posttoday

รถไฟทางคู่ 9 หมื่นล้าน ชัยภูมิ-เลยกระตุ้นศก.อีสานเติบโตแข็งแกร่ง

27 ตุลาคม 2561

เรื่อง มัฆวาน-อารดา วรรณกุล

เรื่อง มัฆวาน-อารดา วรรณกุล

ภาคเอกชน ประชาชน ทั้ง จ.ชัยภูมิ และเลย ต่างสนับสนุนให้รัฐบาลเดินหน้าโครงการรถไฟทางคู่สายสีม่วงเริ่มต้นจากสถานีจัตุรัส-ชัยภูมิ-หนองบัวลำภู-เลย ส่งผลดีมากกว่าผลเสีย เนื่องจากจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการคมนาคมสัญจรไปมารวดเร็วและไม่ต้องเสียเวลาเหมือนใช้รถไฟทางเดี่ยวต้องจอดแช่ทุกสถานีเพื่อหลีกทางให้อีกขบวนได้วิ่งผ่าน

มนตรี ชาลีเครือ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ชัยภูมิ เปิดเผยว่า ภาคเอกชนทั้งใน จ.ชัยภูมิ และจังหวัดใกล้เคียงออกโรงสนับสนุนเต็มที่หากไทยสร้างรถไฟทางคู่ขึ้นมาจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างมหาศาลและเติบโตแข็งแกร่งยั่งยืน เพราะรถไฟทางคู่เปรียบเสมือนถนน 2 เลนที่ต่างคนต่างวิ่ง ทำให้เสียเวลาน้อยลง ที่สำคัญแต่ละเส้นทางรถไฟสามารถวิ่งความเร็วเฉลี่ยได้สูงขึ้น แถมรถวิ่งได้เพิ่มมากขึ้น ทำให้การเดินทางสะดวกและรวดเร็วขึ้น ประหยัดทรัพยากรของประเทศอย่างมหาศาลโดยเฉพาะน้ำมัน เพราะรถไฟใช้พลังงานต่อหน่วยน้อยกว่ารถยนต์ส่วนตัวถึง 5 เท่า รถโดยสาร 1.7 เท่า ถ้าเป็นการขนส่งระหว่างเมืองจะประหยัดกว่ารถยนต์ 2.3 เท่า รถบรรทุก 3.5 เท่า ถ้าเครื่องบินก็ 5 เท่า ในความเป็นจริงการขนส่งทั้งคนทั้งสินค้าโดยรถไฟนั้นมีศักยภาพสูงมาก ประหยัดทรัพยากรธรรมชาติคณานับ

หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ความเห็นชอบต่อยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย (2558-2565) ซึ่งรวมไปถึงการสนับสนุนโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง เป้าหมายหลักเพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ทำให้เป็นที่มาของการรถไฟแห่งประเทศไทย ต่อการที่จะขยายเส้นทางรถไฟทางคู่เชื่อมโยงภูมิภาคต่างๆ ที่ยังไม่มีเส้นทางให้บริการ โดยเฉพาะกับ จ.เพชรบูรณ์ และเลย ซึ่งเป็นแหล่งเกษตรกรรมและท่องเที่ยวที่สำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยแผนงานของการรถไฟฯ ต้องการที่จะสร้างทางรถไฟขยายสู่ จ.เพชรบูรณ์ และเลย ด้วยการวางเส้นทางแยกไปจากสถานีรถไฟและจากสถานีจัตุรัส จ.ชัยภูมิ เข้าสู่ จ.เลย โดยที่ผ่านมาการรถไฟฯ ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อให้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสม และสำรวจออกแบบเบื้องต้น ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2557-เม.ย. 2558

แผนการศึกษาดังกล่าวครอบคลุมข้อมูลพื้นฐาน เช่น ข้อมูลด้านประชากร เศรษฐกิจ การเงิน การค้า การลงทุน การคมนาคมขนส่ง โครงข่ายรถไฟ และศึกษาวิเคราะห์ปริมาณความต้องการทางด้านการขนส่งในพื้นที่โครงการ ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต แนวทางเลือกของโครงการและการสำรวจ ออกแบบเบื้องต้น เพื่อเสนอแนวทางเลือกที่มีความเหมาะสมที่สุด เบื้องต้นได้พิจารณาแนวเส้นทางที่มีความเหมาะสมของแต่ละสายทาง โดยใช้ปัจจัยหลัก 3 ด้าน เพื่อให้น้ำหนักของเกณฑ์การพิจารณา ประกอบด้วย ด้านวิศวกรรมและจราจร ด้านเศรษฐกิจและการเงิน และด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม

ผลที่ได้ คือ ทางแรก สายสีม่วงเริ่มต้นจากสถานีจัตุรัส-ชัยภูมิ-หนองบัว ลำภู-เลย ซึ่งผ่านพื้นที่ 4 จังหวัด 15 อำเภอ โดยมีจุดเริ่มต้นแนวเส้นทางที่สถานีรถไฟจัตุรัส อ.จัตุรัส ผ่าน อ.บ้านเขว้า และเมือง เข้าสู่ อ.คอนสวรรค์ แก้งคร้อ และภูเขียว จ.ชัยภูมิ ก่อนเข้าสู่ อ.ชุมแพ และสีชมพู จ.ขอนแก่น จากนั้นตัดผ่าน อ.ศรีบุญเรือง เมืองเลย นากลาง และนาวัง จ.หนองบัวลำภู เข้าสู่ อ.เอราวัณ และวังสะพุง สิ้นสุดแนวเส้นทางที่ อ.เมือง จ.เลย รวม 30 สถานี และจัดทำย่านกองเก็บและขนถ่ายตู้สินค้า (ContainerYard) 6 แห่ง ตลอดระยะทางทั้งสิ้น 333 กิโลเมตร

ขณะที่ทางที่สอง สายสีแดง เริ่มต้นที่สถานีลำนารายณ์-เพชรบูรณ์-เลย-หนองบัวลำภู ผ่านพื้นที่ 4 จังหวัด 13 อำเภอ มีจุดเริ่มต้นแนวเส้นทางที่สถานีรถไฟลำนารายณ์ อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี มุ่งหน้าขึ้นไปทางทิศเหนือ สู่ อ.ศรีเทพ และวิเชียรบุรี ผ่าน อ.บึงสามพัน และหนองไผ่ เข้าสู่ อ.เมือง หล่มสัก และหล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ ผ่านเข้าสู่ อ.ภูหลวง วังสะพุง อเมือง และนาด้วง จ.เลย จากนั้นลัดเลาะไปทางทิศตะวันออกเข้า อ.นาวัง และนากลาง สิ้นสุดแนวเส้นทางที่ อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู รวมสถานี 35 สถานี และย่านกองเก็บและขนถ่ายตู้สินค้า จำนวน 6 แห่ง ระยะทาง 392 กม.

อย่างไรก็ตาม เมื่อนำมาให้ลำดับความสำคัญของการพัฒนาทั้งสองเส้นทาง โดยใช้ปัจจัยหลัก 3 ด้านข้างต้น พบว่าแนวเส้นทางรถไฟทางคู่สายใหม่สู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและภาคเหนือตอนล่าง ที่จะนำมาพัฒนาเป็นลำดับแรก ได้แก่ สายสีม่วงเส้นทางจัตุรัส-ชัยภูมิ-หนองบัวลำภู-เลย โดยมีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ 9.74% มีมูลค่าการลงทุนก่อสร้างเบื้องต้น 93,467 ล้านบาท ส่วนเส้นทางสายลำนารายณ์-เพชรบูรณ์-เลย-หนองบัวลำภู มีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ น้อยกว่า 8.30% มูลค่าการลงทุนสูงถึง 138,002 ล้านบาท ซึ่งรอการพัฒนาทางรถไฟทางคู่ในภูมิภาคต่อไปนี้

หากผลการศึกษาโครงการรถไฟทางคู่จัตุรัส-ชัยภูมิ-นองบัวลำภู-เลย ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในปี 2562 ใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี และเปิดใช้ได้อย่างเป็นทางการในปี 2567 จะส่งผลกระตุ้นเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือเติบโตแข็งแกร่งยั่งยืนทั้งด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว