posttoday

ขายของไม่ดี กำไรไม่มี ใช้หนี้ไม่ทัน

03 สิงหาคม 2563

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ ตอนที่ 31/2563 โดย...สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร

บทความวันนี้ขอเริ่มจากอาการที่ผู้เขียนสัมผัสจากบรรยากาศรอบตัวในเช้าวันเสาร์ช่วงสายๆ ที่สวนรถไฟ เนื่องเพราะทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ ผู้เขียนและภรรยาจะพยายามใช้เวลาช่วงเช้าไปเดิน-วิ่งออกกำลังกายตามประสาของคนที่มีอายุการทำงานที่เหลืออยู่ไม่เกิน 5 ปีก็จะเกษียณแล้ว จากการเดินดูข้าวของทั้งของกิน ของใช้ ตลอดจนได้พูดคุยกับพ่อค้าแม่ขายเจ้าประจำ รวมทั้งพี่ๆ ที่คุ้นเคยในตลาดแห่งนั้น ต่างพูดกันสามข้อความข้างต้นคือ

1. ขายของไม่ดี ต่างพบว่าผู้คนที่มาจับจ่ายใช้สอยหลังการออกกำลังกายในสวนสาธารณะแห่งนี้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นสินค้าพวกอาหารสด อาหารทะเล อาหารปรุงสำเร็จ ผักผลไม้ ตลอดจนของใช้ เช่น เสื้อผ้า ซึ่งถ้าจะนับกันที่ราคาก็ต้องบอกว่าไม่แพงเลยนั้นต่างซื้อน้อยลง คือรู้สึกได้เลยว่าปริมาณการซื้อน้อยลงซื้อกินใช้เท่าที่จำเป็น ไม่มีลักษณะซื้อเผื่อหรือซื้อไปฝาก

ซึ่งก็สอดคล้องกับข้อมูลข่าวสารในกรุ๊ปไลน์ที่สื่อสารกันมากในช่วงนี้เรื่องให้ประหยัด เน้นประโยชน์ ใช้เท่าที่จำเป็น เพราะไม่รู้ว่าผลกระทบจากการแพร่ระบาด COVID-19 จะยาวนานยืดเยื้อขนาดไหนจะเลยปี? 2564? จึงจะกลับมาพอที่จะคึกคักได้หรือไม่การเก็บออม อดทนไม่กินใช้วันนี้เพื่อตุนกระสุนไว้ใช้วันหน้าจึงไม่ใช่เรื่องพูดกันแบบโลกสวยแล้ว แต่เป็นเรื่องที่ต้องลงมือทำกันจริงจัง ปริมาณการซื้อขายที่น้อยลงย่อมทำให้ยอดขายของแม่ค้าแต่ละเจ้าลดลง ตัวอย่างง่ายๆ แม่ค้าขายต้มเลือดหมูเป็นอาหารเช้า ปกติแล้วไม่เกิน 11.00 น. ต้องเตรียมเก็บร้านแล้วแต่ทำไมยังมีของสดเหลือขายรอคนมาซื้อเพิ่มเติม คนที่นั่งทานส่วนใหญ่ที่เคยซื้อกลับไปเพิ่มก็แทบจะหาคนสั่งกลับบ้านหลังทานเสร็จน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด

2. กำไรไม่มี มีการกล่าวถึงต้นทุนวัตถุดิบมีราคาเพิ่มขึ้นเช่นราคาเนื้อหมู ราคาค่าเช่าแผงที่ยังไม่ลดลงสอดคล้องกับสถานการณ์ มีการบ่นกันมากเรื่องค่าขนส่งทั้งที่ราคาน้ำมันก็ลดลงมามากพอสมควร ความขาดแคลนแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านในฐานะที่มาเป็นลูกจ้าง ลูกมือในการทำงาน ซึ่งก่อนหน้านั้นจะเห็นว่ามีกันแทบทุกร้าน ปัจจุบันมีเพียงบางร้าน และเห็นคนมาช่วยทำงานล้วนเป็นบุตรหลาน ญาติมิตรที่อาจจะเพิ่งจบการศึกษาประปราย การที่ต้นทุนคงที่ยังไม่ลดลงมา ขณะที่รายได้ลดลงย่อมส่งผลให้กำไรน้อยลงไป ลักษณะการค้าขายแบบประคองตัวไปแบบนี้จะเป็นไปอีกนานเท่าใดไม่มีใครรู้ได้

3. ใช้หนี้ไม่ทัน ปัญหานี้เกิดขึ้นและพูดกันแทบทุกที่ ผู้เขียนรู้สึกได้เลยว่ามันเป็นหัวข้อที่ถูกหยิบยกมาเป็นเรื่องที่ต้องคุยกันแบบว่า ทุกคนโดนกันถ้วนทั่ว ความไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐยิ่งจริงๆ บางคนพูดถึงเรื่องหนี้บ้าน หนี้เช่าซื้อรถยนต์ที่กำลังจะหมดเวลาการชะลอการชำระหนี้ทั้งต้นเงินหรือต้นเงินและดอกเบี้ยตามมาตรการที่ทางการได้ออกมาช่วยเหลือ เหตุเพราะเวลานี้ทางสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ได้เริ่มส่ง SMS หรือมีการติดต่อสอบถามเกี่ยวกับความสามารถในการชำระหนี้ตามสัญญาเดิมก่อนมาตรการเมื่อเดือนมีนาคม-เมษายน 2563 แล้ว บางท่านก็บอกว่าถ้าเป็นธนาคารของรัฐก็ยังดีมีการยืดเวลาไปถึงต้นปี 2564 แต่ถ้าเป็นเอกชนหรือบริษัทเช่าซื้อก็น่าจะต้องเร่งหามาจ่าย สิ่งที่แทบทุกคนคิดคล้ายๆ กันก็คือ อยากให้ทอดเวลาช่วยประคองนี้ออกไปอีกสักนิด เช่น

