ห้ามนำเข้ามอเตอร์ไซค์มือสอง แก้มลพิษ สกัดลักลอบหนีภาษี
ครม.ออกกฏเหล็ก ห้ามนำเข้ารถจักรยานยนต์ใช้แล้ว หลังพบขบวนการนำเข้าแยกชิ้นส่วนเพื่อขายใหม่เลี่ยงภาษี รวมถึงช่วยลดปัญหามลพิษที่จะตามมา
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมครม.อนุมัติหลักการร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้รถจักรยานยนต์ใช้แล้วเป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ซึ่งร่างประกาศฉบับนี้ มีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงหลักการจากมาตรการเดิมที่ต้องขออนุญาตนำเข้า เป็น การห้ามนำเข้าโดยเด็ดขาด เพื่อแก้ปัญหามลพิษและการลักลอบนำเข้ามาแยกชิ้นส่วน
อย่างไรก็ตาม ยังคงให้สิทธิประชาชนสามารถขออนุญาตนำเข้ารถจักรยานยนต์ใช้แล้วอื่นๆ จากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ เพื่อลดขั้นตอนการทำงานและอำนวยความสะดวกให้ประชาชน โดยมีสาระสำคัญดังนี้
1.สินค้าที่ห้ามนำเข้า (พิกัดอัตราศุลกากร 87.11) คือรถจักรยานยนต์ใช้แล้ว รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าใช้แล้ว รถโมแพ็ด (Moped) ใช้แล้ว รถจักรยานใช้แล้วที่ติดตั้งมอเตอร์ช่วย (รถจักรยานไฟฟ้าใช้แล้ว) รวมทั้งรถพ่วงข้าง แต่ไม่รวมรถพ่วงข้างที่ไม่ได้ติดตั้งมากับรถ ยกเว้นกรณีนำเข้าภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานอื่น
2.กำหนดประเภทรถจักรยานยนต์ใช้แล้วที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานอื่น โดยไม่ต้องขออนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ ได้แก่ 1.กระทรวงการต่างประเทศ เป็นการนำเข้าโดย สถานเอกอัครราชทูต สถานกงสุลใหญ่ องค์การระหว่างประเทศ สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจของต่างประเทศ องค์กรต่างประเทศ หรือบุคคลที่ได้รับสิทธิ การรับบริจาคภายใต้แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ 2.กระทรวงการคลัง โดยกรมศุลกากร เป็นการนำเข้าชั่วคราวหรือนำเข้ารถจักรยายนต์ใช้แล้วที่ไม่สามารถจดทะเบียนได้ในต่างประเทศ และกรมสรรพสามิต เป็นการนำเข้า เพื่อใช้เป็นรถต้นแบบสำหรับการวิจัยพัฒนาหรือทดสอบสมรรถนะ
3.กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร เป็นการนำเข้าเพื่อจัดแสดงพิพิธภัณฑ์เท่านั้น 4.กระทรวงกลาโหม เป็นการนำเข้าตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมยุทธภัณฑ์
น.ส.รัชดา กล่าวว่า เมื่อร่างประกาศมีผลบังคับใช้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและแก้ปัญหาการลักลอบนำเข้ารถจักรยานยนต์ใช้แล้วเพื่อนำมาแยกชิ้นส่วนและจำหน่ายในประเทศ ส่งผลให้ภาครัฐไม่สามารถเก็บภาษีนำเข้าได้อย่างเต็มที่ ปัจจุบันมีหลายประเทศที่บังคับใช้มาตรการในลักษณะที่คล้ายกับร่างประกาศฉบับนี้ เช่น อุรุกวัย แคนาดา อิตาลี ชิลี และฟิลิปปินส์ เป็นต้น