัวที่ขาดไม่ได้

ในงานผู้สูงอายุไทย ก้าวไกล ไทยแลนด์ 4.0 : นวัตกรรมด้านสุขภาพเพื่อผู้สูงอายุ (Health care innovation for older persons) เพื่อยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตสู่ไทยแลนด์ 4.0 มีการเปิดโครงการ “ผู้สูงอายุไทย ก้าวไกลไทยแลนด์ 4.0 : สูงวัย สูงคุณค่า สานภูมิปัญญา สู่ลูกหลานไทย” เพื่อนำนวัตกรรมในสาขาต่างๆ มาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพการดำเนินชีวิตผู้สูงอายุใน 5 มิติ ทั้งมิติด้านสังคม เศรษฐกิจ สุขภาพ สภาพแวดล้อม และเทคโนโลยีและนวัตกรรม และสร้างความตระหนักให้สังคมเห็นคุณค่าของผู้สูงอายุในฐานะภูมิปัญญา และคลังความรู้ของสังคม ในการเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆ นำนวัตกรรมและภูมิปัญญาไปเผยแพร่ในสังคมต่อไป

หนึ่งในแผนดำเนินการ มีแอพพลิเคชั่น (Application) สำหรับผู้สูงอายุรวมอยู่ด้วย นั่นคือแอพพลิเคชั่นสิทธิต่างๆ ของผู้สูงอายุ (Gold Application) ซึ่งถือว่าเป็นก้าวใหม่ของการใช้ชีวิตบนหน้าจอโลกออนไลน์ของคนสูงวัย

จากสภาพแวดล้อมสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปของสังคมไทยในปัจจุบัน มีส่วนผลักดันให้ผู้สูงอายุลดภาระพึ่งพิงจากลูกหลานอยู่แล้ว ปัจจุบันผู้สูงวัยในวัยเกษียณแสดงตัวให้ลูกหลานเห็นว่ามีศักยภาพในการพัฒนาตนเอง โดยใช้อุปกรณ์ดิจิทัลและแอพพลิเคชั่นต่างๆ ท่องโลกออนไลน์ สร้างประชาสังคมออนไลน์หรือคอมมูนิตี้เป็นกลุ่มของตัวเองได้อย่างชำนาญ แสดงให้เห็นถึงความทันสมัยในการอยู่ในสังคมยุคปัจจุบันอย่างเท่าทันและมีใช้ประโยชน์ให้สมวัยได้เป็นอย่างดี

งานวิจัยแอพพลิเคชั่นผู้สูงวัย

แอพพลิเคชั่นของคนสูงวัย อนาคตสะดวกสบายบนปลายนิ้ว

ในปัจจุบันสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตเป็นอุปกรณ์หนึ่งที่นิยม ส่วนใหญ่จะมีไว้เพื่อใช้งานในชีวิตประจำวัน และมีการพัฒนาโมบายแอพพลิเคชั่น (Mobile Application) มากขึ้น เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคขั้นสูงสุด การสร้างแอพพลิเคชั่นขึ้นมาให้เป็นแนวทางที่สะดวก ง่าย และลดขั้นตอนการติดต่อสื่อสารต่างๆ เพื่อความรวดเร็ว

 แต่สำหรับผู้ใช้ที่เป็นผู้สูงอายุนั้นจะมีสายตาที่ไม่เหมือนกับคนปกติ ซึ่งจะมีการมองเห็นที่แตกต่างออกไป ในส่วนของการใช้งานแอพพลิเคชั่นต่างๆ นั้น ผู้ออกแบบส่วนใหญ่ไม่ได้ออกแบบมาให้ผู้สูงอายุใช้โดยเฉพาะ ซึ่งทำให้ผู้สูงอายุมีการกดปุ่มที่ผิดพลาด หรือมองไม่เห็นสีที่ชัดเจน จึงเป็นที่มาของการทำแอพพลิเคชั่นนี้เพื่อทำการหาขนาดของปุ่มที่เหมาะสมกับสายตาของผู้สูงอายุในโมบาย แอพพลิเคชั่น

วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท ชื่อ “การศึกษาขนาดของปุ่มที่เหมาะสมในโมบายแอพพลิเคชั่นสำหรับผู้สูงอายุ” (A Study of Action-Button Size on Mobile Applications for Elderly) ของ วิชญ์พล เกตุชัยโกศล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการจัดการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ปีการศึกษา 2558 ให้ข้อมูลว่า ผู้สูงอายุในสังคมปัจจุบันส่วนใหญ่นั้น จะมีการเข้าถึงการใช้งานเทคโนโลยีมากขึ้นในการดำเนินชีวิต ซึ่งแตกต่างจากสมัยก่อนที่ผู้สูงอายุไม่ค่อยให้ความสำคัญของเทคโนโลยีมากนัก

แต่ในความเป็นจริงแล้วผู้สูงอายุก็สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ไม่ยาก อย่างเช่นการใช้โลกออนไลน์เพื่อติดตามข่าวสาร หรือจะเป็นการติดต่อครอบครัวที่อยู่ห่างไกลก็สามารถใช้ช่องทางการสื่อสารได้หลายทาง อีกทั้งการเล่นเกมเพื่อช่วยในการพัฒนาสมอง ช่วยฝึกความจำ และป้องกันโรคสมองเสื่อม โดยมีเทคโนโลยีมากมายเป็นสื่อกลางในการเข้าถึงสำหรับผู้สูงอายุ

เทคโนโลยีในปัจจุบันนี้มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือหรือว่าแท็บเล็ต จากในช่วงแรกเน้น โทรเข้า-โทรออก สามารถพกพาได้ก็เริ่มพัฒนาให้ตัวโทรศัพท์มือถือบางลง เล็กลง เบาลง มีฟังก์ชั่นเพิ่มขึ้น เช่น ส่งข้อความ เล่นเกม และพัฒนามาให้สามารถถ่ายรูป ฟังเพลง เล่นเพลง ฟังวิทยุ จนกลายมาเป็นมือถือที่สามารถท่องโลกอินเทอร์เน็ต ดูหนัง เล่นโซเชียลเน็ตเวิร์ก และอื่นอีกๆ มากมาย

ถึงแม้จะมีแอพพลิเคชั่นมากมายที่สร้างมาสำหรับผู้สูงอายุ แต่บางทีการออกแบบในส่วนของพื้นหลังขนาดของตัวอักษรและขนาดของปุ่ม แต่ในบางครั้งอาจจะทำให้ผู้สูงอายุไม่สะดวกในการใช้งาน การออกแบบการใช้งานหน้าจอที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุจะมีการแบ่งออกเป็นส่วนของพื้นหลังที่มีสีพื้นหลังสบายตา และขนาดของตัวอักษรที่ต้องมีความเหมาะสมในการใช้งาน ไม่เล็กหรือใหญ่จนเกินไป

รวมถึงรูปแบบตัวอักษรที่เป็นมาตรฐานปุ่มกดจึงมีความสำคัญในการบ่งบอกตัวตนของปุ่มว่า ลักษณะหรือรูปแบบเช่นนี้ คือปุ่มที่ใช้สำหรับกดเพื่อใช้เข้างานในแอพพลิเคชั่นอื่นๆ

ดังนั้น นอกจากลักษณะและรูปแบบแล้ว ขนาดที่เหมาะสมก็เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการใช้งานของผู้สูงอายุ หากขนาดของปุ่มมีขนาดที่ใหญ่เกินไป ก็จะทำให้สภาพโดยรวมของหน้าจอดูไม่เหมาะสม แต่หากว่าขนาดของปุ่มมีขนาดเล็กเกินไปก็อาจจะทำให้ผู้ใช้งานกดไม่โดนปุ่ม

การใช้งานแอพพลิเคชั่นในปัจจุบัน ผู้จัดทำต้องให้ความสำคัญในเรื่องการออกแบบปุ่มกดบนแอพพลิเคชั่น เพื่อนำมาวิเคราะห์ออกแบบขนาดปุ่มกดเพื่อให้มีรูปแบบที่น่าใช้และมีความเหมาะสมในการใช้งาน

โลกในปัจจุบันเป็นยุคของสังคมเครือข่าย เทคโนโลยีมากมายเข้ามามีบทบาทในทุกเรื่องของการดำเนินชีวิตโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สังคมออนไลน์” ตัวผู้สูงอายุเองก็สามารถเข้าถึงสังคมออนไลน์เหล่านี้ได้เช่นกัน อย่างเช่น 1) ช่วยเปิดโลกกว้างให้กับผู้สูงอายุ เทคโนโลยีที่ทันสมัย อย่างสมาร์ทโฟน ไอแพด แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ เป็นต้น ช่วยเปิดโลกกว้างให้กับผู้สูงอายุได้ไม่ว่าจะอยากทราบเรื่องใดสนใจเรื่องใดก็สามารถหาข้อมูลได้ในทันที ทำให้ไม่ตกข่าว ได้รับรู้ความเคลื่อนไหวในสังคม และช่วยสอนเรื่องต่างๆ ได้

2) ช่วยฝึกพัฒนาสมอง การเรียนรู้ในการใช้เทคโนโลยีเป็นการช่วยฝึกความจำช่วยพัฒนาสมอง และช่วยป้องกันโรคสมองเสื่อมได้เป็นอย่างดีเพราะเป็นการฝึกใช้สมองที่ดีอย่างหนึ่ง และยังเป็นการปรับตัวเข้ากับสังคมอีกด้วย ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตนเองยังก้าวทันโลกและยังทันสมัยอยู่

3) ช่วยให้ครอบครัวใกล้ชิดกัน โลกสังคมออนไลน์สามารถย่อโลกอันกว้างใหญ่ให้เหลือนิดเดียวได้ หากอยากคุยกับลูกหลานที่อยู่ทางไกลก็สามารถสไกป์ เฟสไทม์ แชต หรือติดต่อกันได้อย่างง่ายดายโดยเห็นหน้ากันได้อีกด้วย ช่วยให้ครอบครัวได้ใกล้ชิดกันมากขึ้นและได้พูดคุยกันมากขึ้นแม้จะอยู่ไกลกัน

สำหรับวัตถุประสงค์การใช้งานแอพพลิเคชั่นของผู้สูงอายุ แยกได้ดังนี้ 1) เพื่อติดต่อสื่อสารกับครอบครัว เพื่อน หรือการทำงานได้อย่างรวดเร็ว 2) เพื่อรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างทันเหตุการณ์ 3) เพื่อการเรียนรู้ และค้นคว้าวิจัยในเรื่องที่สนใจ 4) เพื่อความบันเทิง 5) เพื่อทำประโยชน์เกี่ยวกับธุรกิจการค้าที่มีการติดต่อกัน โดยใช้เทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็นธุรกิจในหรือระหว่างประเทศ รวมถึงการธนาคารออนไลน์ 6) เพื่อทำงานหรือพิมพ์งาน และ 7) เพื่อประโยชน์ในการบริการสังคม

ปัญหาการสัมผัสหน้าจอบนแอพพลิเคชั่นของผู้สูงอายุ จากการสังเกตพฤติกรรมการใช้งานแท็บเล็ต มีการใช้งานในส่วนของร่างกาย 2 ส่วนหลัก คือ สายตาที่ใช้ในการมองหน้าจอของอุปกรณ์ กับการเคลื่อนไหวของมือในการใช้งาน

ในปัจจุบันการที่ผู้สูงอายุเปิดใจและพยายามที่จะติดต่อสื่อสารด้วยสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต ด้วยโปรแกรมสื่อสารต่างๆ นั้น เป็นเรื่องที่ยากแค่ตอนเริ่มต้นเท่านั้น เพราะในตอนนี้อุปกรณ์ถูกพัฒนามาเพื่อผู้เล่นผู้สูงวัยโดยเฉพาะทั้งตัวหนังสือและไอคอนที่ใหญ่ขึ้น การสัมผัสที่แม่นยำและวิธีการเล่นที่ไม่ซับซ้อน จึงทำให้ผู้สูงอายุเข้าถึงสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ตได้มากขึ้น

ฉะนั้น “อายุ” จึงไม่ใช่อุปสรรคในการเรียนรู้สิ่งใหม่ แค่ผู้สูงอายุต้องมีความยืดหยุ่นให้กับตนเอง ไม่ปิดกั้นสิ่งใหม่ เพื่อให้ตนเองมีความสุขในยุคปัจจุบันให้มากที่สุด

แอพฯ สูงวัยของไทย

แอพพลิเคชั่นของคนสูงวัย อนาคตสะดวกสบายบนปลายนิ้ว

4 แอพพลิเคชั่นยอดนิยมในโลกออนไลน์ที่ผู้คนมีไว้เป็นแอพฯ หลักบนสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต เพื่อใช้งานบ่อยๆ นั่นคือ ไลน์ (LINE) เฟซบุ๊ก (Facebook) ยูทูบ (Youtube) และกูเกิล (Google) ซึ่งผู้สูงอายุที่อินเทรนด์ในโลกออนไลน์จะใช้เป็นพื้นฐานกันอยู่แล้ว

ความยอดนิยมตรงนี้วัดได้จากการมีหนังสือคู่มือออกมาวางจำหน่ายให้กลุ่มผู้สูงวัยกันเลยทีเดียว นั่นคือหนังสือชื่อ “สูงวัย Like Social หนังสือคู่ใจวัยเก๋า 4.0” ซึ่งแสดงให้เห็นการขยายตัวของผู้สูงวัยที่ใช้แอพพลิเคชั่นบนมือถือและแท็บเล็ตในชีวิตประจำวัน

ย้อนกลับไปในปี 2556 มีการเปิดตัวแอพพลิเคชั่น “Wheel-go-round” ช่วยผู้พิการ-ผู้สูงอายุค้นหาสถานที่ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ใช้วีลแชร์และผู้สูงอายุให้สามารถใช้ชีวิตนอกบ้านได้อย่างมีอิสระ สะดวกสบายมากขึ้น หลังพบสภาพแวดล้อมปัจจุบันเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตนอกบ้าน

แอพฯ นี้จะช่วยให้ผู้ใช้วีลแชร์สามารถทราบและเข้าถึงข้อมูลการเดินทางไปในสถานที่ต่างๆ ได้อย่างสะดวก โดยผ่านการใช้งานบนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งนอกจากผู้ใช้วีลแชร์แล้ว ข้อมูลเหล่านี้ยังสามารถนำเสนอไปสู่ยังกลุ่มคนที่กว้างขึ้นและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

โดยแอพพลิเคชั่น Wheel-go-round มีหน้าจอที่มีเมนูให้เลือกว่าต้องการไปยังสถานที่ใด ดังนี้ 1.กลุ่มท่องเที่ยว ช็อปปิ้ง บันเทิง 2.ขนส่งมวลชน เช่น MRY BYS รถเมล์ 3.ศาสนสถาน 4.สถานที่ราชการ ธนาคาร ไปรษณีย์ต่างๆ 5.โรงพยาบาล และ 6.ร้านอาหาร โดยสามารถเลือกค้นหาได้ว่าสถานที่เหล่านี้มีสิ่งอำนวยความสะดวกใดรองรับได้บ้างคือ ลิฟต์ ห้องน้ำ ทางลาด และที่จอดรถ หรือสามารถเลือกเมนูค้นหาสิ่งอำนวยความสะดวกดังกล่าวในบริเวณใกล้เคียงกับที่ผู้ใช้แอพพลิเคชั่นอยู่ได้ ซึ่งมีการลงข้อมูลสถานที่ต่างๆ ประมาณ 200 จุดทั่ว กทม.