(1) อาจขอจ่ายตามงวดที่ต้องส่งแต่ขอจ่ายไม่เต็มยอดได้หรือไม่ เช่น จ่ายได้แค่ครึ่งหนึ่งไปก่อน แล้วต้นปี 2564 ค่อยว่ากันใหม่

(2) ดอกเบี้ยที่คิดกันในช่วงนี้ขอให้ลดลงมาหน่อยได้หรือไม่ ตัวเลขแบบสองหลักเกิน 15% มันคงจะไม่ไหว อยากให้เห็นใจกันบ้างเพราะก่อนหน้านี้ก็คิดดอกเบี้ยกันไป ได้กำไรกันมากมานานแล้ว เวลานี้น่าจะเอื้อเฟื้อกันบ้าง ไม่อย่างนั้นในที่สุดทั้งเจ้าหนี้ ทั้งลูกหนี้ก็ได้กอดคอจมน้ำตายกันไปทั้งคู่

(3) มีบางกรณีเสนอข้อความเห็นน่าสนใจครับ เขาเสนออย่างนี้ว่า เงินที่ลูกหนี้ชำระเข้ามาได้ช่วงนี้ให้เอาไปตัดเงินต้นก่อน ส่วนดอกเบี้ยที่คิดเมื่อได้ลดอัตราลงมาหรือที่ชาวบ้านเรียกลดดอกเบี้ยลงมาแล้วนั้น ให้เอาไปแขวนไว้แล้วค่อยจ่ายกันปี 2564 ยอดเงินต้นที่ลดจะทำให้จ่ายดอกเบี้ยลดลง มันจะได้มีกำลังใจว่าหนี้ลดลง เขาก็เปรียบเทียบว่า เวลาเป็นหนี้เสีย เป็นหนี้ NPL ทำไมได้ลดดอกเบี้ย เอาเงินไปตัดเงินต้นก่อนได้ ทำไมเขาเป็นลูกค้าดีมาตลอด ไม่พูดไม่บ่นสักคำ ทำไมยังจะมารีดเลือดเอากับปูที่ถูกไวรัสระบาดทำร้ายในเวลานี้ ผู้เขียนได้ฟังและคิดตามก็ต้องบอกว่ามันคือ New normal ของฝั่งลูกหนี้ที่อยากจะเห็น

สุดท้ายครับ จากทีมข้อมูลของผู้เขียนที่ได้ตั้งคำถามว่าก่อนที่เศรษฐกิจเราจะเจอ COVID-19 นั้นเรามีลูกหนี้ที่อย่างน้อยหนึ่งบัญชีสินเชื่อของเขานั้นไม่สามารถชำระหนี้ได้เกิน 90 วันหรือสามงวดการชำระเป็นจำนวนถึง 3.8 ล้านลูกหนี้จากจำนวนลูกหนี้ที่ถือว่าบัญชีสินเชื่อยังไม่ปิดในระบบฐานข้อมูลของเครดิตบูโรที่ 22 ล้านลูกหนี้ (ถ้ารวมลูกหนี้ที่มีประวัติจัดเก็บในเครดิตบูโรทั้งเปิดอยู่และปิดไปแล้วจะมีจำนวน 28 ล้านลูกหนี้) ตัวเลขของลูกหนี้เหล่านี้ที่เป็นยอดมูลค่าสินเชื่อโดยประมาณคือ 9.5 แสนล้านบาท คิดเป็น 8% กว่าของมูลหนี้ทั้งหมด 11.7 ล้านล้านบาทที่จัดเก็บในระบบฐานข้อมูล ลูกหนี้เหล่านี้มีเส้นทางเดินไม่มากมครับคือ หนึ่ง เข้าโครงการคลินิกแก้หนี้ สอง ปรับโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหา (Troubled debtrestructuring : TDR) กับเจ้าหนี้ สาม เข้าสู่กระบวนการทางคดี ต่อสู้กับเจ้าหนี้/ขอความเมตตาจากศาลท่านเท่าที่กฎหมายจะเอื้อเฟื้อให้ได้

ขายของไม่ดี กำไรไม่มี ใช้หนี้ไม่ทัน มันคือคำนิยามของบทสรุปว่า เศรษฐกิจไม่ดี วันนี้ เวลานี้ เราๆ ท่านๆ ไม่ได้สนใจแล้วกับคำอธิบายว่า เศรษฐกิจของเรานั้นปัญหาเกิดมาจากด้าน supply side หรือ เรายังมี Policy space อีกเท่าไหร่ ไม่ได้ยินกับคำว่าต้องใช้โอกาสนี้ปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจแล้ว เราอาจต้องเลิกพูดกันแบบภาษาเทพ-ภาษาพรหม กันชั่วคราว

แล้วหันมาลงมือทำให้ชาวบ้านเดินดินกิน street foods เขาได้ลืมตาอ้าปากหายใจภายใต้หน้ากากผ้าได้สดชื่นเต็มปอดกันอย่างน้อยก็จนถึงสิ้นปี 2563 ได้จักเป็นพระคุณยิ่งครับ... ข้อความตอนท้ายของบทสนทนาก่อนถือน้ำเต้าหู้ที่ซื้อมากลับไปกินเป็นของว่างตอนบ่ายหลังการออกกำลังกายเพื่อให้แข็งแรงไม่ติดเชื้อโควิด 19