การเดินทางยังอีกยาวไกล
คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่าย ๆ ตอนที่ 15/2564 โดย.สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร
บรรยากาศของสภาพการทำมาหากินของผู้คนและธุรกิจรายจิ๋ว รายเล็ก รายกลาง รายใหญ่ ในช่วงที่จะพ้นหนึ่งไตรมาสของปี 2564 ในอีกวันสองวันนี้ คงจะทำให้ใครต่อใครใจชื้นขึ้นมาบ้าง ใครที่พอจับทางคนซื้อของได้ มีรูปแบบธุรกิจตอบโจทย์ ก็พอจะรอดปลอดภัย แต่ใครที่กู้เขามา ธุรกิจการค้าถูกรายใหญ่แย่งไปหรือขึ้นออนไลน์ไม่ได้ก็จบ เห็นได้จากโครงการคนละครึ่ง พ่อค้าแม่ขายต่างปรับตัวได้ดีถึงดีมาก ผู้เขียนไปออกกำลังกายที่สวนรถไฟ พบว่าแทบทุกร้านค้าสามารถให้บริการได้หมด หากเราลองนึกภาพ ต้มเลือดหมูกับข้าวสวย 60 บาท แต่จ่ายจริง 30 บาท มันทำให้คนซื้อคิดได้ง่ายๆ ว่า มื้อนี้หนึ่งอิ่มเพียง 30 บาท แต่ในบางบรรยากาศก็พบว่าผู้คนรู้สึกเหมือนเพื่อนผู้เขียนดังนี้
"เราขอคิดแบบบ้านๆ นะ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะนอกจากเงินมันฝืดๆ กำลังซื้อน้อยลงแล้ว อาจเกิดจากสินค้าประเภทอาหารการกินเพื่อประทังชีวิตแต่ละวัน แพงขึ้นมากหรือเปล่า ไม่แน่ใจ ... เราสังเกตจากตัวเอง และชุมชนรอบบ้านว่าเวลามาซื้อกับข้าวที่รถพุ่มพวงที่เข้ามาขายในชุมชนหมู่บ้าน เห็นได้ชัดว่าปริมาณการซื้อแต่ละสิ่งอย่างหรือ Portion การซื้อของพวกเขาลดลง เกือบครึ่ง มา 2-3 ปีแล้วนะ พอมีโควิด-19 มาซ้ำเติมไปอีกก็เห็นได้ชัดว่า เงินที่กำมาซื้อของมันน้อยลง
เพื่อนผู้เขียนอีกท่านที่เป็นนักธุรกิจซื้อขายรถมือสองแบบบริหารจัดการมืออาชีพ ได้ให้ความเห็นว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นช้าเพราะ (1) ที่ผ่านมาไทยเราพึ่งพาการท่องเที่ยวมากเกินไป เพราะ (2) อำนาจซื้อถดถอยอย่างรุนแรงแม้จะมีกลุ่มที่ซื้อได้แต่ก็ขาดแรงจูงใจกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย โดยเฉพาะสินค้าคงทน เช่น บ้านและรถยนต์ ทรัพย์สินมูลค่าสูง การซื้อต้องใช้การกู้ยืมสถาบันการเงิน ซึ่งมีความเข้มงวดในการพิจารณามากกว่าเดิมเป็นอย่างมาก (3) กลุ่มเปราะบางได้รับการช่วยเหลือในการบริโภคสิ่งจำเป็นแบบลดต้นทุนการใช้ชีวิตประจำวันแต่ด้วยการจ้างงานมันไม่แน่นอนก็ทำให้ขาดกำลังซื้อสินค้าคงทน สินค้ากึ่งคงทนอื่นๆ เพราะต้องขอสินเชื่อมาซื้อซึ่งคนที่กู้ผ่านมีจำนวนน้อยมากๆ (4) มาตรการสร้างแรงจูงใจบวกกระตุ้นจากภาครัฐด้วยวิธีการต่างๆ จึงจำเป็นต้องถูกงัดขึ้นมาดำเนินต่อไปเพื่อให้เศรษฐกิจไทย สามารถเติบโตตามศักยภาพได้ (Potential Growth) ตามเป้าหมาย 4% ซึ่งในหลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยยังสอบไม่ผ่านการเติบโตระดับนี้แม้จะต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านแต่ก็ยังดีกว่าไม่ใช้มาตรการกระตุ้นใดๆ เลย ปล่อยตามธรรมชาติ ดังนั้นความเห็นผม (เพื่อนผู้เขียน) ก็ยังเชื่อว่าต้อง "กระตุ้นบวกสร้างภูมิคุ้มกัน" ไปพร้อมๆ กันครับ
อีกท่านที่เป็นเพื่อนผู้เขียนก็บอกว่าถ้าเราหลับตา ให้ถือว่าปิดประตูความหวังรายได้จากการท่องเที่ยวไปก่อน แล้วพยายามคิดใหม่ในหนทางที่จะเดินไปกับการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศก็ยังมองไม่เห็นภาพอะไรที่ชัดเจนเลย คนรุ่นเรา (หมายถึงคนอายุเกิน 50 ปีตามวัยของผู้เขียน) อาจไม่ลำบากที่สุดเพราะสร้างมาบ้างแล้วในบางกลุ่มบางคน แต่คนในรุ่นต่อไปลำบากแน่ (ตรงนี้ผู้เขียนมีทั้งเห็นด้วยไม่เห็นด้วยนะครับ ถ้าเป็นคนรุ่นใหม่สมองไว เห็นทางออกในทุกปัญหาก็น่าจะเป็นพวกที่แบงก์ชอบ แต่ถ้าไปพบคนรุ่นต่อไปแบบเห็นปัญหาในทุกทางออก อันนี้คือภาระแน่นอน
ลากเรื่องออกมาไกลกว่าเรื่องเศรษฐกิจไทยแต่เป็นเรื่องสังคมไทย ก็ยังมีเรื่องไม่ลงตัวอีก มีความพยายามพูดคุยกันบนพื้นที่แห่งความปลอดภัยที่ปราศจากพวกฉัน พวกเธอ มีแต่พวกเรา มีข้อความจากคุณหมอท่านหนึ่งที่เป็นคุณหมอความคิดก้าวหน้าของสังคมไทยได้กล่าวไว้น่าฟังดังนี้
... อนาคต อาจจะแย่กว่า อดีต ก็ได้นะครับอย่าลืมว่าเรามีเรื่องปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ?หรือ climate change และ biodiversity loss... ความเสียหายจากการสูญเสียความหลากหลายทางพืชพันธุ์ ทุกคนคงเคยได้ยินเรื่องนี้แล้ว... แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะให้ความสำคัญหรือตื่นตัวกับเรื่องนี้มากนัก เพราะคงคิดว่าไกลตัวประกอบกับประเทศไทยมีสัดส่วนของการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) น้อยกว่าประเทศใหญ่ๆ
แต่การแย่งชิงทรัพยากรหรือ resource competition อาจจะสร้างความเกลียดชังได้นะครับ โดยผ่านการมองว่าอีกฝ่ายมาแย่งของเรา เลยเป็นศัตรู... ดูง่ายๆ น้ำในแม่น้ำก็เริ่มแย่งกัน นี่ขนาดโลกยังมีน้ำแข็งให้ละลายบนภูเขา หรืออีกหน่อยอาจจะลามไปถึงการบุกรุกทะเลส่วนที่มีปลา เพราะปลา (fish stocks) น้อยลงในหลายพื้นที่ นอกจากนั้นนักวิทยาศาสตร์พยากรณ์ว่าจะมีการอพยพมากขึ้นด้วย (จากที่พื้นที่น้ำท่วม หรือปลูกกินไม่ได้แล้ว)... ผู้คนอาจจะมองเป็นเหมือนการบุกรุกอีกแบบหรือเปล่า พอคนอพยพมาร่วมใช้ทรัพยากรไม่มากก็คงพอช่วยๆ กันได้ แต่ถ้าทะลักมาจำนวนมาก (ผู้เขียน : แบบหนีสงครามกลางเมืองมา) ก็คงแย่งทรัพยากรกัน เราอาจจะต้องมีแผนล่วงหน้ากันหรือไม่
สุดท้าย ผมขอนำข่าวที่คุณบัณฑูร ล่ำซำ ได้กล่าวต่อสื่อมวลชนไว้น่าสนใจหลังทางการออกมาตรการวันที่ 23 มีนาคม 2564 เกี่ยวกับ Soft loan และมาตรการโกงดังพักหนี้ ดังนี้ "ถ้าเศรษฐกิจไม่หมุน คนไม่เดินทาง ไม่ใช้จ่าย นักท่องเที่ยวมาไม่ได้ อะไรก็ยืนไม่อยู่ การพักก็ต้องเป็นการพักชั่วคราว ตอนนี้แบงก์ก็ต้องแบกทั้งนั้น จนกระทั่งวันหนึ่งแบกไม่ได้ แบกได้ขั้นหนึ่ง เพราะในที่สุดแล้วน้ำต้องมา ถ้าน้ำไม่มา ก็ไม่มีสูตรอะไรที่แก้ปัญหาได้ ก็หวังว่าจะค่อย ๆ มา”
... ตอนนี้ทุกส่วนก็หวังว่าการมีวัคซีนฉีดกระจายให้ทั่วถึงประชาชนในทั่วโลก จะทำให้เดินทางกันได้ปกติอีกครั้ง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญต่อประเทศไทยมาก เพราะพึ่งพารายได้จากการเดินทางมาท่องเที่ยวของต่างประเทศ ส่วนจะส่งผลให้เป้าหมายการเติบโตเศรษฐกิจไทยปี 2564 น่าจะไปในทิศทางที่เป็นบวก แต่จะบวกได้แค่ไหนอยู่ที่จังหวะของการฟื้นกระแสของการท่องเที่ยวและการจัดการของภาครัฐ
การเดินทางจากปลายปี 2562 จากข่าวร้ายเมืองอู่ฮั่น มาจนวันนี้จะสิ้นไตรมาสหนึ่งปี 2564 เราๆ ท่านๆ ต้องนับก้าวกันต่อไปแบบใส่หน้ากากเดินทีละก้าว กินข้าวที่ละคำ นำตัวเองไปด้วยความไม่ประมาท