นอกจากนี้ แอพพลิเคชั่นดังกล่าว ยังให้ผู้ใช้สามารถถ่ายรูป เพื่อเพิ่มสถานที่ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ใช้วีลแชร์ หรือผู้สูงอายุได้ด้วย โดยก่อนที่จะเพิ่มจะมีการให้ตอบแบบสอบถามว่าสถานที่ดังกล่าวมีสิ่งอำนวยความสะดวกอยู่ในระดับใด

ปัจจุบันมีแอพพลิเคชั่นสำหรับผู้สูงอายุออกมาให้บริการเยอะพอสมควร อาทิ Pill Reminder Pro เป็นแอพพลิเคชั่นเตือนความจำเวลาทานยาสำหรับผู้สูงอายุ คิดขึ้นมาตอบโจทย์ตารางเวลาของชีวิต เพียงกรอกชื่อ จำนวนครั้งที่รับประทานยา และเวลาที่ต้องกินยา หลังจากนั้น ก็แค่รอเสียงกริ่งเรียกเตือนกินยาเท่านั้นเอง ถือเป็นแอพพลิเคชั่นเพื่อสุขภาพผู้สูงอายุ

Blood PressureiBP แอพฯ วัดระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้สูงอายุมักจะให้ความสำคัญมาเป็นอันดับแรก ทำหน้าที่คอยติดตามผลและวิเคราะห์น้ำตาลในเลือดแต่ละครั้ง เพื่อให้คุณรับมือกับสุขภาพได้อย่างทันท่วงที ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้สูงอายุมักจะให้ความสำคัญมาเป็นอันดับแรก

Magnifying Glass With Light ช่วยขยายตัวหนังสือที่หน้าจอให้ผู้สูงวัยเล่นได้ไม่ปวดตา และไม่ว่าจะอ่านหนังสือพิมพ์ อ่านนิตยสาร หรือเล่นเฟซบุ๊ก

Pocket Physio เป็นแอพฯ ที่รวบรวมท่าออกกำลังเพื่อสุขภาพ ให้ทำตามกันได้ไม่ยาก ซึ่งละท่าก็ล้วนออกแบบมาแล้ว สำหรับผู้สูงอายุเพื่อไม่ให้หักโหมจนเกิดอาการอักเสบขึ้นได้

OLDSTER เป็นแอพพลิเคชั่นเครือขายสังคมออนไลน์สำหรับคนวัยเกษียณโดยเฉพาะ โดยเอาไว้ติดต่อสื่อสาร หาเพื่อนใหม่ และแบ่งปันเรื่องราวส่วนตัวระหว่างกลุ่มคนสูงอายุด้วยกัน ซึ่งก็จะยิ่งช่วยให้พวกเขาไม่ต้องรู้สึกโดดเดี่ยวและเหงาต่อไป เพราะมีกิจกรรมบนโลกออนไลน์ที่ได้พูดคุยกับคนรุ่นเดียวกันแล้ว

นอกจากนี้ ยังมี Halo Beam แอพพลิเคชั่นไทยบริการรับส่งผู้สูงอายุ Senior Tourism เป็นแอพพลิเคชั่นสำหรับงานวิจัย เพื่อใช้ในการจัดการการท่องเที่ยวสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งสมาชิกในครอบครัวไม่เกิน 6 คนจะสามารถใช้แอพฯ นี้ได้ ด้วยการตั้งค่าการแชร์กันในครอบครัว

