สกัดโรคหมูแท้งลาม5จังหวัด
ปศุสัตว์ชี้คุมได้ไม่กระทบตลาด ปัญหามะพร้าวเล็งขอ47ล.ช่วย
โพสต์ทูเดย์
— ไล่สกัดโรคหมูแท้งตาย ลามพิษณุโลก อุบลฯ หนองคาย เลย นครศรีธรรมราช ส่วนมะพร้าว เล็งของบ 47 ล้าน ฆ่าแมลง เพิ่มผลผลิตนายปรีชา สมบูรณ์ประเสริฐ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ขณะนี้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไวรัสที่ให้ทำเกิดการแท้งลูก และโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจและสืบพันธุ์ของสุกร หรือ Porcine Reproductive and Respiratory Syndrome (PRRS) ทำให้สุกรเสียชีวิต ที่ จ.พิษณุโลก ได้แล้ว
ทั้งนี้ สาเหตุของโรคมาจากเกษตรกรซื้อลูกสุกรจากโรงเลี้ยงที่ไม่ได้มาตรฐานในการควบคุมโรคทำให้เกิดการแพร่ระบาด ซึ่งในพื้นที่เกิดเหตุได้ประกาศเป็นพื้นที่โรคระบาดสัตว์ ทำให้การเคลื่อนย้ายสัตว์ต้องมีใบรับรองการปลอดโรคที่ออกโดยปศุสัตว์จังหวัดเท่านั้น
โรคดังกล่าวเป็นโรคติดต่อในสุกรไม่ติดต่อคน จึงขอความร่วมมือเกษตรกรอย่านำลูกสุกรไปเลี้ยงในเล้าเดิม จนกว่าจะสามารถคุมโรคทั้งหมดได้ โดยได้ให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จังหวัดเข้าฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อในพื้นที่แพร่ระบาด ซึ่งมีสุกรตายในระดับพันตัวไม่กระทบตลาดรวม
รายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังพบด้วยว่า ได้มีการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี เลย หนองคาย และนครศรีธรรมราช ด้วย แต่ก็สามารถคุมได้ทั้งหมดแล้ว
พร้อมกำชับไปยังเจ้าหน้าที่จังหวัดตามแนวชายแดนให้ระวังในการเคลื่อนย้ายสัตว์ทั้งสุกร โค กระบือ และสัตว์ต้องมีใบรับรองการปลอดโรคจากปศุสัตว์จังหวัด โดยเฉพาะห้ามนำเข้าสัตว์ปีกเพื่อป้องกันการระบาดของโรคไข้หวัดนก เพราะประเทศไทยปลอดโรคมากว่า 2 ปีแล้ว และเร็วๆ นี้สหภาพยุโรป (อียู) จะเข้ามาเพื่อมาตรวจสอบมาตรฐานการเลี้ยงสัตว์ปีกของไทย
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อียูจะเข้ามาประเมินความปลอด ภัยด้านปศุสัตว์อีกรอบ เพื่อพิจารณาออกใบอนุญาตนำเข้าสัตว์ปีกแช่แข็งจากไทย เนื่องจากปัจจุบันให้นำเข้าเฉพาะเนื้อสัตว์ปีกปรุงสุกจากไทย โดยคณะของอียูจะเดินทางเข้ามาในระหว่างวันที่ 2125 มี.ค. และ 28 มี.ค
–1 เม.ย. 2554นายอรรถ อินทลักษณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ปัญหาผลผลิตมะพร้าวลดลงจนทำให้ราคาแพงขึ้น เกิดจากแมลงดำหนามมะพร้าวระบาดในพื้นที่สวนมะพร้าว จ.ประจวบคีรีขันธ์ ตั้งแต่เดือน ส.ค.ที่ผ่านมา
กรมได้เตรียมเสนอโครงการป้องกันและกำจัดแมลงดำหนามมะพร้าวต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อของบประมาณจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในการกำจัดแมลงดังกล่าว วงเงิน 47 ล้านบาท
เนื่องจากมีแนวคิดที่จะส่งเสริมการปลูกมะพร้าวเพิ่มขึ้นในพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และชุมพร ที่เป็นแหล่งผลิตมะพร้าวที่สำคัญ ด้วยปัจจุบันสวนมะพร้าวมีอายุมากกว่า 20 ปี ทำให้ผลผลิตลดลง
สำหรับแมลงดำหนามมะพร้าวเคยแพร่ระบาดรุนแรงปี 2547 ที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ขณะนั้นได้อนุมัติงบเกือบ 60 ล้านบาท เพื่อกำจัด โดยนำเข้าแตนเบียนมาเพาะเลี้ยงเพื่อปล่อยสู่สวนจึงคลี่คลายปัญหาได้ แต่ต้นปีที่ผ่านมาแห้งแล้งมาก แมลงจึงกลับมาแพร่ระบาดใหม่