จับตามองปาฐกถาของโพเวลและเงินเฟ้อสหรัฐฯ
สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.00-33.50 ในสัปดาห์นี้
คอลัมมันนี่วีก (Money… week) โดย...กฤติกา บุญสร้าง, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย
สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.00-33.50 ในสัปดาห์นี้ ตลาดให้ความสนใจกับปาฐกถาของโพเวลในการประชุม ณ แจ็คสันโฮล ซึ่งตลาดคาดหวังว่าเฟดจะส่งสัญญาณทางนโยบายการเงินมากยิ่งขึ้น เนื่องจากตลาดแรงงานสหรัฐฯ ส่งสัญญาณฟื้นตัวต่อเนื่อง นอกจากนี้ ด้านนโยบายการเงินยังต้องติดตามการประชุมธนาคารกลางเกาหลีในวันพฤหัสด้วย
ด้านตัวเลขเศรษฐกิจ สหรัฐฯ จะมีการประกาศดัชนีราคาด้านการบริโภคส่วนบุคคล ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดเงินเฟ้อในวันศุกร์นี้ โดยตลาดคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะยังคงเร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้า และจะมีการประกาศตัวเลขรายได้และรายจ่ายส่วนบุคคลของชาวอเมริกันด้วย ทางด้านภาคธุรกิจ ในสัปดาห์นี้จะมีการประกาศดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อเบื้องต้นของสหรัฐฯ ยูโรโซน และญี่ปุ่น ในขณะที่จีนจะมีการประกาศกำไรภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะส่งสัญญาณถึงภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปัจจุบันด้วย สำหรับไทย ในวันอังคารนี้จะมีการประกาศตัวเลขส่งออก นำเข้า และดุลการค้า ในขณะที่ตลาดจับตามองเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของธนาคารแห่งประเทศไทย ในสภาวะที่เงินบาทอ่อนค่าลง
ภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงวันที่ 16-20 สิงหาคม 2564 ค่าเงินบาทผันผวนอย่างมาก โดยเคลื่อนไหวในช่วง 33.10-33.45 ความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่อ่อนแอจากการระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลต้ายังคงกดดันค่าเงินบาท ขณะที่นักลงทุนเริ่มกลับมาสนใจถือครองเงินบาทหลังจากที่ลดครองการถือครองมาเป็นเวลานาน
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้เหลือเพียง 0.7-1.2%YoY (ค่ากลาง 1.0%) จากประมาณการเดิมที่ 1.5-2.5%YoY เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 และคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงจาก 5 แสนคน เป็น 1.5 แสนคน และคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะขาดดุล 10.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะหดตัว 0.5%YoY จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 1.0%YoY เนื่องจากโควิด-19 รุนแรงมากกว่าที่คาด โดยศูนย์วิจัยฯ คาดว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจะสูงสุดในช่วงเดือนกันยายน และการแพร่ระบาดจะดำเนินไปจนถึงไตรมาสสุดท้ายของปีรายงานการประชุมนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ณ วันที่ 4 สิงหาคม ระบุว่า คณะกรรมการมีมติ 4 ต่อ 2 เสียงให้คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% เนื่องจากโจทย์สำคัญ คือการเร่งควบคุมและป้องกันการระบาด โดยเฉพาะเร่งจัดหาและกระจายวัคซีนให้ทั่วถึงและทันการณ์ มาตรการการคลังควรเร่งเยียวยาและพยุงเศรษฐกิจแม้จะทำให้หนี้สาธารณะสูงกว่าเพดานที่ 60% ของจีดีพี อีกทั้งมาตรการการสืนเชื่อช่วยเหลือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบตรงจุดมากกว่าการลดดอกเบี้ย ในขณะที่คณะกรรมการ 2 ท่านเห็นว่าควรลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เพื่อรองรับการชะลอตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า โดยคุณคณิศ แสงสุพรรณ ลาประชุมด้านต่างประเทศ เงินดอลลาร์โดยรวมแข็งค่าขึ้น เนื่องจากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยสูงขึ้น ตามความกังวลว่าการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าจะกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ด้านรายงานการประชุมนโยบายการเงินของเฟดส่งสัญญาณว่าจะลดขนาดคิวอีในปีนี้ แต่ยังไม่ใช่เดือนกันยายน เนื่องจากยังคงต้องการดูความคืบหน้าของตลาดแรงงาน และติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลต้า อีกทั้งยังระบุอย่างชัดเจนว่าการลดคิวอีไม่เกี่ยวข้องกับการขึ้นดอกเบี้ย
เงินบาทปิดตลาดที่ 33.38 ในวันศุกร์ที่ 20 สิงหาคม 2564 ณ เวลา 17.00 น.
ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสหรัฐฯ อายุ 10ปี ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 1.20-1.30% โดยมีประเด็นสำคัญคือรายงานการประชุมของเฟดส่งสัญญาณว่าจะทำการลดขนาดคิวอีในปีนี้ แต่ยังไม่มีช่วงเวลาที่แน่ชัดออกมา พร้อมกับระบุอย่างชัดเจนว่าการลดคิวอีไม่เกี่ยวข้องกับการปรับขึ้นดอกเบี้ย ขณะที่ปัจจัยที่ยังคงสนับสนุนตลาดพันธบัตรรัฐบาลคือการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า ที่จำนวนผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯ ได้เร่งตัวเพิ่มขึ้นตั้นแต่เดือนกรกฎาคม จนมาถึงปัจจุบันที่มีผู้ติดเชื้อเกือบ 2 แสนรายต่อวัน ทำให้นักลงทุนบางส่วนคิดว่าหากรัฐบาลไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดในรอบนี้ได้อย่างรวดเร็ว โอกาสที่เฟดจะขยายระยะเวลาของการลดคิวอีก็มีโอกาสมากขึ้นนั้นเอง
ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยยังคงมีแรงเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นถึงกลาง จากปัจจัยการระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมไปถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มที่อาจจะหดตัวได้ในปีนี้ เป็นแรงสนับสนุนให้มีการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล โดยมุ่งหวังว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินจะมีมาตราการผ่านคลายทางการเงินเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามในช่วงกลางสัปดาห์ได้มีกรรมการนโยบายการเงินท่านหนึ่งคือคุณสมชัย จิตสุชน ที่ออกมาระบุว่าการลดอัตราดอกเบี้ยไม่ช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบัน เนื่องจากปัจจุบันสภาพคล่องยังสูง แต่ปัญหาคือการส่งผ่านสภาพคล่องให้แก่ผู้ที่ยังเข้าไม่ถึง โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก จึงจำเป็นที่จะต้องใช้นโยบายแบบเฉพาะจุดมากกว่านโยบายแบบกว้างเช่นการลดดอกเบี้ย ประกอบในช่วงท้ายของสัปดาห์ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาคงเงินนำส่ง FIDF อยู่ที่ 0.23% ไปจนถึงสิ้นที่ 2565 ทำให้ภาพของการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยในครั้งหน้า ยังดูลำบากว่าจะออกมาในรูปแบบไหน โดย ณ วันที่ 20 สิงหาคม 2564 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.46% 0.46% 0.48% 0.68% 1.01% และ 1.53% ตามลำดับ
กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยมูลค่าสุทธิประมาณ 6,024 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 126 ล้านบาท ขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 5,873 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 25 ล้านบาท