Modern Senior Community แอพพลิเคชั่นชุมชนออนไลน์ของผู้สูงอายุ ให้ความรู้ข่าวสารต่างๆ และข้อมูลด้านเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ ผ่านโซเชียลมีเดีย โดยนำเสนอเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มผู้สูงวัยโดยตรง อาทิ เรื่องเทคโนโลยี สุขภาพ ท่ากายบริหาร การเงินการงาน และใช้อินโฟกราฟฟิกที่ดึงดูด น่ารัก เข้าใจง่าย และ SUkH assist แอพพลิเคชั่นสำหรับเป็นผู้ช่วยให้กับผู้สูงอายุในการหาบริการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านอาหาร ท่องเที่ยว การแพทย์ หรือการเดินทาง

แอพฯ ธนาคารขยับตามความต้องการคนสูงวัย

แอพพลิเคชั่นของคนสูงวัย อนาคตสะดวกสบายบนปลายนิ้ว

กลุ่มโมบาย แบงก์กิ้ง (Mobile Banking) แอพพลิเคชั่นทำธุรกรรมทางการเงินผ่านมือถือก็หันมาเอาใจผู้สูงวัย อย่างธนาคารกสิกรไทยได้ออก K PLUS Beacon ที่พัฒนาประสบการณ์ใช้งานเพื่อคนกลุ่มนี้โดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นคนสูงวัย คนตาบอดมีปัญหาด้านการมองเห็นประเภทอื่นๆ หรือแม้แต่บุคคลทั่วไป ก็สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ง่ายขึ้นมาก

พัฒนาต่อยอดจากผลงานฟินเทคที่คว้า 2 รางวัลระดับโลก เพราะเป็นนวัตกรรมที่จะทำให้ผู้บกพร่องทางการมองเห็น สามารถทำธุรกรรมการเงินผ่านมือถือได้อย่างสะดวกสบายและถูกต้องแม่นยำมากขึ้น ซึ่งตัวแอพฯ จะใช้เสียงในการสื่อสารกับผู้ใช้เป็นหลัก โดยบริการหลักบนแอพฯ นั้นจะประกอบด้วย การถามยอด โอนเงิน เติมเงิน และจ่ายบิล ภายใต้ระบบรักษาความปลอดภัยมาตรฐานเดียวกับ K PLUS

ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ เอาใจคนสูงอายุ จัดซีเนียร์ บัดดี้ สอนใช้ Easy App โดยมีพนักงานกว่า 500 คน คอยเชิญชวน ให้คำแนะนำและสอนวิธีใช้ให้กับคนทั่วไป ซึ่งคนกลุ่มผู้สูงอายุ 50+ ที่มองว่า ถ้าให้คนวัยใกล้เคียงกันไปชวนและช่วยแนะนำ น่าจะสื่อสารได้เข้าใจมากกว่า จึงเกิดเป็นซีเนียร์ บัดดี้ (Senior Buddy)

จากการสำรวจพบว่า ใน 10 คนจะมี 7-8 คนที่สนใจจากการแนะนำการใช้แอพฯ จากซีเนียร์ บัดดี้ ซึ่งทำให้ทัศนคติว่าคนสูงวัยใช้แอพฯ ไม่ได้หมดไป โดยผู้ใช้กลุ่มสูงอายุใช้แอพฯ เพิ่มขึ้น 10%

ว่าไปแล้วแอพพลิเคชั่นต่างๆ ของผู้สูงวัย ทำให้ผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงเทคโนโลยี ก็จะพึ่งพาตัวเองได้ ไม่เหงา ได้พูดคุยกับลูกหลานที่อยู่ห่างไกลกันหรือแม้กระทั่งได้พบปะกับเพื่อนใหม่ในวัยเดียวกัน ทำให้พวกเขาใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่า มีชีวิตที่ง่ายขึ้นและมีความสุขอีกครั้ง