posttoday

ธปท.คาดเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกดิ่งสุด เซ่นไวรัสCOVID-19

29 กุมภาพันธ์ 2563

ธปท. แจวท่องเที่ยว ก.พ. วูบกว่า 45% เชื่อว่าสถานการณ์COVID-19 จะยืดเยื้ออีก 2-3 เดือน

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยจะดิ่งลึกสุดในไตรมาส 1/2563 ซึ่งเป็นผลมาจากการระบาดของไวรัส COVID-19 ซึ่ง ธปท.ประเมินว่าสถานการณ์จะมีผลกระทบในช่วง 2-3 เดือน โดยเฉพาะตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงเดือน ก.พ.เบื้องต้นหายไปแล้วกว่า 45% จากจำนวนนักท่องเที่ยวรวม และผลกระทบให้ภาคการส่งออกชะลอตัว จากตลาดประเทศจีนที่เป็นคู่ค้าอันดับ 1 มีสัดส่วนกว่า 11-12% จากมูลค่าการส่งออกรวม โดย ธปท.หวังว่าในช่วง มี.ค.เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวดีขึ้นจาก 2 เดือนก่อนหน้า

“ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขติดตามเฝ้าระวังอย่างเต็มที่ ในระยะ 2 เพื่อป้องกันไม่ให้มีผลในระยะ 3 มากเกินไป ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจไตรมาส 1 จะติดลบหรือเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือไม่ จะต้องรอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) พิจารณาในเดือน มี.ค. ซึ่งตอนนี้ทุกอย่างมีความเป็นไปได้ทั้งหมด ในทางพระบอกว่าเราเดินๆไปอยู่ดีๆอาจจะตายได้ จึงต้องมีสติ” นายดอนกล่าว

นายดอน กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในเดือน ม.ค.2563 อยู่ในภาวะชะลอตัวต่อเนื่อง โดย มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัว 3.5% จากระยะเดียวกันปีก่อน หากไม่รวมการส่งออกทองคำ จะขยายตัว -1.3% การลงทุนภาคเอกชนหดตัวต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อน การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัวต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อนจากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางหดตัว เพราะได้รับผลจากความล่าช้าของ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2563 สำหรับรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัว เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงจากระยะเดียวกันปีก่อน

มูลค่าการนำเข้าสินค้าทรงตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน แต่หากไม่รวมการนำเข้าทองคำ มูลค่าการนำเข้าขยายตัว 1.4% จากระยะเดียวกันปีก่อน จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศขยายตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อนที่ 2.5% อย่างไรก็ดี จำนวนนักท่องเที่ยวจีนหดตัว เนื่องจากทางการจีนประกาศให้บริษัทนำเที่ยวในจีนหยุดดำเนินกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวต่างประเทศตั้งแต่วันที่ 24 ม.ค.2563 เป็นต้นมา หลังการระบาดของไวรัส COVID-19 รุนแรงขึ้นในประเทศจีน

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1.05% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานที่กลับมาขยายตัวเป็นสำคัญ ส่วนหนึ่งจากผลของฐานราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ต่ำในปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลงเล็กน้อย ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงตามดุลการค้า ขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้ายเกินดุลสุทธิ ทั้งจากด้านสินทรัพย์ตามการถอนเงินฝากในต่างประเทศของกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) และด้านหนี้สินตามการเข้ามาลงทุนโดยตรงของนักลงทุนต่างประเทศ ส่วนใหญ่จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งการกู้ยืมสินเชื่อระยะสั้นของสถาบันการเงินที่รับฝากเงินไทยเป็นสำคัญ