posttoday

สสว. อัดฉีด 400 ลบ. ออกมาตรการเอสเอ็มอีคนละครึ่ง

16 มกราคม 2565

สสว.เร่งช่วยเอสเอ็มอี 5,000 กว่าราย เปิดตัวมาตรการเอสเอ็มอีคนละครึ่ง สร้างโมเดลใหม่พัฒนาธุรกิจผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ในปีนี้ สสว.ได้จัดทำมาตรการให้ความช่วยเหลือ อุดหนุน วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ผ่านโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS (Business  Development  Service) ได้แก่ มาตรการสนับสนุนให้ SME เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ หรือ Thai SME GP และโครงการนำร่อง One ID ด้วยการพัฒนาระบบ Single Sign On เพื่อให้ SME เข้าถึงการส่งเสริมสนับสนุนของหน่วยงานภาครัฐได้สะดวก รวดเร็ว และทั่วถึง โดยจะเปิดตัวมาตรการใหม่รูปแบบผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์

สำหรับมาตรการช่วยเหลือ อุดหนุน วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี ผ่านโครงการส่งเสริมผู้ประกอบการผ่านระบบ BDS หรือเรียกง่ายๆ ว่าโครงการเอสเอ็มอีคนละครึ่ง เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการให้ได้รับโอกาสในการเข้าถึงการบริการสนับสนุนด้านการพัฒนาธุรกิจในรูปแบบใหม่ ที่เอสเอ็มอีจะสามารถเลือกรับการบริการ หรือรับการพัฒนากับผู้ให้บริการทางธุรกิจ Business  Development  Service Provider : BDSP) ในด้านที่ตรงกับความต้องการของธุรกิจของตนผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์

ทั้งนี้สสว. จะอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการพัฒนาให้แก่เอสเอ็มอีแบบร่วมจ่าย (co-payment) ในสัดส่วนร้อยละ 50-80 ตามขนาดของธุรกิจ โดยเราเตรียมงบประมาณเพื่อช่วยอุดหนุนผู้ประกอบการในปีนี้กว่า 400 ล้านบาท โดยอุดหนุนสูงสุดรายละ 200,000 บาท ซึ่งบางท่านเห็นรูปแบบโครงการก็เรียกว่า SME คนละครึ่ง หรือ SME ได้เกินครึ่งก็ว่าได้”

อย่างไรก็ตาม ภายในเดือนมกราคมนี้ สสว. จะเปิดระบบ BDS อย่างเป็นทางการเพื่อให้ผู้ให้บริการทางธุรกิจ หรือ BDSP ขึ้นทะเบียนและนำเสนอบริการลงบนระบบ BDS และในส่วนการขึ้นทะเบียนเพื่อขอรับการช่วยเหลือ อุดหนุนของผู้ประกอบการ จะเปิดให้ผู้ประกอบการขึ้นทะเบียนในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565

ส่วนบริการที่อยู่ในเกณฑ์ที่ สสว. จะช่วยเหลือ อุดหนุนให้แก่ SME ที่ยื่นข้อเสนอผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ BDS จะมีอยู่ 6 หมวด ด้วยกัน คือ 1.การเพิ่มผลิตภาพและประสิทธิภาพธุรกิจ 2.การพัฒนาและบริหารจัดการธุรกิจ 3.การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าและบริการ

4.การพัฒนาช่องทางการจำหน่ายและการตลาด 5.การพัฒนาตลาดต่างประเทศ และ 6.การพัฒนานวัตกรรมอื่นใดที่เป็นประโยชน์และจำเป็นต่อการพัฒนาและยกระดับทางธุรกิจตามที่คณะกรรมการบริหาร สสว. กำหนด

สำหรับในเฟสแรกนี้ จะเน้นการสนับสนุนในหมวดการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าและบริการ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายเอสเอ็มอีที่ สสว.จะช่วยเหลือ อุดหนุน ได้แก่ผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคล หรือผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดาที่จดทะเบียนกับหน่วยงานภาครัฐ เน้นกลุ่มท่องเที่ยว อาหาร เครื่องดื่ม ยา สมุนไพร New S-Curve BCG (Bio Circular Economy หรือเศรษฐกิจชีวภาพ) และ เกษตรแปรรูป

ขณะที่ผู้ให้บริการทางธุรกิจ ที่จะเข้าร่วมมาตรการดังกล่าว สสว. กำหนดให้เป็นส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์การเอกชน หรือผู้ให้บริการทางธุรกิจที่เป็นภาคเอกชนที่มีส่วนราชการ รับรองหรือแต่งตั้งอย่างเป็นทางการเพื่อให้ทำหน้าที่เป็นหน่วยให้บริการทางธุรกิจ

นายวีระพงศ์  กล่าวว่า หลังจากวันนี้ สสว. เองก็เตรียมลงพื้นที่ในแต่ละภูมิภาคเพื่อเผยแพร่มาตรการและชี้แจงให้หน่วยงานภาครัฐ และเอสเอ็มอีในแต่ละภูมิภาค ได้รับทราบและเข้าร่วมโครงการฯ  โดยเมื่อสิ้นสุดมาตรการในปีนี้ สสว. จะประเมินว่า สามารถสร้างกลไกสนับสนุนให้ผู้ให้บริการทางธุรกิจทั้งภาครัฐ หรือภาคเอกชน มีบทบาทในการส่งเสริมเอสเอ็มอีได้มากขึ้นแค่ไหนด้วย